อีสานโพล สำรวจดัชนีความเชื่อมั่น SMEs ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบลดลงต่ำกว่ามาตรฐาน โดยเฉพาะกลุ่มเคมีภัณฑ์ ตามมาด้วยสาขาอาหารและเครื่องดื่ม เหตุต้นทุนเพิ่ม ยอดขายลด ขณะเดียวกันคนอีสานเชื่อว่าดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดยร่วมของประเทศลดลง
วันนี้ (18 ต.ต. 56) อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการผลิตของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในไตรมาสที่ 3/2556 (MSSI)” ผลสำรวจพบว่า ภาพรวมความเชื่อมั่นภาคการผลิตของเอสเอ็มอีลดลงค่อนข้างมาก โดยกลุ่มเคมีภัณฑ์เป็นสาขาที่มีการปรับตัวลดลงมากที่สุด รองลงมาคือ สาขาอาหารและเครื่องดื่ม สาขาผลิตภัณฑ์โลหะ และสาขาเครื่องเรือน
การสำรวจนี้เป็นความร่วมมือระหว่างคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่นกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SMEs สาขาการผลิต ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5 สิงหาคม - 6 กันยายน 2556 จากผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 680 ราย จากจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา และอุบลราชธานีโดยมีรายละเอียดดังนี้
สำหรับรายละเอียดผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคการผลิตของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในไตรมาสที่ 3/2556 (MSSI) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าและอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าฐาน (ดัชนีค่าฐาน เท่ากับ 50 หมายความว่า ความเชื่อมั่นคงเดิม) โดยปรับจากที่ระดับ 45.3 ลดลงมาที่ระดับ 41.6 เป็นผลมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนและยอดขายที่ปรับตัวลดลงอย่างมากเมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนหน้า จึงมีผลทำให้ผลรวมของค่าดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบันปรับตัวลดลง
หากพิจารณาเป็นรายสาขา พบว่า มี 4 สาขาที่ลดลง คือ โดยสาขาเคมีภัณฑ์เป็นสาขาที่มีการปรับตัวลดลงมากที่สุด รองลงมาคือ สาขาอาหารและเครื่องดื่ม (จำนวนผู้ประกอบการมากที่สุดในสาขานี้) สาขาผลิตภัณฑ์โลหะ และสาขาเครื่องเรือน ตามลำดับ ส่วนอีก 6 สาขาที่เหลือ พบว่า ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ทั้ง 4 สาขาที่ลดลง เป็นกลุ่มใหญ่ของธุรกิจ SMEs ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้ภาพรวมของค่าดัชนีในปัจจุบันลดลง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการผลิตไตรมาสหน้าก็ถูกคาดการณ์ว่าจะลดลงจาก 50.0 เหลือ 47.9 นั่นคือไตรมาส 4 ปีนี้ SMEs อีสานยังไม่เชื่อมั่นว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
ในส่วนของค่าดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมในปัจจุบัน พบว่า ค่าดัชนีปัจจุบันปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยปรับจากที่ระดับ 48.1 มาอยู่ที่ระดับ 47.3 ในส่วนของค่าดัชนี ความเชื่อมั่นคาดการณ์ฯ พบว่า ค่าดัชนีจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากที่ระดับ 53.0 ในไตรมาสก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 55.5 ในไตรมาสปัจจุบัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า SMEs อีสาน คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจประเทศไตรมาส 4 น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากเดิม
ผลการคำนวณเฉลี่ยทุกสาขาพบว่าปัจจัยที่มีผลกระทบต่อธุรกิจทั้งปัจจุบันและอนาคต ที่มีนัยในระดับมาก คือ ราคาน้ำมัน/ค่าขนส่ง ต้นทุนสินค้า/ค่าแรง และการแข่งขันในตลาด ตามลำดับ ปัจจัยระดับปานกลาง ประกอบด้วย ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และอำนาจซื้อของประชาชน การหดตัวของความต้องการสินค้า คุณภาพบริการของสาธารณูปโภค และสภาวะเศรษฐกิจโลก สถานการณ์ทางการเมือง และมาตรการต่างๆ จากภาครัฐบาล ตามลำดับ ขณะที่ปัจจัยที่มีผลเพียงเล็กน้อย คือ สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และอัตราแลกเปลี่ยน ตามลำดับ จากค่าคะแนนดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเน้นตลาดภายในประเทศเป็นหลัก และมีส่งออกตลาดต่างประเทศบ้างแต่มีปริมาณที่ไม่มากนัก