สภาฯ มติเอกฉันท์เห็นชอบ กม.ตรวจเงินแผ่นดิน เปิดทางตั้ง 7 อรหันต์ปราบทุจริต เตรียมส่งวุฒิสภาพิจารณาต่อไป ฝ่ายค้านติง กมธ.แก้ไขคุณสมบัติ เปิดช่องให้ผู้ที่พ้นโทษ 5 ปีร่วมเป็น คตง.ด้าน กมธ.อ้างเป็นการเปิดกว้างให้โอกาสทำงานรับใช้สังคม
วันนี้ (9 ต.ค.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน หลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแล้วเสร็จ โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) จำนวน 7 คน แบ่งเป็น 1.ผู้ที่มีความชำนาญและประสบการณ์ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน จำนวน 2 คน 2.ผู้ที่มีความชำนาญและประสบการณ์ด้านบัญชี การตรวจสอบภายในและการเงินคลัง ด้านละ 1 คน รวม 3 คน 3.ผู้ที่มีความชำนาญและประสบการณ์ด้านนิติศาสตร์จำนวน 1 คน และ 4.เป็นผู้ที่มีความชำนาญและประสบการณ์ด้านเศรษฐศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือด้านอื่นที่เป็นประโยชน์แก่งานการตรวจเงินแผ่นดิน 1 คน
ขณะเดียวกัน บัญญัติให้ผู้ที่เข้ารับการเป็นคณะกรรมการจะต้องมีคุณสมบัติเพิ่มเติมอย่างหนึ่งอย่างใดใน 5 ข้อ ได้แก่ 1.เคยเป็นข้าราชการไม่ต่ำกว่าระดับ 10 หรือเทียบเท่า 2.เคยเป็นข้าราชการดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง หรือ ประเภทวิชาการ ระดับผู้ทรงคุณวุฒิ หรือเทียบเท่า 3.เคยเป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาและดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์มาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี 4.เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยผู้สอบบัญชีหรือวิชาชีพบัญชี และ 5.เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับประธานกรรมการ กรรมการ กรรมการผู้จัดการ หรือตำแหน่งเทียบเท่าที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ โดยต้องดำรงตำแหน่งรวมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีผู้ว่าการตรวจแผ่นดินโดยผ่านกระบวนการสรรหาเช่นเดียวกับคณะกรรมการฯ กล่าวคือ ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งคณะกรรมการฯจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาจำนวน 7 คน ได้แก่ ประธานศาลฎีกา, ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, ประธานศาลปกครอง, ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ผู้นำฝ่ายค้านฯ, บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจำนวน 1 คน และบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกจำนวน 1 คน ซึ่งจะต้องทำหน้าที่สรรหาให้เสร็จภายใน 30 วันและส่งให้วุฒิสภามีมติให้ความเห็นชอบต่อไป
ทั้งนี้ได้มีสมาชิกฝ่ายค้านได้อภิปรายท้วงติงในบางประเด็น โดยเฉพาะเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกเป็นคณะกรรมการฯ ที่มีการแก้ไขจนอาจนำไปสู่ความเสียหายได้ในอนาคต เช่น เคยเป็นข้าราชการ ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำว่าระดับ 10 หรือเทียบเท่า ซึ่งการใช้จ่ายเงินของรัฐในปัจจุบันมีวิธีการที่แปลกไปมากขึ้นทุกที ดังนั้นสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ต้องเข้าไปมีบทบาท กำหนดมาตรฐานการบริหารงบประมาณ ชี้ขาดสูงสุดในกระบวนการวินัยการเงินการคลัง คัดเลือกผู้ว่าการ แต่งตั้งคณะกรรมการด้านวินัย พิจารณาคำร้องขอจาก ส.ส. ส.ว. และ ครม.ที่ขอให้ตรวจสอบบางเรื่อง แก้ระเบียบข้อบังคับตามอำนาจหน้าที่ เสนอข้อสังเกตต่างๆ ฉะนั้นคนที่จะมาเป็นคณะกรรมการทั้ง 7 คน จึงมีความสำคัญ แต่กลับมีการแก้ไขคุณสมบัติผู้ที่จะมาเป็นกรรมการใหม่ โดยกำหนดเปิดช่องให้ข้าราชการลาออกมาเพื่อมาเป็นคณะกรรมการฯ ได้ ขณะที่เจตนาเดิมต้องการเอาคนในหน่วยงานมาทำ เพราะรู้เห็นปัญหาต่างๆ มากที่สุด รวมถึงไม่ควรเปิดช่องให้ผู้ที่พ้นโทษ 5 ปีมาเป็นคณะกรรมการได้
ด้านตัวแทนกรรมาธิการวิสามัญฯ ชี้แจงว่า การกำหนดคุณสมบัติดังกล่าวเพื่อให้เปิดกว้าง และควรเปิดโอกาสให้กับผู้ที่เคยได้รับโทษจำคุกได้กลับเข้ามาทำงานรับใช้สังคม นอกจากนี้กระบวนการคัดเลือกยังมีคณะกรรมการสรรหาที่ประกอบไปด้วยบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิ ดังนั้นเชื่อว่าจะสามารถคัดสรรบุคคลที่เหมาะสมให้มาดำรงตำแหน่งนี้ได้อย่างมีคุณภาพที่สุด อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์ 382 เสียงเห็นชอบกับในวาระ 2 และ 3
อนึ่ง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินภายใน 120 วัน หลังจากมีการประกาศใช้ โดยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้มีการเสนอร่างดังกล่าวเข้าสู่สภา และได้ผ่านรับหลักการวาระ 1 ไป แต่เมื่อมีการเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย กลับมีการค้างเรื่องไว้ในวาระการประชุมเป็น ส่งผลให้เกิดปัญหาการไร้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หลังจากที่คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ได้พ้นวาระตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ทำให้ไม่สามารถแต่งตั้งผู้ว่าการคนใหม่มาทำหน้าที่แทนได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายมารองรับ จนเมื่อสภามีการหยิบร่างนี้มาพิจารณาและผ่านวาระ 2 และ 3 แล้ว จากนี้ก็จะส่งร่าง พ.ร.บ.ไปยังวุฒิสภาเพื่อพิจารณากลั่นกรองต่อไป ซึ่งหากที่ประชุมเห็นชอบก็จะมีการประกาศใช้ และจะสามารถเดินหน้าคัดเลือกคณะกรรมการ และผู้ว่าการคนใหม่ได้