xs
xsm
sm
md
lg

พท.เดินหน้า! จ่อเร่งประชุมนิรโทษแดงเพิ่มอีกวัน ดันแก้ ม.190 กลางเดือนนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย (แฟ้มภาพ)
ประธาน กมธ.นิรโทษ ห่วงพิจารณาปล่อยแดงไม่ทันปิดประชุมสภา จ่อชงเพิ่มประชุมศุกร์อีกวัน ด้านประธานวิปรัฐบาล คาดดันแก้ รธน.ม.190 วาระ 2 ได้ กลางตุลา แต่ยังไม่มีกำหนดชำเรา ม.68, 237 ขณะที่ “ไพจิต” แย้มยังไม่เอาเข้าประชุม แนะรอฟังศาลวินิจฉัยแก้ที่มา ส.ว.เชื่อไม่ยื้อ

วันนี้ (5 ต.ค.) นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กล่าวถึงปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในชั้นกรรมาธิการ ว่า ที่เป็นห่วงกันว่าอาจจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเสร็จไม่ทันก่อนปิดสมัยประชุมสภา ในช่วงปลายเดือน พ.ย.นั้น ตนจะเสนอให้เพิ่มวันประชุมต่อที่ประชุมกรรมาธิการ

“เพราะว่าขณะนี้ประชุมเพียงแค่ครึ่งวันของวันพฤหัสเท่านั้น และยังต้องเสียเวลาวิ่งเข้าออกห้องประชุมกรรมาธิการ เพื่อไปโหวตร่างกฎหมายต่างๆ ในสภาอีก ดังนั้นจึงอาจจะขอขยายเวลาประชุมเพิ่มเติมเป็นวันศุกร์แบบเต็มวันอีก 1 วัน ซึ่งขึ้นอยู่กับที่ประชุมด้วยว่าจะเห็นอย่างไร” นายสามารถ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ประธานกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กล่าวว่า ยังไม่สามารถบอกได้ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะพิจารณาเสร็จทันก่อนปิดสมัยประชุมสภา ในช่วงเดือน พ.ย.หรือไม่ แต่กรรมาธิการจะพยายามทำเสร็จให้ทัน

ด้าน นายอำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวาระ 2 ว่า ในวันที่ 7 ต.ค.วิปรัฐบาลจะหารือร่วมกันว่า จะกำหนดกรอบการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ในวันใด แต่คิดว่า ภายในสัปดาห์หน้าคงไม่ทัน เพราะมีวาระงานทั้งของวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎรกำหนดไว้อยู่แล้ว และในวันศุกร์ที่ 11 ต.ค.ยังมีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณากรอบความร่วมมือทางการค้าของไทย ลาว กัมพูชา พม่า ที่ต้องนำเรื่องให้ที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบ

อย่างไรก็ตาม คาดว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 น่าจะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้ประมาณกลางเดือน ต.ค.ช่วงวันที่ 14-18 ต.ค.ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และ 237 ยังไม่มีการกำหนดว่า จะนำเข้าสภาเมื่อใด ต้องมีการหารือกันอีกครั้ง

ขณะที่ นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า วิปรัฐบาลเคยหารือเห็นว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เหลืออีก 2 ฉบับ คือ มาตรา 190 และ มาตรา 68-237 ยังไม่จำเป็นต้องรีบนำเข้าพิจารณาในช่วงนี้ ควรรอดูสถานการณ์การเมืองประกอบด้วยว่า มีเสียงคัดค้านมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะมาตราที่สุ่มเสี่ยงต่อความขัดแย้งสูงอย่างมาตรา 68 และ 237 ที่เป็นเรื่องปลดปล่อยอิสรภาพให้นักการเมืองนั้น น่าจะรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องที่มา ส.ว.ว่า ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน

“เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญคงไม่เล่นเกมยื้อ ไม่วินิจฉัย ประเมินว่าศาลรัฐธรรมนูญน่าจะวินิจฉัยเสร็จภายใน 1 เดือน จึงควรรอคำวินิจฉัยก่อน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ไม่ส่งผลกระทบต่อความขัดแย้ง ดีกว่าจะไปเสี่ยงเดินหน้าทำให้เกิดแรงต้าน ซึ่งยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเสร็จทันก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯในปลายเดือน พ.ย.หรือไม่” นายไพจิต กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น