มท.ประชุม โครงการจัดการน้ำ พร้อมผู้ว่าฯ มีการลงนามข้อตกลงร่วมมือรับฟังความเห็น ปชช.“ปลอด” เปิดประชุม แจงไทยพื้นที่น้ำมาก กทม.เป็นเหยื่อน้ำท่วม ชี้ไทยไร้ระบบระบายน้ำ ต้องกู้งบ 3.5 แสนล.จัดการ มั่นใจคุ้มค่า ไม่มีโครงการใดเจ๋งกว่านี้ ขอผู้ว่าฯกล่อม ปชช.เข้าใจ ย้ำคนอยู่กับน้ำให้ได้ แบ่ง ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ “วิสาร” แจง หน้าที่ มท.รับฟัง ปชช.เริ่ม 15 ต.ค.- 6 ธ.ค.สั่งผู้ว่าฯ คัดกลุ่มเป้าหมาย จัดเวที ดูแลความสงบ
วันนี้ (9 ต.ค.) ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย จัดประชุมรับมอบนโยบายและรับทราบภารกิจเกี่ยวกับการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ โดยมีผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วมประชุม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยมี นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ นายกสมาคมสถิติแห่งประเทศไทย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมลงนามในครั้งนี้ โดยมีผู้ว่าฯและส่วนราชการทั่วประเทศเป็นสักขีพยาน
จากนั้น นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) กล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องป้องกันและแก้ไขเรื่องน้ำท่วม เพราะมีที่ตั้งใกล้เส้นศูนย์สูตร จึงทำให้มีปริมาณน้ำมาก ประกอบกับเป็นพื้นที่ที่มีมรสุมเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จึงมีโอกาสสูงที่จะเกิดน้ำท่วม และบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเหมือนสามเหลี่ยมหัวกลับ ซึ่งมีกรุงเทพฯอยู่ปลายสามเหลี่ยม เพราะน้ำปริมาณมากจะมาจากภาคเหนือและตอนบนแม่น้ำเจ้าพระยา จึงส่งผลให้กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีน้ำมากและยังมีภาวะน้ำทะเลหนุน ซึ่งพูดได้ว่ากรุงเทพฯเป็นเหยื่อของน้ำท่วมอยู่แล้ว จึงจำเป็นต้องทำโครงการป้องกันน้ำท่วม แต่ปัญหาของประเทศไทยคือการไม่มีระบบระบายน้ำ มีเพียงระบบส่งน้ำที่จะทยอยให้น้ำไปช้าๆ แต่เรากลับเอามาใช้ระบายน้ำที่ต้องให้น้ำไหลเร็ว ซึ่งหลักแตกต่างกัน ดังนั้นเราจึงต้องใช้เงิน 3.5 แสนล้านบาทสร้างระบบระบายน้ำ
“การดำเนินโครงการดังกล่าวรัฐบาลก็ต้องไปกู้เงินมาทำ แต่เราเชื่อว่าการกู้เงินมาดำเนินโครงการนี้แสนจะคุ้ม และถือเป็นเงินจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อมีน้ำท่วมปี 54 ที่มีมูลค่าความเสียหายที่นับได้ 1.4 ล้านล้านบาท และยังไม่สามารถนับได้อีกมาก ซึ่งในต่างประเทศหากมีเหตุการณ์เช่นนี้จะต้องมีการออกกฎหมายพิเศษเพื่อดำเนินโครงการป้องกัน แต่พวกผมยังไม่อยากทำอย่างนั้น จึงได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งสอดคล้องกับระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง เพียงแต่เขียนไว้ว่าหากจำเป็นจริงๆ ก็จะยกเว้น ส่วนที่มาของโครงการภายใต้เงินกู้ 3.5 แสนล้านนั้นเป็นการเอาองค์ความรู้ที่ได้รับพระราชทานมา ประมวลร่วมกับความรู้ของกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนออกมาเป็นทีโออาร์ และเอาบริษัทจากต่างประเทศมาช่วยคิดโครงการที่ดีที่สุด และเอามาเขียนใหม่เป็น 4 โมดูล ซึ่งผมมั่นใจ 100% ว่าคิดไม่ผิด และเชื่อว่าไม่มีโครงการใดที่ดีกว่านี้อีกแล้ว ทั้งนี้ผมขอฝากผู้ว่าฯ นำข้อมูลไปอธิบายกับประชาชนในจังหวัดให้เกิดความเข้าใจ และขอย้ำว่าประเทศนี้น้ำท่วมไม่ได้เด็ดขาด” ประธาน กอบ.กล่าว
นายปลอดประสพ กล่าวอีกว่า เรามียุทธศาสตร์ให้คนอยู่กับน้ำให้ได้ โดยต้องให้น้ำมีที่อยู่และต้องมีที่ไป โดยต้องแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งต้นน้ำต้องมีป่าซับและชะลอน้ำ และมีเขื่อนทำหน้าที่ตัดยอดน้ำ ทั้งนี้เขื่อนส่วนใหญ่จะสร้างที่ชายป่าแม้กระทั่งเขื่อนแม่วงก์ ก็ไม่ใช่การสร้างกลางป่า ส่วนพื้นที่กลางน้ำนั้นก็จะมีการสร้างแก้มลิง และมีแม่น้ำสายใหม่ด้านตะวันตกที่จะตัดยอดน้ำจากแม่น้ำปิงไปลงแม่น้ำแม่กลอง ส่วนด้านตะวันออกก็มีคลองระพีพัฒน์ตัดยอดน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เกิน 3,500 ล้าน ลบ.ม./วินาที เพื่อป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจในกรุงเทพฯและปริมณฑล และหากสร้างโครงการเหล่านี้แล้วเอาไม่อยู่ก็ต้องสร้างเขื่อนสูงประมาณ 50 เซนติเมตร รอบตัวเมือง 50 แห่ง เพื่อกันพื้นที่เศรษฐกิจ
ด้าน นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ รมช.มหาดไทย กล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่หลักในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งบอกข้อมูลกับคนที่ถูกปิดหูปิดตาไม่รับรู้อะไรเลย ซึ่งเชื่อว่าคณะของกระทรวงมหาดไทยมีความพร้อม ในส่วนของคนเข้าร่วมนั้นจะมีทั้งคนที่ได้รับผลกระทบ คนในพื้นที่ รวมทั้งคนที่ไม่เห็นด้วย เพื่อให้เกิดความเข้าใจในโครงการ ทั้งนี้จะมีกำหนดการจัดรับฟังความเห็นประชาชนเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.ไปจนถึงวันที่ 6 ธ.ค.ใน 35 กลุ่มจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะจัดที่จังหวัดลำพูนเป็นที่แรก โดยในส่วนของการดำเนินการนั้นเป็นหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับมอบหมาย ในส่วนผู้ว่าฯและหน่วยงานในจังหวัดจะมีการดำเนินงาน 4 ส่วน ได้แก่ การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย การกำหนดสถานที่จัดเวที การรักษาความสงบและจัดเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยร่วมกับตำรวจ เพราะมีความกังวลว่าจะมีมือที่สามที่พยายามทำให้เกิดความขัดแย้ง ความรุนแรง และต้องการล้มรัฐบาลมาก่อกวน