xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านอดข้าว-เครียด รัฐเร่งสำรวจก่อนเยียวยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"ปู"สั่งเร่งสำรวจความเสียหายน้ำท่วมก่อนจ่ายเยียวยา แต่แบ่งรับแบ่งสู้จ่าย 5 พันเหมือนปี 54 ได้หรือไม่ ส่วนกระทรวงน้ำ ขอดูทีหลัง แก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน เผยสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดเริ่มคลี่คลายแล้ว แต่บางพื้นที่ประชาชนยังเดือดร้อนหนัก เริ่มขาดแคลนอาหาร และเครียด ด้านชาวนาสวรรค์โลกนำรถอีแต๋นปิดทางเข้า-ออกสนามบินสุโขทัย หลังสร้างคันดินขวางทางน้ำ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในปีนี้ว่า เบื้องต้นหลักเกณฑ์ต้องเป็นไปตามระเบียบของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ซึ่งได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่จังหวัด และ ปภ.สำรวจความเสียหายของประชาชนที่ได้รับผลกระทบแล้ว โดยต้องพิจารณาตามระเบียบขั้นตอน และเปรียบเทียบกับความเสียหายจริงด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า เงินเยียวยาครัวเรือนละ 5,000 บาทยังจะจ่ายเหมือนปี 2554 หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ต้องขออนุญาตดูรายละเอียดความเสียหายอีกครั้ง เพราะเมื่อปี 2554 บางเกณฑ์เป็นการให้กรณีพิเศษ แต่บางเกณฑ์เป็นปกติ ต้องให้หน่วยงานประเมินความเสียหายที่นอกเหนือจากหลักเกณฑ์ปกติมาพิจารณาอีกครั้ง โดยรัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลช่วยเหลือเยียวยา บ้านเรือน ไร่นา แต่ต้องสำรวจดูความเสียหาย ณ สถานที่จริงก่อน

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า สำหรับการรับมือกับน้ำเหนือที่จะไหลเข้ามายังกรุงเทพมหานคร (กทม.) รัฐบาลได้มีการประสานกับ กทม. อยู่แล้ว และในส่วนของรัฐบาลก็ได้มีการบริหารจัดการน้ำให้ดีที่สุด เพื่อให้การระบายน้ำของ กทม. ไม่เกินขีดความสามารถ

ส่วนความคืบหน้าแนวคิดการตั้งกระทรวงน้ำ เป็นแผนที่อยากเห็นในอนาคต แต่ทั้งหมดต้องเกิดจากการบูรณาการ ในภาคปฏิบัติให้เป็นระบบก่อนแล้วถึงจะนำเข้าสู่การพิจารณา จริงๆ แล้ว ข้อมูลเบื้องต้นทุกหน่วยงานมีแนวคิดที่ตรงกัน ดังนั้น คงขอให้แก้ไขปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ ก่อน แล้วค่อยมาดูว่าข้อมูลต่าง ๆ มีความพร้อม แค่ไหนอย่างไร

**ตร.-ทหารระดมพลช่วยประชาชน

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้กำชับให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ส่งกำลังตำรวจในพื้นที่และตำรวจตระเวนชายแดนเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย พร้อมประสานกำลังทหารในพื้นที่ที่ดูแลประชาชนให้ช่วยเหลือเพิ่มเติม

พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ และมณฑลทหารบกที่ 12 ยังคงกำลังทหาร 600 นาย พร้อมชุดแพทย์เข้าอำนวยความสะดวกด้านการสัญจร แจกจ่ายถุงยังชีพ และตรวจรักษาพยาบาลให้กับผู้ประสบอุทกภัยใน อ.เมือง อ.กบินทร์บุรี อ.ศรีมหาโพธิ อ.ศรีมโหสถ และ อ.ประจันตคาม โดยเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา กองทัพบก ได้ส่งเรือท้องแบน 10 ลำ ชุดครัวสนามเคลื่อนที่ และชุดแพทย์เคลื่อนที่ เข้าเสริมการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่แล้ว

ทั้งนี้ สำหรับที่ จ.พระนครศรีอยุธยา กรมสรรพาวุธทหารบก และกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ ยังคงส่งทหารติดตามระดับน้ำ พร้อมเสริมความแข็งแรงของพนังกั้นน้ำในพื้นที่ นอกจากนี้จากการที่กรมชลประทาน ได้เริ่มระบายน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมใน อ.ท่าเรือ

**ปภ.ระบุน้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย.2556 ถึงปัจจุบันเกิดสถานการณ์อุทกภัยรวม 32 จังหวัด 240 อำเภอ 1,437 ตำบล 11,578 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 840,728 ครัวเรือน 2,862,758 คน ผู้เสียชีวิต 27 ราย บ้านเรือนเสียหาย 14,405 หลัง ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 7 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยอีก 25 จังหวัด โดยแยกเป็นน้ำป่าไหลหลาก 21 จังหวัด และสถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนล้นตลิ่ง 4 จังหวัด

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์อุทกภัยในภาพรวม เริ่มคลี่คลาย หลายพื้นที่ระดับน้ำลดลง แต่ยังมีน้ำท่วมขังในชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ พื้นที่ท้ายเขื่อน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำออกจากเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี และเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก เนื่องจากปริมาณน้ำเกินความจุอ่างจึงต้องเร่งระบายน้ำ

ทั้งนี้ ประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นหวู่ตี๊บมากนัก เนื่องจากได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ทำให้มีฝนตกกระจายในจังหวัดพื้นที่รอยต่อภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจากการติดตามพยากรณ์อากาศ พบว่า ช่วงวันที่ 2-6 ต.ค2556 ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักบางแห่ง

**ชาวบ้าน2อำเภอกรุงเก่าเริ่มขาดอาหาร

ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง เริ่มมีปริมาณลดลง แต่ประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยยังคงได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่บริเวณหมู่ 1 ต.บางหลวงโดด อ.บางบาล จ.พระนครศรียุธยา ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับ จ.อ่างทอง ประชาชนยังต้องเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วม ได้รับความเดือดร้อนมากว่า 2 สัปดาห์แล้ว

ประชาชนหลายราย บอกว่า ตอนนี้ต้องเผชิญกับปัญหาในการที่ไม่สามารถออกไปประกอบอาชีพได้ อีกทั้งการเดินทางก็เป็นไปได้อย่างยากลำบาก ขณะที่หน่วยงานทางภาครัฐยังไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือ มีเพียงแต่พระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ในการพระราชทานถุงยังชีพเข้ามาช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องเท่านั้น

นายอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่าน อ.บางบาล อ.เสนา ทำให้น้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนสูงและท่วมเป็นวงกว้างมานานกว่า 20 วันและยังขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขณะนี้ประชาชนเริ่มขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มที่สะอาด เนื่องจากการเดินทางลำบากที่จะออกมาจับจ่าย บางบ้านต้องอพยพมาอาศัยริมถนนหลับนอน และยังดีที่มีหน่วยงานและหลายหน่วยงานมาแจกเครื่องอุปโภคบริโภคให้ประทังชีวิต

**"ชาวโผงเผง" เริ่มเครียดต้องนอนกลางน้ำ

นางอำนวย กุดีสุข อายุ 57 ปี บ้านเลขที่ 27/2 หมู่ 6 ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง กล่าวว่า บ้านตนถูกน้ำท่วมสูงกว่า 40 ซม. ต้องอพยพครอบครัวมาอาศัยเต็นท์พักพิงผู้ประสบภัยที่ริมถนนสายป่าโมก-บางบาล โดยใช้ไม้หนุนพื้นบ้านมาทำเป็นเตียงนอน ทำให้ต้องใช้ชีวิตที่ยากลำบาก เนื่องจากในบ้านมีทั้งเด็กและคนชรารวม 6 คน จึงจำต้องนำเด็กและคนชรามาพักพิงที่เต็นท์ ส่วนคนหนุ่มสาวให้อยู่ในบ้านที่ยกพื้นนอนกลางน้ำไปชั่วคราวก่อน จนกว่าทางการจะนำเต็นท์มาติดตั้งเพิ่ม

ทั้งนี้ จากการสอบถามผู้ที่ถูกน้ำท่วมในพื้นที่ จ.ฮ่างทอง พบว่า เริ่มเกิดภาวะเครียดเนื่องจากความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก รวมทั้งต้องหุงหาอาหารกิน และนอนอยู่ในเต็นท์ พืชผลการเกษตรเสียหายไปหมดทำให้ขาดรายได้

**แพทย์เผยชาวศรีสะเกษเครียด-ซึมเศร้าสูง

ที่ จ.ศรีสะเกษ นพ.อุดม เพชรภูวดี ผอ.รพ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า จากเหตุน้ำท่วมขังในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งที่อยู่อาศัย การกินอยู่ที่ขาดแคลน รวมทั้งทางด้านโรคภัย ความเจ็บปวดจากบาดแผลที่โดนของมีคมทิ่มตำในการเดินลุยน้ำ เป็นแผลเปื่อยจากการแช่น้ำนานๆ และอาการไข้หวัดที่เกิดจากการตากฝนที่ตกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประสบอุทกภัยได้ประสบปัญหาทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งจากการสำรวจประชาชนผู้อพยพ 800 คน พบว่ามีภาวะตรึงเครียดจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นสูงถึง 200 คน และมีอาการซึมเศร้า 200 คน และต้องติดตามดูแลเป็นพิเศษ 70 คน

**น้ำท่วมรพ.ประจันตคามงดรับผู้ป่วยใน

ส่วน จ.ปราจีนบุรี แม้วานนี้จะมีปริมาณน้ำลดลง แต่บางพื้นที่ส่วนใหญ่ก็ยังคงวิกฤตอยู่ โดย นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุขว่า รพ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ยังเปิดให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกและฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง งดรับผู้ป่วยในชั่วคราว เนื่องจากระบบบำบัดน้ำเสียใช้การไม่ได้ หากมีผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลจะส่งไปโรงพยาบาลกบินทร์บุรี โดยได้ทำสะพานไม้จากถนนเข้าไปอาคารผู้ป่วย และจัดเรือรับส่งผู้ป่วย มีทหารช่วยอำนวยความสะดวก ส่วนเรื่องยาและเวชภัณฑ์สำรองไว้ใช้ได้ 2 เดือน ส่วนออกซิเจน อาหารและน้ำดื่มมีใช้เพียงพอ ระบบประปา ไฟฟ้ายังใช้การได้

**ชาวนาสุโขทัยฮือปิดทางเข้าออกสนามบิน

ส่วนที่ จ.สุโขทัย ชาวนาใน 4 ตำบลประกอบด้วย ต.ย่านยาว ต.วังไม้ขอน ต.ท่าทอง และ ต.หนองกลับ ของ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย กว่า 300 คน ได้นำรถอีแต๋นมาปิดถนนปากทางเข้าสนามบินสุโขทัยเพื่อเรียกร้องให้ทางสนามบินสุโขทัย เปิดทางน้ำโดยเร็ว เนื่องจากชาวนาในหลายตำบลของ อ.สวรรคโลกดังกล่าว ที่มีอาชีพทำนา ได้รับผลกระทบจากการทำคัดดินกันทางน้ำของสนามบินสุโขทัยมานานกว่า 2 เดือนแล้ว เนื่องจากน้ำฝนที่ตกลงมาปริมาณมากไม่มีที่ระบายน้ำและเอ่อล้นเข้าท่วมที่นาของชาวนากว่า 6,000 ไร่จนได้รับความเสียหาย

นายปิติ แก้วสลับสี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย พร้อมนายอำเภอสวรรคโลก เดินทางมาเจรจาและร่วมรับฟังปัญหา และได้พาชาวนาจำนวนหนึ่งเข้าไปตรวจดูจุดระบายน้ำในพื้นที่สนามบินสุโขทัย พบว่าบริเวณใต้สะพานที่เป็นจุดระบายน้ำเส้นทางหลักได้มีการทำประตูตาข่ายแล้วนำกระสอบทรายไปปิดกั้นขวางทางน้ำไว้ สร้างความโกรธแค้นให้ชาวนาอย่างมาก เพราะตลอดกว่า 10 ปีเพิ่งจะมาทราบกันว่ามีการปิดเส้นทางน้ำตรงจุดนี้ด้วย

ขณะที่ พล.อ.คมกฤช ศรียะพันธ์ รองผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายสนามบิน บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด ซึ่งได้เข้าร่วมเจรจากับชาวนาด้วย ได้ขอให้ชาวนาเปิดเส้นทางการจราจร 1 เส้นทางเพื่อให้รถสามารถเข้าออกสนามบินได้ก่อนและรับปากว่าจะแก้ไขปัญหาทำให้น้ำที่ท่วมขังอยู่ในขณะนี้ไหลได้คล่องขึ้นต่อไป

**มท.3 ตรวจพื้นที่กรุงเทพฯเสี่ยงท่วม

วันเดียวกัน นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ รมช.มหาดไทย พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจุดเสี่ยงอุทกภัยที่ประตูระบายน้ำคลองสองด้านใต้ ถนนพหลโยธิน 54/1 เขตสายไหม ชุมชนดาวทอง คลองบ้านใหม่ ถนนเทิดราชัน เขตดอนเมือง และท่าเรือเขียวไข่กา ถนนอำนวยสงคราม เขตดุสิต ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมปี 2554

นายสัญญา ชีนิมิตร รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวรายงานสถานการณ์ว่า พื้นที่ดังกล่าวยังไม่พบปัญหา กทม.ยังสามารถช่วยรับน้ำจากจังหวัดปริมณฑลโดยรอบได้วันละ 3-4 ลบ.ม.ต่อวัน โดยจุดประตูระบายน้ำคลองสองด้านใต้ช่วยระบายน้ำที่มาจากคลองรังสิตวันละ 240,000 ลบ.ม.ขณะนี้ได้ยกระดับประตูระบายน้ำที่ 50 ซม. หากมีความจำเป็นต้องช่วยระบายน้ำเพิ่มขึ้น กทม.จะพิจารณาเปิดประตูให้มีความเหมาะสม

ส่วนการเตรียมความพร้อมรองรับระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้นจากการระบายจากเขื่อนด้านบนและการหนุนสูงของน้ำทะเลในสัปดาห์หน้า กทม.ได้ประสานข้อมูลกับ กบอ.อย่างใกล้ชิด เพื่อให้จัดการน้ำไปในทิศทางเดียวกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน ขณะนี้ปริมาณน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเข้าพื้นที่กทม.อยู่ที่ 2,300 ลบ.ม.ต่อวินาที กทม.ยังสามารถรับน้ำช่วยระบายได้
กำลังโหลดความคิดเห็น