ราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความเห็น ปชช.เหตุ 14 ตุลา ส่วนใหญ่รู้เรื่องราว ระบุเป็นประวัติศาสตร์สำคัญ กว่าครึ่งสนใจอยู่บ้างกับเหตุที่เกิดขึ้น เพราะม็อบอ้างบ่อย มองว่าเป็นเหตุรุนแรง ไม่คิดว่าจะเกิดในไทย ชี้บทเรียนอันดับ 1 คือ ปชต.ต้องใช้เวลา รองมาระบุความรุนแรงตามมาด้วยความสูญเสีย
วันนี้ (13 ต.ค.) “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สอบถามความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง 14 ตุลา “วันมหาวิปโยค” ซึ่งเป็นวันที่คนไทยทุกคนต้องรำลึกถึงประวัติศาสตร์การเมืองครั้งสำคัญ เป็นวันที่บ้านเมืองต้องประสบกับความขัดแย้งครั้งยิ่งใหญ่ และถูกนำมาใช้เป็นบทเรียนให้กับการเมือง เนื่องจากปัจจุบันมีการทะเลาะเบาะแว้ง เกิดความขัดแย้งแตกแยกอย่างมาก เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์และสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน โดยผลสำรวจจำนวนทั้งสิ้น 1,408 คน ระหว่างวันที่ 8-12 ตุลาคม 2556 สรุปผลดังนี้
ต่อคำถามว่าการรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลา “วันมหาวิปโยค” ของประชาชน อันดับ 1 ส่วนใหญ่จะรู้เรื่อง ร้อยละ 82.72 เพราะเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตย และคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ลืม เป็นเหตุการณ์ที่ถูกนำมาเป็นบทเรียนและพูดถึงต่อๆ กันมา สนใจศึกษาและติดตามข้อมูลมาตลอด ฯลฯ อันดับ 2 ไม่ค่อยรู้เรื่อง ร้อยละ 17.28 เพราะไม่ค่อยสนใจเรื่องการเมือง รู้สึกสับสนกับเหตุการณ์ที่ได้ยินมา ข้อมูลไม่ชัดเจน เกิดไม่ทัน ฯลฯ
ส่วนคำถามว่าประชาชนสนใจ เหตุการณ์ 14 ตุลา “วันมหาวิปโยค” มากน้อยเพียงใด? อันดับ 1 สนใจอยู่บ้าง ร้อยละ 51.82 เพราะถูกนำมาเปรียบเทียบและอ้างถึงอยู่เสมอ เมื่อมีการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง อยากรู้ข้อเท็จจริง ฯลฯ อันดับ 2 สนใจมาก ร้อยละ 22.73 เพราะเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่มีประชาชนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย และบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ฯลฯ อันดับ 3 ไม่ค่อยสนใจ ร้อยละ 21.36 เพราะรู้สึกหดหู่และสะเทือนใจเมื่อเห็นคนไทยต้องมาทำร้ายกันเอง ไม่อยากรื้อฟื้นเรื่องเก่า ฯลฯ และอันดับ 4 ไม่สนใจ ร้อยละ 4.09 เพราะไม่ชอบเหตุการณ์แบบนี้ ไม่อยากรับรู้ รับฟัง ฯลฯ
ด้านความคิดเห็นของประชาชน กรณี เหตุการณ์ 14 ตุลา “วันมหาวิปโยค” อันดับ 1 ร้อยละ 50.64 ระบุว่าเป็นเหตุการณ์รุนแรงที่สร้างความเศร้าสะเทือนใจ ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทย อันดับ 2 ร้อยละ 29.87 ระบุว่าเป็นแบบอย่างของการเคลื่อนไหวที่มีนักศึกษาและประชาชนออกมาเรียกร้องความถูกต้อง ยุติธรรม อันดับ 3 ร้อยละ 11.69 ระบุว่าเป็นเรื่องของการใช้อำนาจเผด็จการที่สร้างความรุนแรง บาดเจ็บล้มตาย และอันดับ 4 ร้อยละ 7.80 ระบุว่าไม่อยากเห็นบ้านเมืองเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ควรใช้การพูดคุยรับฟังความเห็นกันและกัน
ขณะที่บทเรียนจากเหตุการณ์ 14 ตุลา “วันมหาวิปโยค” น่าจะนำมาใช้ในสถานการณ์การเมืองไทย ได้อย่างไร? อันดับ 1 ร้อยละ 35.54 มองว่าประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยเวลา ความร่วมมือและความเข้าใจกันของทุกฝ่าย อันดับ 2 ร้อยละ 28.10 มองว่าความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งความสูญเสีย ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น อันดับ 3 ร้อยละ 20.25 มองว่าผู้มีอำนาจต้องยึดหลักความถูกต้องยุติธรรมเป็นสิ่งสำคัญ ใช้อำนาจหน้าที่ที่เหมาะสม และอันดับ 4 ร้อยละ 16.11 มองว่าการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ และจะต้องจริงใจ มีสติ มีเหตุผล