ดุสิตโพลสำรวจความเห็นประชาชน เกมการเมือง 10 แบบที่คนไทยรับไม่ได้ 88% การทะเลาะกันของ ส.ส.ในสภาฯ 66% นำม็อบเคลื่อนไหวชุมนุม ประท้วง 62% ดันทุรัง หวังเอาชนะ เพื่อเอื้อประโยชน์ของฝ่ายตนเองโดยไม่สนใจประชาชน 58% ใส่ร้ายป้ายสี
ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งทางการเมืองที่ร้อนแรงทั้งในสภา และนอกสภา ณ วันนี้ ที่มีทั้งความขัดแย้ง ความรุนแรง การไม่ยอมกัน เอาแพ้เอาชนะแบบเอาเป็นเอาตาย โดยเฉพาะระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สอบถามความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ ในหัวข้อเกมการเมือง 10 แบบที่คนไทยรับไม่ได้ จำนวนทั้งสิ้น 1,288 คน ระหว่างวันที่ 10-13 กันยายนที่ผ่านมา
ผลสำรวจพบว่า 88.89% การทะเลาะเบาะแว้งกันในสภา เพราะ สภาเป็นสถานที่อันทรงเกียรติที่ทุกคนควรเคารพ รู้สึกเอือมระอาและหมดศรัทธาในตัวนักการเมือง ฯลฯ 66.98% การนำกำลังมวลชนมาใช้ในการเคลื่อนไหว ชุมนุม ประท้วง เพราะประชาชนที่มาเข้าร่วมเป็นผู้บริสุทธิ์ที่อาจได้รับความเดือดร้อน แต่ถูกนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ฯลฯ
62.64% การมุ่งหวังเอาชนะเพียงอย่างเดียว ดันทุรัง แข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตายเพราะ เป็นการทำเพื่อเอื้อประโยชน์ของฝ่ายตนเองโดยไม่สนใจประชาชน การเมืองปัจจุบันมีความรุนแรงมากขึ้นฯลฯ 58.67% การใส่ร้ายป้ายสี สาดโคลนเข้าหากัน เพราะเป็นการกระทำที่สกปรก ไม่มีเกียรติและศักดิ์ศรี มุ่งหวังแต่การเอาชนะเพียงอย่างเดียว ฯลฯ
55.4% เล่นพรรคเล่นพวก แทรกแซงการทำงาน เพราะเป็นพฤติกรรมของนักการเมืองที่มีมานาน แก้ไขยาก ทำให้บ้านเมืองไม่พัฒนา ฯลฯ 53.83% การทุจริต โกงการเลือกตั้ง เพราะเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัวมุ่งหวังแต่อำนาจและผลประโยชน์ เสียงบประมาณจำนวนมาก ฯลฯ
48.37% นำเรื่องงบประมาณต่างๆมาโยงกับการทุจริตคอร์รัปชัน เพราะเงินต่างๆ ที่นำมาใช้ส่วนหนึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนและอีกส่วนหนึ่งเป็นเงินกู้ที่ทุกคนต้องเป็นหนี้ ฯลฯ 45.89% การกุข่าว ปล่อยข่าวเพื่อสร้างกระแส เพราะทำให้สังคมวุ่นวาย ประชาชนสับสน อาศัยช่องทางจากสื่อต่างๆ อย่างไม่สร้างสรรค์ ฯลฯ
43.41% ใช้เรื่องความสามัคคีปรองดองมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประเทศชาติและคนไทยทุกคน อารมณ์ ความรู้สึกเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ฯลฯ 41.34% อยู่เฉยๆ ไม่ให้ความร่วมมือ ใส่เกียร์ว่าง เพราะทำให้การทำงานหยุดชะงัก บ้านเมืองไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้เพราะขาดกำลังคน ฯลฯ