xs
xsm
sm
md
lg

“ชวนนท์” เชื่อ รบ.ตั้งกลไกระหว่างชาติ รีบแก้ ม.190 มีธงบริหารที่ทับซ้อนร่วมเขมร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โฆษก ปชป.แปลกใจรัฐฯ ประเมินคดีพระวิหาร หลังบอกเลื่อนตัดสินปีหน้า แต่รุ่งขึ้นบอก 11 พ.ย.ปีนี้ ฉะไม่ควรรีบตั้งกลไกระหว่างประเทศก่อนมีคำพิพากษา หวั่นเร่งแก้ ม.190 ให้คำตัดสินไม่เข้ารัฐสภา ถูกปิดหูปิดตาตรวจสอบไม่ได้ เหตุแก้ไม่ทันรัฐยอมรับเรื่องไม่เป็นคุณต่อชาติมิได้ เชื่อมีธงบริหารพื้นที่ร่วมเขมร จับตาขัด ม.68 หรือไม่-ปชป.พร้อมดูแลหญิงถูกคุกคาม เหตุชูป้ายประท้วงนายกฯ

วันนี้ (17 ต.ค.) นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการตัดสินของศาลโลกที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 พ.ย. 56 กรณีพิพาทปราสาทพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงการต่างประเทศออกมาบอกว่าจะเลื่อนไปเป็นต้นปีหน้า แต่หลังจากนั้นเพียงวันเดียวก็มีกำหนดวันตัดสินคดีเร็วขึ้นมาเป็นวันที่ 11 พ.ย. 56 ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเกี่ยวกับการประเมินสถานการณ์และการเตรียมการรองรับของรัฐบาลชุดนี้ ทั้งนี้ แนวทางที่จะออกมา คือ 1. จำหน่ายคดีออกไป โดยเห็นว่าไม่มีอำนาจหรือรับไว้พิจารณาคดีแต่ไม่ขอตัดสิน 2. รับรองแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ตามคำร้องของกัมพูชา 3. ศาลพิพากษาตามคำร้องของประเทศไทยให้พื้นที่ล้อมรั้วปราสาทพระวิหารตามมติ ครม.เป็นอาณาบริเวณ 4. ศาลกำหนดพื้นที่ขึ้นมาใหม่

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า กรณีที่ 2 กับ 4 ไทยต้องพิจารณาให้ดีเพราะเราเสียดินแดน เนื่องจากจะมีการยึดถือแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ในการจัดทำหลักเขตอย่างแน่นอน โดยจะได้คืบเอาศอก ตนเห็นว่ารัฐบาลต้องให้ความตระหนักกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าการที่นายกฯ จะตั้งคณะทำงานในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ ขณะที่คำพิพากษาจะเกิดขึ้นในเดือนหน้า ทั้งๆ ที่มีคณะกรรมการอยู่แล้ว รัฐบาลจึงไม่ควรใช้วิธีตั้งกรรมการใหม่เพื่อแสดงว่าทำงานรองรับคำพิพากษาของศาลโลก ทำไมต้องเร่งรีบ ถ้าคำพิพากษาไม่เป็นคุณแต่ไปตั้งกลไกร่วมกับกัมพูชาจนไม่มีความยืดหยุ่นในการทำงาน ถ้าคำพิพากษาให้ไทยถอนทหารและให้พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร เป็นของกัมพูชา รัฐบาลไทยจะยอมรับเลยหรือไม่ จึงอยากเรียกร้องว่าไม่ควรตั้งกลไกระหว่างสองประเทศก่อนที่คำพิพากษาจะออกมา จะกลายเป็นการหลวมตัวผูกมัดตัวเองกับเงื่อนไขที่ไม่จำเป็น

นอกจากนี้ ตนยังเป็นห่วงด้วยว่าจะมีการเร่งรัดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ออกมามีผลบังคับใช้ก่อนที่จะมีคำพิพากษา เพื่อที่จะได้ไม่ต้องนำคำพิพากษาที่อาจกระทบต่อดินแดนของไทยเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาแต่ยกให้เป็นอำนาจของฝ่ายบริหารเพียงฝ่ายเดียว โดยตัวแทนประชาชนและประชาชนไม่มีสิทธิตรวจสอบ ซึ่งในกรณีนี้อันตรายมาก จะทำให้รัฐสภาและประชาชนไม่มีทางรับทราบเลยว่า รัฐบาลจะจะใช้หลักสันปันน้ำหรือแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ในการจัดทำหลักเขตแดนเพราะถูกรัฐบาลปิดหูปิดตาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ไปแล้ว ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหาย

“ผมคิดว่าการตั้งกรรมการร่วมระหว่างสองประเทศในขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนในคำพิพากษาก็ไม่มีประโยชน์อะไร จึงควรตัดสินภายในประเทศก่อน เพราะถ้าไม่เป็นคุณกับประเทศไทยก็จะเสียเปรียบ แต่คงไม่ขัดมาตรา 190 เพราะกระทรวงการต่างประเทศคงอ้างว่าเป็นแค่กลไกการเจรจา แต่ผมเห็นว่ารัฐบาลอาจมีธงบริหารพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรร่วมกับกัมพูชา ทั้งๆ ที่ยังไม่มีคำพิพากษาว่าจะกระทบต่อดินแดนไทยหรือไม่ แต่กลับทำให้ประเทศไปอยู่ในกลไกร่วมระหว่างสองประเทศเพื่อผลักดันให้ไทยต้องตกอยู่ในผลลัพธ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่รัฐบาลต้องการอยู่แล้วใช่หรือไม่” นายชวนนท์กล่าว

นายชวนนท์กล่าวด้วยว่า หากคำพิพากษามีผลกระทบต่อดินแดนไทย และรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ฉบับปัจจุบันยังมีผลบังคับใช้อยู่รัฐบาลต้องนำกลับมาให้รัฐสภาพิจารณา จะใช้อำนาจฝ่ายบริหารประกาศยอมรับคำพิพากษาที่ไม่เป็นคุณต่อประเทศไม่ได้ แต่ตนเกรงว่าจะมีการเร่งรัดให้มาตรา 190 ใหม่ออกมามีผลบังคับใช้ก่อนเพื่อรองรับธงที่ตัวเองตั้งไว้แล้ว ว่าต้องการปิดช่องทางกฎหมายฉบับใดบ้าง โดยเฉพาะเรื่องเขตแดน และทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ทั้งนี้ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์กำลังพิจารณาว่าเข้าข่ายปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจรัฐหรือทำให้กระทบต่อการถ่วงดุลอำนาจตามระบอบประชาธิปไตยก็ต้องมีการนำเรื่องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความตามมาตรา 68

นายชวนนท์กล่าวด้วยว่า มีคนร้องเรียนว่ามีการคุกคามประชาชนที่ถือป้ายประท้วง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่อุรุพงษ์จนต้องออกจากงาน ซึ่งเธอยืนยันว่าไม่กลัวแต่เต็มใจออกจากงานเองและไม่อยากให้องค์กรต้องมารับผิดชอบต่อการแสดงออกของเธอ อย่างไรก็ตามยังมีการกดดันเธออย่างหนัก จึงแนะนำให้ดำเนินคดีกับผู้ที่ละเมิดสิทธิ ตำรวจต้องดูแลความปลอดภัยและสิทธิผู้ชุมนุมตามที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครอง ขอให้ปฏิบัติกับประชาชนอย่างเท่าเทียม ประชาธิปัตย์จะให้ฝ่ายกฎหมายช่วยดูแลให้



กำลังโหลดความคิดเห็น