xs
xsm
sm
md
lg

“หมอนิรันดร์” กังขารัฐใช้ กม.มั่นคงเกินเลยหรือไม่-“นิติธร” ชี้นิรโทษฯ “ทักษิณ” ทำม็อบพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กสม.ลงพื้นที่ชุมนุม คปท. แยกอุรุพงษ์ ม็อบส่วนใหญ่ไม่เอารัฐบาล ร้านค้า ร้านก๋วยเตี๋ยวบอกไม่กระทบ “หมอนิรันดร์” กังขา พ.ร.บ.มั่นคงเป็นธรรมหรือเกินเลย เตรียมเรียกรัฐแจง “นิติธร” เชื่อนิรโทษฯ ทักษิณสุดซอย ประชาชนไม่พอใจรัฐจำนวนมาก ออกมาร่วมชุมนุมมากขึ้น หยันติดหนวด พ.ร.บ.มั่นคงเพราะรู้ตัวเองไร้ความชอบธรรม

วันนี้ (18 ต.ค.) นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ได้ลงพื้นที่รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ชุมนุมเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และประชาชนที่อาศัยบริเวณสี่แยกอุรุพงษ์ ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี โดย นพ.นิรันดร์ได้สอบถามวัตถุประสงค์การชุมนุมของกลุ่มมวลชน ตั้งแต่หน้าเวทีจนถึงด้านหลังพื้นที่การชุมนุม ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ระบุว่ามีความเดือดร้อน รวมถึงไม่เห็นด้วยกับการบริหารประเทศของรัฐบาล

จากนั้น นพ.นิรันดร์ ได้สอบถามผู้ประกอบการร้านค้า ที่อาศัยบริเวณแยกอุรุพงษ์ ซึ่งส่วนใหญ่ระบุว่าไม่ได้รับความเดือดร้อน เพราะถือว่าเป็นสิทธิการชุมนุมขั้นพื้นฐาน แต่ก็ไม่ทราบว่าคนภายนอกจะคิดอย่างไร โดยแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวระบุว่า ไม่กระทบ เพราะถือว่าเป็นสิทธิของทุกคน ซึ่งการค้าขายที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีผลกระทบเช่นกัน ในทางตรงข้ามกลับทำให้ยอดขายเพิ่มมากขึ้นด้วย ส่วนจะเห็นด้วยกับการชุมนุมหรือไม่นั้น ไม่สามารถตอบได้เพราะเป็นความเห็นส่วนตัวเท่านั้น

ภายหลังการลงพื้นที่ นพ.นิรันดร์เปิดเผยว่า ตนได้รับเรื่องร้องเรียนให้มาตรวจสอบว่ามีการละเมิดสิทธิการชุมนุมหลังจากรัฐได้ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงหรือไม่ ซึ่งเป็นการลงพื้นที่ตามปกติ หากมีประชาชนร้องเรียนเข้ามาว่ามีความเดือดร้อน ก็ต้องมาดูข้อเท็จจริง ซึ่งพบว่ามี 2-3 ประเด็นที่จะต้องตรวจสอบ คือ 1.รัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตย มีความจริงใจเรื่องการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมอย่างไร เพราะระบอบประชาธิปไตย ต้องปกครองด้วยกฎหมาย และปกครองตามหลักนิติธรรม

อีกทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 29 ก็ระบุว่า รัฐบาลต้องใช้อำนาจไม่เกินเลย ซึ่งบริเวณการชุมนุมที่แยกอุรุพงษ์ ก็มีประชาชนที่ต้องการมาชุมนุมเพื่อใช้สิทธิแสดงความเห็นตรงกันข้ามกับรัฐบาล โดยมีเนื้อหาเป็นเรื่องความเดือดร้อนจากสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งในระบบนี้รัฐบาลต้องรับฟังความเห็นของประชาชน และเปิดพื้นที่แม้จะมีความคิดเห็นตรงกันข้ามก็ตาม ดังนั้นกรรมการสิทธิฯ จะต้องไปตรวจสอบว่าการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง จะเป็นอำนาจเกินเลยของรัฐบาลหรือไม่

2. กรรมการสิทธิฯ มีหน้าที่ตรวจสอบ การประกาศใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ เพราะตามกฎหมายระบุว่าการประกาศใช้ต้องมีเหตุการณ์ทีชัดเจน จึงจะสามารถประกาศได้ แต่หากเป็นประเด็นเรื่องความเดือดร้อน การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ก็อาจจะละเมิดสิทธิการชุมนุม กรรมการสิทธิฯ จึงจำเป็นต้องเรียกหน่วยงานรัฐมาตรวจสอบเช่นกัน มิฉะนั้นก็จะเป็นการประกาศกฎหมายที่ยึดความมั่นคงของรัฐบาลมากกว่าความมั่นคงของประเทศ

3. ถ้ารัฐบาลมองการเมืองแห่งสี หรือการชุมนุมกรณียางพารา ก็ต้องมาดูสิทธิการชุมนุม ซึ่งรัฐบาลก็มีหน้าที่มาดูแลไม่ให้ใครมาทำร้ายหรือมาสร้างสถานการณ์ แต่การชุมนุมของ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ แกนนำองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) รัฐบาลกลับใช้กฎหมายความมั่นคงมาสกัดกั้น และละเมิดสิทธิการชุมนุมมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นกรรมการสิทธิฯ จะใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ เรียกรัฐบาลไปชี้แจง เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการใช้อำนาจในการบังคับใช้กฎหมายว่า สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลก็ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงมาหลายครั้งแล้ว

ส่วนกรณีที่มีชาวบ้านมาร้องแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวว่าได้รับผลกระทบจากการชุมนุม นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า จะต้องมีการตรวจสอบ แต่การชุมนุมของ คปท. เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ เป็นเรื่องปกติเมื่อมีการชุมนุมก็จะมีประชาชนถูกแบ่งแยกเป็นสองฝ่าย ซึ่งกรรมการสิทธิฯ ก็ต้องดูว่าเป็นการจัดตั้งมวลชนจากฝ่ายรัฐหรือไม่ ทั้งที่การชุมนุมรัฐจะต้องมาคุ้มครอง ซึ่งกรรมการสิทธิฯ จะเชิญหน่วยงานรัฐ ผู้ชุมนุม ผู้ที่ได้รับผลกระทบ เอกชน ไปชี้แจงที่สำนักงานในสัปดาห์หน้า ส่วนการดำเนินการของ กทม. ก็เป็นหน้าที่ของท้องถิ่นที่ต้องมาดูแลประชาชนอยู่แล้ว ทั้งเรื่องรถสุขา หรือเรื่องอื่น ซึ่งที่จริงรัฐบาลต้องดำเนินการเหมือน กทม. เช่นกัน ไม่ใช่มาดำเนินการด้านกฎหมายกับหน่วยงานของ กทม.

จากนั้น นายอุทัย ยอดมณี ผู้ประสานงาน คปท. ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นพ.นิรันดร์ เพื่อให้ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิการชุมนุมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ซึ่งมีการขัดขวางการชุมนุม ปิดถนน 14 เส้นรอบพื้นที่การชุมนุม ไม่ให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุม กล่าวหาใส่ร้ายผู้ชุมนุม สร้างความแตกแยกระหว่างผู้ชุมนุมกับประชาชน และสร้างสถานการณ์โดยการขว้างระเบิดเพลิง ประทัดยักษ์ และโปรยหมามุ่ยจากบนทางด่วนทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บกว่า 20 ราย โดยนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้อำนวยการดำเนินการ ซึ่งเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ละเมิดสิทธิการชุมนุมของประชาชน และให้เร่งแก้ไข และคุ้มครองสิทธิของประชาชนโดยเร่งด่วน

ต่อมาเวลา 16.45 น. นายนิติธร ล้ำเหลือ ผู้ประสานงานกลุ่ม คปท. เปิดเผยถึงกรณีที่กรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ได้แก้ไขร่างกฎหมายให้ผู้ที่ถูกกล่าวหามีความผิดจากองค์กรที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารพ้นผิด รวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ต้องหาหนีคดีอาญาแผ่นดิน ว่า กรณีนี้จะทำให้มีประชาชนออกมาร่วมชุมนุมมากขึ้น ซึ่งก็เป็นเงื่อนไขคัดค้านเดิมอยู่แล้ว

โดยกระบวนการของ คปท. จะออกมาคัดค้านเรื่องนี้ จะเป็นแถลงการณ์ หรือร้องไปยังศาลจะมีการพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งจะต้องฟังเสียงมวลชนเป็นหลัก เนื่องจากกรณีนี้เป็นการทำลายหลักการของบ้านเมืองที่จะเสียหายทั้งหมด จึงคิดว่า จะมีประชาชนไม่พอใจรัฐบาลจำนวนมาก และมาร่วมกันที่แยกอุรุพงษ์เพื่อปลดปล่อยความรู้สึกที่มีออกมา เรื่องนี้จะเป็นการจุดกระแสสังคมได้แน่นอน เพราะสังคมกำลังเฝ้าติดตามอยู่ ซึ่งหลายฝ่าย ก็มีวาระในเรื่องนี้ โดยยืนยันว่า มวลชนจะชุมนุมที่แยกอุรุพงษ์ต่อไป เพื่อพูดปัญหาของบ้านเมือง แต่ยังไม่มีการยกระดับการชุมนุม ถึงแม้ประชาชนจะต้องการก็ตาม

ส่วนกรณีที่รัฐบาลขยายประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ระหว่างวันที่ 19 ต.ค. ถึง 30 พ.ย.นี้นั้น นายนิติธร กล่าวว่า ที่รัฐบาลไม่ประกาศขยายพื้นที่การใช้กฎหมายมาถึงที่แยกอุรุพงษ์ เขตราชเทวี เพราะรู้ตัวเองว่าไม่มีความชอบธรรม ซึ่งเห็นว่า ที่จริงแล้วต้องประกาศยกเลิก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ทั้งหมดด้วยซ้ำ จึงจะท้อนความไม่มีประสิทธิภาพของฝ่ายข่าวในฝ่ายความมั่นคง แต่คิดว่าเหตุผลที่ฝ่ายการเมืองต้องประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ไว้ เพราะกลัวความจริงที่จะเผยแพร่ ที่การชุมนุมแยกอุรุพงษ์


กำลังโหลดความคิดเห็น