รายงานการเมือง
ความน่าสะพรึงกลัวจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 กลับมาหลอกหลอนคนไทยอีกคำรบ เมื่อปรากฏภาพหลายจังหวัดต้องจมอยู่ใต้บาดาล ถนนหนทาง บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะที่ จ.ปราจีนบุรี สุรินทร์ และศรีสะเกษ รวมไปถึงกว่า 30 จังหวัดที่ได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า
ยังดีที่พายุโซนร้อนหวู่ติ๊บ (WUTIP) หรือ “เจ้าผีเสื้อ” ลดระดับความรุนแรงลงก่อนเข้าประเทศไทยหลังจากที่พายุลูกนี้สร้างผลงานถล่มเวียดนาม-ลาวอ่วมอรทัยกันไปแล้ว มิเช่นนั้นจังหวัดต่างๆ ริมแม่น้ำโขง ตั้งแต่นครพนม-มุกดาหาร-หนองคาย รวมทั้งทางใต้ลงมาอย่างอุบลราชธานีคงอาการน่าเป็นห่วง
และมีหวังยอดตัวเลขจังหวัดที่อยู่ใน “วิกฤต” น้ำท่วมคงสูงขึ้นเกินครึ่งประเทศแน่ๆ
ถือว่าโชคดีมาก เพราะมีการประเมินกันว่าผลพวงจาก “เจ้าผีเสื้อ” ยังลามปามมาถึงพื้นที่ กทม.และอีกหลายจังหวัดในโซนภาคกลาง ที่จะได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก หลายจังหวัดที่มีน้ำท่วมขัง-น้ำปริ่มตลิ่งเตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับมวลน้ำที่เพิ่มขึ้นจากฟ้าฝน ยิ่งบรรดา “ขาประจำ” พื้นที่ใต้เขื่อนทั้งหลายคงรอดยาก
อน่างไรก็ตาม “เมืองหลวง” กรุงเทพมหานคร ก็ใช่ว่าจะอุ่นใจ เพราะแค่ฝนกระหน่ำมาถี่ยังแย่ แล้วหากมีหางเลขจากพายุเข้ามาเพิ่มเติมอีกสัก 1-2 ลูก บวกกับพยากรณ์อากาศที่ว่าช่วงต้นเดือนตุลาคมจะมีฝนเทลงมา 70-80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ แถมด้วยน้ำทะเลหนุนเข้ามาอีก “ชาวกรุง” ก็เตรียมตัวรับสภาพน้ำท่วม-น้ำขังกันละทีนี้
ยิ่งฟังคนปากเก่งอย่าง “ปลอดประสพ สุรัสวดี” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ออกมา “รับประกัน” ว่าจะไม่เกิดปัญหาน้ำท่วม เหมือนในปี 2554 อย่างแน่นอน โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครที่ “เอาอยู่” ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์อย่างแน่นอน
ได้ฟังอย่างนี้ คนกรุงก็ยิ่งเสียวสันหลัง เพราะพะยี่ห้อ “พญาปลอด” ฟันธงคราวใด ผลออกมากลับตาลปัตรเสียทุกที
เอาง่ายๆแค่พื้นที่ จ.ปราจีนบุรี ที่จมบาดาลอยู่ในตอนนี้ พอนักข่าวไปถาม “รองฯปลอด” ทีไร คำตอบที่ได้รับคือสถานการณ์ดีขึ้น พอจี้ถามหนักเข้าก็ว่า ไม่ถึงขั้นวิกฤต แค่อยู่ในระดับ “กึ่งวิกฤต” เท่านั้นเอง ซึ่งขัดแย้งกับภาพข่าวที่ปรากฎออกมาที่เห็นว่าในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี วิกฤตหนักจบบาดาลทั้ง 7 อำเภอ หนักที่สุดมีน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร
แสดงให้เห็นว่าความจริงกับคำพูดของผู้ที่ได้ชื่อว่า “ประธาน กบอ.” ผิดกันลิบลับ
ข้อมูลจากปากคำของคนข่าวที่เกาะติดสถานการณ์มวลน้ำถล่ม จ.ปราจีนบุรี มาโดยตลอด อย่าง “ดาริน คล่องอักขระ” ผู้ดำเนินรายการรู้สู้ภัยพิบัติ ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ซึ่งจัดร่วมกับ “เสรี ศุภราทิตย์” ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศแลภัยพิบัติ ม.รังสิต
โดย “ดาริน” ได้ไปกล่าวไว้ในการเสวนา “ผ่าแผน กบอ. เวทีการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ” ซึ่งจัดโดยสมาคมวิศวกรรมสถานฯ และสมาคมนักข่าวฯ เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา เป็นที่มาของคลิปที่กำลังได้รับความนิยมในสังคมออนไลน์ (สามารถรับชมได้ที่ยูทิวบ์ คลิป “ดาริน คล่องอักขระ เผยสาเหตุน้ำท่วมปราจีนบุรีในปี 56”) แม้จะเป็นคลิปสั้นแค่ไม่ถึง 3 นาที แต่ก็ทำให้รู้ “ข้อเท็จจริง” ที่ “ตีแสกหน้า” กบอ.จนหน้าแหกไปเลยทีเดียว สำหรับผลงานการบริหารจัดการน้ำที่ จ.ปราจีนบุรี
ใจความสำคัญพูดถึงสาเหตุที่น้ำท่วม อ.กบินทร์บุรีหนักสุดในรอบ 24 ปี ทั้งที่ปริมาณน้ำฝนปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้วถึงเท่าตัว โดยเป็นชาวบ้านในพื้นที่ที่บอกว่าเป็นเพราะมีคำสั่งให้ปิดประตูระบายน้ำ ทำให้น้ำอั้นอยู่ที่ อ.กบินทร์บุรี ทั้งที่พื้นที่หลังประตูน้ำต้องการให้น้ำเข้าไปในนาข้าวฟางลอยที่ต้องการน้ำมากแท้ๆ
เมื่อเกิดปัญหาที่ อ.กบินทร์บุรี ทาง กบอ. โดย “ปลอดประสพ” ก็ลองเปิดประตูขึ้น 30 เซนติเมตร หลังจากที่ชาวบ้านเริ่มไม่พอใจและชุมนุม เหมือนไม่มีข้อมูลปริมาณน้ำอยู่ในมือ
จึงกลายเป็นว่า กบอ.ตัดสินใจตามแรงกดดันของชาวบ้าน ไม่ใช่ตามข้อมูลที่มีอยู่
“มีข้อมูลในทางลับจากเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน อาจเป็นเพราะเกรงว่า เป็นการกระทำโดยพลการ ยังไม่ได้รับคำสั่ง ถูกฟ้องขึ้นมาเมื่อเปิดประตู แล้วน้ำไปท่วมบ้านใคร เขาฟ้องเจ้าหน้าที่ก็รับผิดชอบไม่ไหว ต้องรอผู้ว่าฯ รอ กบอ.สั่ง อ้าวอย่างแล้วนี้หมดนี่ต้องรอ กบอ.สั่งคนเดียวใช่ไหม ถ้าสร้างแล้วเกิดเหตุอย่างนี้แล้วใครรับผิดชอบทำอย่างไรกับชาวบ้านล่ะ” นี่คือสิ่งที่ “ดาริน คล่องอักขระ” บอกในวันนั้น
คำถามจึงย้อนกลับมาที่ กบอ.ภายใต้การนำของ “ปลอดประสพ” ว่ามีความสามารถพอหรือไม่ในการจัดการน้ำทั้งระบบ ขนาดแค่พื้นที่เดียวยังแก้ไขปัญหาไม่ตก ทำให้ชาวบ้านต้องตกระกำลำบาก มีความเสียหายประเมินค่ายาก ทั้งที่ กบอ.เป็นศูนย์กลางที่ทุกหน่วยงานต้องส่งข้อมูลให้ กลับเหมือนไม่รู้อะไรเลย ผิดกลับสื่อมวลชนที่ลงพื้นที่ไม่นาน กลับได้รู้ถึงปัญหาและทางแก้ไข
ยิ่งมีข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไม่กล้าตัดสินใจโดยพลการ เกรงจะมีความปิด ต้องรอคำสั่งจาก กบอ.เสียก่อน ก็ยิ่งชี้ให้เห็นถึง “ตัวปัญหา” ที่ชื่อ กบอ.
โดยเฉพาะระบบการรวมศูนย์บัญชาการจากส่วนกลาง หรือ “ซิงเกิลคอมมานด์” ที่ติดตั้งอยู่ในสำนักงาน กบอ.ภายในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งริเริ่มขึ้นในช่วงหลังมหาอุทกภัยปี 54 หวังให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างคล่องตัว และมีเอกภาพ แต่กลายมาเป็น “จุดอ่อน” ทำให้หลายพื้นที่ต้องพบกับภัยพิบัติในปีนี้
เพราะการรวมศูนย์อำนาจสั่งการไว้ที่ กบอ.นั้น ไม่ได้เป็นการ “บูรณาการ” อย่างที่วาดฝันไว้สวยหรู กลับกลายเป็น “เผด็จการ” ที่รวบอำนาจมาอยู่ในมือ แต่ไม่มีความสามารถในการบริหารจัดการ ขณะที่คนสั่งการก็ “มึนงง” กับการทำหน้าที่ของตัวเอง
โดยเฉพาะ “พญาปลอด” ผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ก็เอาแต่เอะอะมะเทิ่ง มึงมาพาโวยไปวันๆ
มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า ที่ จ.ปราจีนบุรีต้องน้ำท่วม ทั้งที่ปริมาณน้ำไม่ได้มาก อาจจะไม่ได้มาจากการที่ไม่มีข้อมูลหรือไม่มีแผนรองรับ แต่ด้วยอุปนิสัยของ “รองฯ ปลอด” ที่ไม่เคยฟังใคร “กูแน่ กูเก่งคนเดียว” พานทำให้คนรอบข้างออกอาการหมั่นไส้ อาจถึงขั้น “วางยา” กั๊กข้อมูล หรือป้อนข้อมูลผิดๆ ให้กับประธาน กบอ.
จากคนที่ไร้กึ๋นอยู่แล้ว ยังได้ข้อมูลเพี้ยนๆ อีก การตัดสินใจจึงเงอะงะเชื่องช้าไม่ทันการณ์
ถึงวันนี้ครบรอบ 2 ปี มหาอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์เมื่อปี 2554 คำถามมีว่า กบอ.มีผลงานอะไรเป็นรูปธรรมบ้าง แผนเฝ้าระวังป้องกันพื้นที่ต่างๆ ก็ไม่มีให้เห็น พื้นที่ขาประจำก็ยังถูกน้ำท่วมเหมือนเดิม ชาวบ้านก็ยังเดือดร้อนเหมือนตอนที่ไม่มี กบอ.
จึงไม่แปลกที่จะมองว่า 2 ปีมานี้ กบอ.ไม่ได้ทำงาน มัวแต่เฝ้าจ้องงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาทตามโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบที่ตะบี้ตะบันออกกฎหมายไว้แล้ว ตามประสา “เสือหิว” ที่เมื่อเงินหมด ก็นับวันรอถลุงงบประมาณก้อนใหม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ละเลง 1.2 แสนล้าน บวกกับ 1 หมื่นล้านในก้อน 3.5 แสนบาทไปเปล่าๆ ปลี้ๆ ไม่ได้อะไรกลับคืนมา
หากยังทำงานแบบไร้กึ๋นเยี่ยงนี้ ก็คงไม่น่าไว้ใจให้ถือเงินก้อนมโหฬารขนาดนั้นแน่
ล่าสุดในการประชุม ครม.เมื่อวานนี้ “ปลอดประสพ” เจ้าเก่ายังออกอาการลุกลี้ลุกลนสนับสนุนให้จัดตั้ง “กระทรวงน้ำ” โดยอ้างว่ามีความจำเป็นต้องบูรณาการการทำงานทั้ง 20 กระทรวงเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยและรองรับโครงการการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท
สงสัยฝันเฟื่องว่าจะมีชื่อเป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำ” คนแรกของสยามประเทศกระมัง