xs
xsm
sm
md
lg

ปภ.เผยอุทกภัยเหลือ 24 จว.-สบอช.ขู่ไม่รีบเดินแผนจัดการน้ำจะท่วมซ้ำ เซ็นผู้คว้าโมดูลได้ ม.ค.57

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อธิบดี ปภ.เผยอุทกภัยเริ่มคลี่คลายเหลือ 24 จว.ระบุนายกฯ สั่งให้ข้อมูลจริง เร่งบรรเทาท่วมให้ รมต.ลงพื้นที่ ยันพร้อมเยียวยาเป็นธรรม ด้านเลขาฯ สบอช.โวกู้จัดการน้ำครอบคลุมระบายน้ำหมด ขู่ไม่รีบทำท่วมซ้ำอีก เตรียมเดินสายฟังความเห็น 36 จว. เซ็นสัญญา 4 บริษัทได้ ม.ค.ปีหน้า

วันนี้ (4 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.30 น.นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แถลงถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่หลายจังหวัดว่า ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยได้คลี่คลายลงเป็นอย่างมาก จาก 33 จังหวัดเหลือ 24 จังหวัด แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ น้ำท่วมที่เกิดจากน้ำหลาก 20 จังหวัด และน้ำท่วมที่เกิดน้ำทุ่ง 4 จังหวัด ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตมีจำนวน 30 ราย เกิดจากสาเหตุการจมน้ำระหว่างการประกอบอาชีพ แต่ไม่มีการเสียชีวิตจากการถูกไฟฟ้าช็อต เนื่องจากได้มีการตัดไฟเพื่อความปลอดภัยของประชาชนแล้ว ขณะเดียวกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีการประกาศห้ามไม่ให้ประชาชนเข้าไปในพื้นที่ที่เป็นอันตรายและเป็นจุดเสี่ยง นอกจากนี้ ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่มีน้ำท่วมขัง ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้สั่งการ 2 เรื่อง คือ 1.ต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับประชาชนว่าพื้นที่ใดเป็นจุดเสี่ยง เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและนักท่องเที่ยว และ 2.ให้เร่งบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่ส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยสั่งการให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่

นายฉัตรชัย กล่าวว่า สำหรับการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยนั้น มีการแจ้งเตือนและอพยพ รวมถึงเมื่อมีการอพยพแล้วจะมีการดูแลด้านอาชีพและบริหารภาวะอารมณ์ของผู้ประสบภัย ขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีการสำรวจข้อมูลกลุ่มเปราะบาง เช่น คนชรา และคนพิการ ที่จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับการอพยพ และมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และนักจิตวิทยา มาดูแลคนที่มีความเครียด รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจลาดตระเวนในพื้นที่ค่อยดูแลรักษาความปลอดภัย ทั้งนี้ ในส่วนของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจะได้รับการประเมินจากทางราชการอย่างเป็นธรรม โดยจะมีการเยียวยาบ้านเรือนไม่เกินหลังละ 33,000 บาท กรณีที่มีผู้เสียชีวิตจะมีการสงเคราะห์ค่าทำศพรายละ 25,000 บาท แต่หากเป็นหัวหน้าครอบครัวจะช่วยสงเคราะห์รายละ 50,000 บาท ด้านพื้นที่ทำเกษตรกรรม จะสำรวจหลังจากที่สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายแล้ว โดยจะตั้งคณะกรรมร่วมในระดับท้องถิ่น และผู้เสียหายร่วมกันประเมิน ตลอดจนเรื่องถนน ท่อใต้ดินต่างๆได้มีการสั่งการให้ทำข้อมูลความเสียหายทั้งหมด โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เห็นชอบให้แต่ละพื้นที่ใช้เงินทดรองราชการไปก่อนที่จะมีการอนุมัติเงินงบประมาณ และหากไม่เพียงพอก็สามารถขอเพิ่มวงเงินได้

ด้าน นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาธิการสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) กล่าวว่า พื้นที่น้ำท่วมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ พื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่ง หรือพื้นที่ที่อยู่ริมคันกั้นน้ำ เช่น อ.บางบาล มีน้ำท่วมทุกปี จึงมีวิถีชีวิตที่สามารถอยู่กับน้ำได้ จึงไม่น่าเป็นห่วง แต่ในพื้นที่ชุมชน หรือพื้นที่เศรษฐกิจไม่ควรมีน้ำท่วม ต้องมีการป้องกัน ส่วนนี้อยู่ในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ปัจจุบันมีการใช้เครื่องมือป้องกันผิดประเภท จึงจำเป็นต้องมีระบบป้องกันที่ดีและถูกต้อง ขณะนี้เครื่องมือต่างๆ เป็นของกรมชลประทาน มีวัตถุประสงค์ในการส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน ไม่ได้ออกแบบเพื่อการระบายน้ำ แต่ในเมื่อมีเครื่องมือเท่านี้จึงต้องประยุกต์ใช้ แต่ประสิทธิภาพแตกต่างกัน โดยโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท จึงจะครอบคลุมการระบายน้ำทั้งหมด โดยทั้ง 9 แผนงานจะมีความเชื่อมโยงและสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเครื่องมือที่ใช้อยู่ของกรมชลประทานนั้นจะประยุกต์ร่วมกับโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อบริหารจัดการน้ำทั้งระบบได้ อย่างไรก็ตาม หากยังไม่เริ่มดำเนินการก็จะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำอีก

นายสุพจน์ กล่าวถึงการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ว่า จะมีการลงพื้นที่ใน 36 จังหวัด โดยจะเริ่มลงพื้นที่แรกที่ จ.ลำพูน ในวันที่ 15 ต.ค.และการรับฟังความคิดเห็นจะเสร็จสิ้นที่ กทม.ในวันที่ 6 ธ.ค. ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการประเมินผลในแต่ละจังหวัด 15 วัน หลังจากวันที่มีการรับฟังความเห็น ดังนั้น จะสามารถประเมินผลการรับฟังความคิดเห็นในทุกจังหวัดแล้วเสร็จในช่วงกลางเดือน ธ.ค.และผลการประเมินจะนำมาประมวลเข้ากับโครงการบริหารจัดการน้ำทั้ง 9 แผนงาน เพื่อสำรวจสิ่งที่ตกหล่น และจะดำเนินการเซ็นสัญญากับ 4 กลุ่มบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกภายในเดือน ม.ค.ปี 57 ทั้งนี้ สำหรับการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ พื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของโครงการ 3.5 แสนล้านบาท พื้นที่น้ำท่วม และพื้นที่ห่างไกล ส่วนแบบสอบถามจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.แบบสอบถามว่าจะเห็นด้วยกับโครงการบริหารน้ำ 3.5 แสนล้านบาทหรือไม่ 2.แบบสอบถามที่จะส่งไปในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และ 3.แบบสอบถามที่ระบุของแต่ละแผนงาน ซึ่งจะแบ่งไปตามพื้นที่


กำลังโหลดความคิดเห็น