ศาลฎีกาพิพากษากลับ จำคุก 3 ปี ปรับ 2 หมื่น “ปัญญา ตันติยวรงค์” อดีต ประธาน คตง.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เสนอชื่อคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ให้วุฒิสภา คัดเลือกตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง. ศาลชี้เป็นความผิดสำเร็จแล้ว
วันนี้ (10 เม.ย.) ที่ห้องพิจารณาคดี 803 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 และนายประธาน ดาบเพชร อดีตผู้ได้รับการเสนอชื่อต่อวุฒิสภาเพื่อรับคัดเลือกเป็นผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายปัญญา ตันติยวรงค์ อดีตประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรแก่ตนเองหรือผู้อื่นได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2544 จำเลยเสนอรายชื่อ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา และนายนนทพล นิ่มสมบูรณ์ ร่วมกับชื่อของนายประธาน ดาบเพชร เสนอประธานวุฒิพิจารณาเลือกเป็นผู้ว่าฯ สตง. ทั้งที่ในการประชุมของ คตง.ได้ลงมติด้วยวิธีคะแนนลับเลือกนายประธาน ดาบเพชร ด้วยคะแนนสูงสุด 5 คะแนนที่เกินเสียงกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการเพียงคนเดียว โดยที่คุณหญิงจารุวรรณได้รับคะแนนเพียง 3 คะแนน ขณะที่นายนนทพลไม่ได้รับคะแนน
คดีนี้ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 พ.ค.2549 ให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา เนื่องจากเห็นว่าการที่จำเลยเสนอรายชื่อบุคคลทั้ง 3 ต่อประธานวุฒิสภาเพื่อคัดเลือกเป็นผู้ว่าฯ สตง.ทั้งที่กฎหมายกำหนดจะต้องส่งเพียงชื่อของบุคคลที่ได้รับคะแนนสูงสุดเกินกึ่งหนึ่งจากที่ประชุม คตง.ด้วยวิธีการลงคะแนนลับ ซึ่งคือนายประธานคนเดียวเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลยกฟ้อง ซึ่งศาลอุทธรณ์ประชุมตรวจสำนวนแล้วพิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลย เนื่องจากเห็นว่าจำเลยเข้าใจว่าการเสนอเสนอรายชื่อให้วุฒิสภาพิจารณาเห็นชอบที่จะเลือกบุคคลเป็นผู้ว่าฯ สตง.นั้น สมควรจะต้องเสนอรายชื่อทั้ง 3 คนที่ไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามกฎหมาย พร้อมผลคะแนน โดยไม่มีข้อความระบุชัดเจนว่าวุฒิสภาต้องเลือกใคร เสนอต่อวุฒิสภา และที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้เกิด คตง.และโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายนั้น เห็นว่าการกระทำของจำเลย ยังไม่เป็นการทำให้โจทก์ร่วมและ คตง.ต้องเสียหาย เพราะเมื่อมีการส่งรายชื่อแล้วยังไม่มีใครคาดหมายได้ว่าวุฒิสภาจะส่งหนังสือคืนจำเลยให้ทำใหม่ หรือจะเลือกบุคคลใดเป็นผู้ว่าฯ สตง. ซึ่งกฎหมายให้วุฒิสภาเป็นผู้ทำความเห็นชอบพิจารณาเลือกบุคคลที่ไมมีคุณสมบัติต้องห้าม โดยวุฒิสภาเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติจึงมีอำนาจเหนือกว่าจำเลยหลายเท่า ดังนั้นหากจะเกิดความเสียหายก็ต้องเกิดในชั้นวุฒิสภา และหากวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้อง การเลือกบุคคลเป็นผู้ว่า สตง.ก็จะไม่มีปัญหา พยานหลักฐานจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนา หรือเจตนาพิเศษเพื่อจูงใจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ให้เกิดความเสียหายแก่ คตง.และโจทก์ร่วม ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227
ต่อมาโจทก์และโจทก์ร่วมยื่นฎีกาศาลฎีกาประชุมตรวจสำนวนแล้ว เห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุดจำคุกถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พฤติกรรมของจำเลยที่ไม่เสนอรายชื่อโจทก์ร่วม ซึ่งได้คะแนนเสียงสูงสุดเกินกึ่งหนึ่งจากที่ประชุม ต่อประธานวุฒิสภาเพื่อคัดเลือกเป็นผู้ว่าฯ สตง.เพียงคนเดียว ตามที่กฎหมายกำหนด แต่กลับส่งรายชื่อบุคคลอีก 2 คนให้วุฒิสภาคัดเลือกนั้น ถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดสำเร็จแล้ว แม้ขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นอำนาจของวุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นผู้ว่าฯ สตง.ก็ตาม จึงพิพากษากลับให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 3 ปี และ เห็นควรเพิ่มโทษปรับ จำนวน 2 หมื่นบาทด้วย ทั้งนี้พฤติกรรมจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี