“ส.ว.คำนูณ” แฉร่างแก้ไขฯ ม.190 ฉบับกรรมาธิการฯ มุ่งล้มคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณี “นพดล” เซ็นแถลงการณ์เขมร ส่อเปิดทางรัฐทำสัญญาเรื่องดินแดนหลังคำตัดสินศาลโลกโดยไม่ต้องผ่านสภา ขณะเดียวกันยังฉกชิงเอาหนังสือสัญญาสำคัญ 2 ประเภทไปจากการตรวจสอบของประชาชน
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้โพสต์ข้อความในเพซบุ๊ก “คำนูณ สิทธิสมาน” เกี่ยวกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ฉบับของคณะกรรมาธิการฯ ที่เข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 ของที่ประชุมรัฐสภาในวันนี้ (15 ต.ค.) ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้เหลือหนังสือสัญญาทางเศรษฐกิจ-สังคมที่จะตัองนำเข้ามาขออนุมัติจากรัฐสภาเพียงประเภทเดียวคือ 'หนังสือสัญญาที่มีบทเปิดเสรีด้านการค้าการลงทุน' หรือ FTA เท่านั้น แม้จะดีกว่าร่างฯ แรกที่หนังสือสัญญาทางเศรษฐกิจหลุดออกไปหมด แต่ก็ยังไม่ดีพอ
“เพราะที่หลุดไปไม่ต้องเอาเข้ารัฐสภาอีก 2 ประเภท คือ 1. หนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง และ 2. หนังสือสัญญาที่มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
“ถ้าผ่านไปตามร่างฯ กรรมาธิการ ซึ่งก็ผ่านแน่ ผลที่จะเกิดคือ สัญญากู้เงินกับต่างประเทศไม่ต้องผ่านสภา สัญญาตกลงแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ อาทิ รถไฟแลกข้าว ก็ไม่ต้องผ่านสภา เมื่อไม่ตัองผ่านสภา ประชาชนก็ไม่มีโอกาสรับรู้ ไม่มีโอกาสแสดงความเห็น และไม่มีบทคุ้มครองให้ได้รับการเยียวยากรณีได้รับผลกระทบ” นายคำนูณระบุ
นายคำนูณโพสต์ข้อความอีกว่า ร่างฯ แก้ไขมาตรา 190 ฉกชิงหนังสือสัญญาทางเศรษฐกิจและสังคม 2 ประเภท คือ หนังสือสัญญาฯ ที่มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง และ หนังสือสัญญาฯ ที่มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ออกจากการรับรู้ของรัฐสภาและประชาชน แม้จะมีเพียง 4 มาตรา แต่ก็มีเนื้อหากว้างใหญ่ไพศาลมาก โดยเฉพาะหัวใจ คือมาตรา 3 ที่มีผู้สงวนความเห็นและสงวนคำแปรญัตติมากกว่า 100 คน แต่วิปรัฐบาลกลับบอกว่าคาดว่าจะเสร็จวาระ 2 ภายใน 1 วัน
ต่อมา เวลา 13.54 น.วันนี้ นายคำนูณโพสต์ข้อความอีกว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190 ฉบับกรรมาธิการฯ ที่กำลังเริ่มพิจารณาถ่ายทอดสดช่อง 11 ขณะนี้ ไม่ใช่แค่ฉกชิงหนังสือสัญญาทางเศรษฐกิจและสังคม 2 ประเภทออกไปจากการพิจารณาเท่านั้น
แต่มีประเด็นใหญ่พอๆ กัน หรือใหญ่กว่า คือแม้กรรมาธิการฯ จะกู้คืนหนังสือสัญญาประเภทที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ร่างฯ แรกตัดออกไป กลับคืนมาได้ แต่กรรมาธิการฯ เติมคำต่อท้ายเข้าไป 3 คำ คือคำว่า “โดยชัดแจ้ง"
“พอเติม 3 คำ 'โดยชัดแจ้ง' ต่อท้ายหนังสือสัญญาประเภทดังกล่าวเข้าไปจะมีผลเป็นการล้มล้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 6-7/2551 วันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยกรณีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชายุคนายสมัคร สุนทรเวชและนายนพดล ปัทมะ ครั้งนั้นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าหนังสือสัญญาประเภทนี้ ไม่ใช่แค่ต้องแปลความตามตัวอักษรเท่านั้น คือแปลความเพียงว่ามี 'บทเปลี่ยนแปลง...' จริงๆ จะไม่เกิดผลตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญที่จะมุ่งควบคุมการทำหนังสือสัญญาก่อนที่ฝ่ายบริหารจะไปลงนามให้มีผลผูกพันประเทศ ซึ่งจะเกิดปัญหาตามมาภายหลังได้ จึงต้องแปลความว่าหากหนังสือสัญญานั้น '...อาจมีผลเปลี่ยนแปลง' เน้นคำว่า '...อาจ' ครับ”
การเติมคำว่า 'โดยชัดแจ้ง' เข้าไปตอนท้ายมีผลลบล้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 6-7/2551 ที่วินิจฉัยว่าต้องแปลว่า '...อาจ' ที่มีผลผูกพันทุกองค์กรไปทันที และทำให้ย่ำแย่กว่ามาตรา 190 เดิมไปอีกร้อยเท่าพันทวี เป็นต้นว่าถ้าศาล ICJ พิพากษาปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชาอย่างใดอย่างหนึ่งหลังมกราคม 2557 แล้วมีผลให้รัฐบาลต้องไปทำหนังสือสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งกับกัมพูชา ก็ทำได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านรัฐสภา ไม่ต้องทำประชาพิจารณ์ ไม่ต้องเสนอกรอบล่วงหน้า ไม่ตัองเยียวยา ฯลฯ
“เพราะถือว่าไม่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตฯ 'โดยชัดแจ้ง' ไง ถ้าไม่มีการแก้ไข ยังไงก็ต้องเอาเข้ารัฐสภา เพราะต้องแปลตามแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 6-7/2551 ว่า 'อาจ' เปลี่ยนแปลงอาณาเขตหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตฯ ทำไปทำมาแก้มาตรา 190 ครั้งนี้ก็ยัง 'อาจ' เกี่ยวเนื่องกับประเด็นไทย-กัมพูชาอยู่ดี” นายคำนูณระบุ