คณะกรรมการจัดงานรำลึกและเชิดชูเกียรติ " วัน14 ตุลา ประชาธิปไตย" จัดประชุมสภาพลเมือง “คณิต” แนะควรใช้กระบวนการยุติธรรมในเชิงสมานฉันท์ มากกว่าประหัตประหารกัน อ้างประสบปัญหาคนล้นคุก อีกทั้งศาลชั้นต้นเพิ่มความละเอียดในการหาความจริง
วันนี้ (13 ต.ค.) ที่รัฐสภา คณะกรรมการจัดงานรำลึกและเชิดชูเกียรติ " วัน14 ตุลา ประชาธิปไตย" รัฐสภา จัดโครงการจัดงานรำลึกและเชิดชูเกียรติ ครบรอบ 40 ปี 14 ตุลา ประชาธิปไตย ขึ้น ซึ่งจัดให้มีการประชุมสภาพลเมืองขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการรำลึกถึง เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ที่ปูพื้นฐานระบอบประชาธิปไตยไว้ให้คนรุ่นหลัง โดยมีกลุ่มนักเรียน นักศึกษา จากมหาวิทยาลัยต่างๆ 15 สถาบัน กลุ่มอาจารย์ นักวิชาการ ด้านต่างๆ กลุ่มผู้ประกอบการจากสหภาพแรงงาน กลุ่มเกษตรกร ร่วมถึงประชาชน อาสาสมัครและผู้นำจากสภาองค์กรชุมชน เข้าร่วมประชุม และนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม
ทั้งนี้ก่อนเข้าสู่การประชุม นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อ่านบทกวี 3 บท และมีนายรังสิต จงฌาณสิทโธ บรรเลงซอจีนเอ้อร์หู โดยบทที่ 1 ชื่อว่า เพียงความเคลื่อนไหว บทที่ 2 ชื่อ 40 ปี 14 ตุลา และบทที่ 3 ชื่อว่า การเมือง โดยเนื้อหาหลักเป็นการย้ำจุดยืนของ 14 ตุลา และเห็นว่าการเมือง ไทยไม่ใช้ธุรกิจ แต่เป็นภาระของทุกคน
จากนั้น เข้าสู่การประชุม โดยอาจารย์ คณิต ณ นคร กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ การปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย ว่าปัญหาในกระบวนการยุติธรรมไทยสามารถแบ่งได้สามด้านใหญ่ๆคือ 1 กฎหมาย นักกฏหมาย และการเรียนการสอนกฎหมาย 2 พฤติกรรมคนในกระบวนการยุติธรรม ที่รักสบาย กลัวอำนาจรัฐ และ ประจบประแจง และ 3 กระบวนการยุติธรรมไทย ไร้ประสิทธิภาพ คุกคามสิทธิ และใช้งบประมาณมากเกินไป ซึ่งแท้จริงแล้วกฏหมายที่ดี ต้องเสริมสร้างการพัฒนาประเทศให้ครบทุกด้าน ทั้ง สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และเห็นว่าไทยควรใช้กระบวนการยุติธรรมในเชิงสมานฉันท์ มากกว่าใช้กฎหมายในการประหัตประหารกัน เพราะขณะนี้ไทยกำลังมีปัญหาคนล้นคุก
นอกจากนี้กระบวนการยุติธรรมมีการตรวจสอบความจริงในชั้นเจ้าพนักงานและการพิสูจน์ความจริงในชั้นศาล ซึ่งในชั้นเจ้าพนักงานขาดความเป็นเอกภาพขาดความละเอียด และเห็นว่าภาระกิจของศาลจะต้องเปลี่ยนแปลง ไปในทางคุ้มครองสิทธิของประชาชน โดยให้ศาลชั้นต้นเพิ่มความละเอียดในการหาความจริง และให้ศาลสูงสุดของประเทศเป็นศาลที่ทำหน้าที่ทบทวนข้อกฎหมายเท่านั้น