การชุมนุม คปท.วันที่ 12 ยังคงเรียบร้อย “อุทัย” เผย 27 ต.ค.ยังไม่เคลื่อนจนกว่ามติเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศออกมา ส่วนวันปิยมหาราชจะนำมวลชนนักเรียน นักศึกษา และประชาชน เดินเท้าไปวางพวงมาลาถวายสักการะรัชกาลที่ 5 ยืนยันไม่มีการยึดพื้นที่ หรือบุกเข้าทำเนียบรัฐบาล ตามที่กลุ่มโซเชียลมีเดียสร้างกระแส โวย ม.รามคำแหง ปลดป้ายรณรงค์กว่า 20 จุด แต่ผู้บริหารปัดรู้เห็น
วันนี้ (21 ต.ค.) นายอุทัย ยอดมณี นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง (อศ.มร.) ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) เปิดเผยว่า แกนนำ คปท.จะนัดหารือตัวแทนนักศึกษา ตัวแทนประชาชน เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนรณรงค์ที่จะให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้กฎหมายนิรโทษกรรมให้ออกมาชุมนุมร่วมกัน ที่แยกอุรุพงศ์ให้มากที่สุดก่อนที่จะมีประชุมใหญ่กับกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศ ในวันที่ 27 ต.ค.นี้ โดยยืนยันที่จะปักหลักชุมนุมที่บริเวณแยกอุรุพงษ์จนกว่าจะมีความชัดเจนในการประชุมร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งหากมีมติให้เคลื่อนมวลชน ก็พร้อมที่จะเคลื่อนไปด้วย และในระหว่างนี้จะสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับเรื่องเขาพระวิหาร พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และจะประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชน มาร่วมชุมนุมที่แยกอุรุพงษ์ด้วย
นายอุทัย ยังกล่าวว่า ในวันที่ 23 ต.ค.นี้ คปท.จะนำมวลชนนักเรียน นักศึกษา และประชาชน เดินเท้าไปวางพวงมาลาถวายสักการะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เนื่องในวันปิยมหาราช เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และรำลึกถึงคุณูปการที่สมเด็จพระปิยมหาราชที่ทรงมีต่อประเทศชาติ รวมทั้งเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แนวร่วมของ คปท.เพื่อเคลื่อนไหวต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับล้มล้างความผิดคอร์รัปชันบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ ขอยืนยันอีกครั้งจะไม่มีการยึดพื้นที่ดังกล่าว หรือบุกเข้าทำเนียบรัฐบาล ตามที่มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มไปโพสต์สร้างกระแสในโซเซียลเน็ตเวิร์ก หากเจ้าหน้าที่ตำรวจจะวางกำลังสกัดมวลชน ไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ประกาศพระราชบัญญัติความมั่นคง 3 เขต รอบทำเนียบรัฐบาล และรัฐสภา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า กลุ่มผู้ชุมนุม คปท.ก็ไม่หวั่นใจ ยืนยันจะเดินทางไปสักการะพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 อย่างแน่นอน
มีรายงานว่า ในช่วงบ่ายที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก นายอุทัย พร้อมด้วยคณะกรรมการ อศ.มร.ได้เข้ายื่นหนังสือต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ผ่านนายสมหมาย สุรชัย รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา เพื่อขอดูบันทึกจากกล้องวงจรปิดมหาวิทยาลัยรามคำแหง กรณีป้ายคัตเอาท์ประชาสัมพันธ์ที่รณรงค์ให้นักศึกษามาร่วมชุมนุมกับกลุ่ม คปท.ที่ติดไว้โดยรอบมหาวิทยาลัยกว่า 20 จุด นั้นหายไปทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ นายอุทัย กล่าวว่า ตนได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนนักศึกษาว่ามีเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยและนักศึกษากลุ่มหนึ่ง ดำเนินการปลดป้ายออก เมื่อสอบถามก็ได้รับคำชี้แจงว่ามีเพียงนักศึกษาอ้างว่าต้องนำไปแก้ไข แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้ตนเชื่อว่ามีคนอยู่เบื้องหลังสั่งการดังกล่าว
ด้าน นายสมหมาย กล่าวว่า กรณีที่นักศึกษาออกไปใช้สิทธิทางการเมือง ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้มีการปิดกั้น ทั้งนี้เพียงแต่อย่านำชื่อมหาวิทยาลัยไปทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งตนก็พบว่า ยังไม่เกิดขึ้นแต่อย่างใด ส่วนกรณีที่มีการปลดป้ายประชาสัมพันธ์ในการเชิญชวนนักศึกษาออกไปร่วมชุมนุมนั้นตนก็ยังไม่ทราบว่าใครนะเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งในส่วนของการประชาสัมพันธ์ภายในมหาวิทยาลัยสามารถทำได้ ไม่ได้มีการห้ามแต่อย่างใด ทั้งนี้ก็เป็นสิทธิในการตัดสินใจของนักศึกษาว่าจะมีแนวคิดอย่างไร อย่างไรก็ตาม ตนจะนำหนังสือดังกล่าว เสนอต่ออธิการบดี เพื่อขอให้มีการตรวจสอบกล้องวงจรปิดภายใน 2 วันนี้ และหากพบว่ามีบุคคลในมหาวิทยาลัยเกี่ยวข้องก็จะทำการสอบสวนและลงโทษทางวินัยต่อไป
ด้านบรรยากาศการชุมนุมในช่วงเย็น ซึ่งปักหลักชุมนุมที่สี่แยกอุรุพงษ์ต่อเนื่องเป็นวันที่ 12 ยังคงมีการปราศรัยจากผู้ปราศรัย สลับกับการแสดงดนตรีเหมือนเช่นทุกวัน โดยทั่วไปยังคงเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ขณะที่ก่อนหน้านี้ น.ส.พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความ คปท.และคณะได้เดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อาคารศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อนำเอกสารและข้อมูลของเด็กนักเรียนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.นางเลิ้ง พาตัวไปทำประวัติ เนื่องจากขึ้นเวทีปราศรัย คปท.ไปมอบให้กับ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เพิ่มเติมกรณีที่คปท.ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ขอให้ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิการชุมนุมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ซึ่งมีการขัดขวางการชุมนุม