xs
xsm
sm
md
lg

ดุสิตโพลชี้พฤติกรรมผู้ทรงเกียรติมีผลเลือกตั้ง แนะใช้กิริยาให้เหมาะ จ้อเน้นเนื้อหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โพลสวนดุสิตสำรวจความเห็น ปชช.ถึงพฤติกรรมผู้ทรงเกียรติ ส่วนใหญ่รังเกียจพฤติกรรมไม่เหมาะ ขว้างสิ่งของ หยาบคาย อยากเห็นอภิปรายเน้นเนื้อหา ไม่พาดพิง ฝากเรื่องใช้คำพูด พฤติกรรมที่เหมาะในสภา เกือบทั้งหมดมองพฤติกรรมมีผลต่อการเลือกตั้ง

วันนี้ (15 ก.ย.) “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สอบถามความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ ในเรื่อง พฤติกรรมของนักการเมือง (ส.ส./ส.ว.) ในสภา ณ วันนี้ ซึ่งจากพฤติกรรมของนักการเมืองปัจจุบันโดยเฉพาะในสภา ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกท่าทาง การใช้คำพูดหรือการแสดงออกต่างๆล้วนมีผลต่อความรู้สึกของประชาชนซึ่งอาจมีทั้งคนที่ประทับใจ ชื่นชอบ หรือรังเกียจและไม่ชอบ และหากมีการเลือกตั้งในครั้งต่อไปอาจมีผลต่อการตัดสินใจของประชาชน โดยจากผลสำรวจจำนวนทั้งสิ้น 1,304 คน ระหว่างวันที่ 10-14 กันยายน 2556 สรุปผลดังนี้

เมื่อถามว่าพฤติกรรมในสภาของ ส.ส./ส.ว.ที่ประชาชนรังเกียจ และไม่ชอบ อันดับ 1 ร้อยละ 43.47 ระบุว่าการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ขว้างปาสิ่งของ ใช้คำพูดที่ไม่สุภาพ หยาบคาย  อันดับ 2 ร้อยละ 21.85 ระบุว่าไม่เคารพหรือเชื่อฟังประธานในที่ประชุม การโต้เถียงกับประธาน อันดับ 3 ร้อยละ 13.18 ระบุว่าการไม่ให้เกียรติผู้ที่กำลังอภิปราย เช่น นั่งหลับ เล่นโทรศัพท์ คุยกับคนอื่น อันดับ 4 ร้อยละ 11.37 ระบุว่าการประท้วงโดยไม่มีเหตุผล เดินออกจากที่ประชุม และอันดับ 5 ร้อยละ 10.13 ระบุว่าไม่มาเข้าร่วมอภิปรายตามวัน เวลาที่กำหนด  อยู่ไม่ครบวาระการประชุม

ส่วนคำถามว่าพฤติกรรมในสภาของ ส.ส./ส.ว.ที่ประชาชนอยากเห็น อันดับ 1 ร้อยละ 36.24 ระบุว่าอภิปรายน่าสนใจ เน้นเนื้อหาสาระ ใช้ถ้อยคำสุภาพ ไม่พูดนอกเรื่องหรือพาดพิงผู้อื่น อันดับ 2 ร้อยละ 25.45 ระบุว่าให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามกฎระเบียบของสภาอย่างเคร่งครัด อันดับ 3 ร้อยละ 18.26 ระบุว่าการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง คำนึงถึงส่วนรวม อันดับ 4 ร้อยละ 10.93 ระบุว่าให้เกียรติสถานที่และให้ความเคารพต่อประธานสภา และอันดับ 5 ร้อยละ 9.12 ระบุว่าตรงต่อเวลา ควบคุมเวลาในการอภิปรายได้ดี

ขณะที่คำถามว่าสิ่งที่ประชาชนอยากฝากเกี่ยวกับพฤติกรรมของ ส.ส./ส.ว.ในสภา ณ วันนี้  อันดับ 1 ร้อยละ 26.93 ระบุว่าเรื่องการใช้ถ้อยคำ คำพูด การแสดงกริยาท่าทาง พฤติกรรมต่างๆ ในที่ประชุมที่เหมาะสม อันดับ 2 ร้อยละ 24.99 ระบุว่าเห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวม เป็นกลาง ไม่เข้าข้างพวกพ้อง อันดับ 3 ร้อยละ 23.66 ระบุว่าการให้ความเคารพต่อประธานสภาและให้เกียรติต่อผู้เข้าร่วมประชุม อันดับ 4 ร้อยละ 12.87 ระบุว่าการอภิปรายหรือแสดงความเห็นด้วยเหตุผล ตรงไปตรงมา เน้นเนื้อหาสาระ และอันดับ 5 ร้อยละ 11.55 ระบุว่าการตรงต่อเวลา ควบคุมเวลาในการอภิปราย

ทั้งนี้ต่อคำถามว่าพฤติกรรมของ ส.ส./ส.ว.ในสภามีผลต่อการตัดสินใจที่จะเลือก ส.ส./ส.ว. ในครั้งต่อไปที่จะมีการ เลือกตั้งใหม่หรือไม่ คิดว่ามีผล ร้อยละ 88.71 เพราะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน มั่นใจว่าเลือกคนไม่ผิด อยากได้คนดีมีคุณภาพมาทำงาน ฯลฯ ส่วนที่คิดว่าไม่มีผล ร้อยละ 11.29 เพราะ  ส.ส. ส.ว.ก็เป็นปุถุชนคนหนึ่งที่มีอารมณ์โกรธเกลียดเหมือนกัน ดูผลงาน การทำงานมากกว่า ฯลฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น