xs
xsm
sm
md
lg

สศช.แนะผู้ปกครองเอสเอ็มอีปรับตัวรับ 6 เทรนด์ใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สศช.
เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชี้ผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยุคใหม่ โดยสรุปแนวโน้มเทรนด์ใหม่ หลัก 6 ข้อ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี, ภูมิอากาศ, กลุ่มเศรษฐกิจใหม่ๆ, โครงสร้างประชากร, วัฒนธรรม และการเมือง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในการเสวนาเรื่อง “อุตสาหกรรมยุคใหม่ ก้าวที่ท้าทายสู่อนาคต” ว่าขณะนี้มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจของโลก 6 เทรนด์ด้วยกัน ที่ผู้ประกอบการไทยต้องสนใจเพื่อปรับตัว ได้แก่

โดยเริ่มที่ 1. การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เช่น อุตสาหกรรมผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ที่มียอดขายลดลงมาก เนื่องจากกระแสของแทบเล็ตที่ไม่ใช้ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เป็นต้น 2. การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศของโลก ทำให้เกิดมาตรการปกป้องสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ขึ้นมามาก หากผู้ผลิตไม่ได้มาตรฐานสิ่งแวดล้อม ก็จะค้าขายในตลาดโลกได้ยาก รวมทั้งยังเป็นโอกาสของธุรกิจใหม่ๆ เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เพื่อลดภาวะโลกร้อน เป็นต้น

สำหรับเรื่องที่ 3 การรวมตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคต่างๆ ก่อให้เกิดกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ๆ ทั่วโลก รวมทั้งอาเซียน หากไทยเร่งเข้าไปใช้โอกาสจากอาเซียน ก็จะสร้างความได้เปรียบมากขึ้น 4. การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร ก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและเครื่องสำอางที่มาจากธรรมชาติ 5. วัฒนธรรม โดยจะต้องนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่น มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และสร้างความโดดเด่นเหนือสินค้าอื่น และ 6. การเมือง
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
แนะ SMEs รับมือการเปลี่ยนแปลงของโลก

ด้าน นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีจุดแข็ง 4 ด้าน ที่ทำให้สามารถรับกับทุกวิกฤตได้ คือ ภาคเกษตร ท่องเที่ยว อุตสาหกรรมที่หลากหลายและการค้าบริการ แต่ก็มีประเด็นที่เป็นปัญหาต้องเร่งแก้ไขคือการขาดแคลนแรงงาน หรือฝีมือแรงงานไม่ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม ประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่ำ

กระแสการเปลี่ยนแปลงในขณะนี้ ผู้ประกอบการ SMEs เป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วง ซึ่งต้องมีการช่วยเหลือให้เกิดการรวมตัว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขัน ดึงภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุน พร้อมการปรับตัวของเอกชน โดยรัฐบาลต้องเร่งลงทุนเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยไปยังภูมิภาคต่างๆ ในประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน และต้องผลักดันให้เกิดแบรนด์ของประเทศให้ได้ จากปัจจุบันที่สินค้าไทยจำนวนมากเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศแล้ว

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น