โฆษก ปชป.เผย “บัญญัติ” แนะที่ประชุมทำหนังสือถึง “ยิ่งลักษณ์” ทูลฯขอถอนร่างแก้ไข รธน. ที่มา ส.ว.เผยรับไม่ได้ นโยบายแจกเงินให้ผู้ปกครองซื้อแท็บเล็ต แถมจ้องตัดงบค่านม-ชุดนักเรียนสนองนโยบาย
วันนี้ (1 ต.ค.) นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังการประชุมส.ส.พรรค ว่า ที่ประชุมได้มีการวิเคราะห์สถานการณ์การเมือง หลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ลงนามทูลเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นที่มา ส.ว.ว่ามีหลายประเด็นที่สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้ปัญหาตามมา คือสุ่มเสี่ยงผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งอาจนำมาซึ่งการถอดถอนออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ อีกทั้งยังจะทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท เพราะเห็นชัดเจนว่ากระบวนการยังไม่สมบูรณ์ ในประเด็นนี้ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีความเป็นห่วงเป็นใย และเสนอแนวคิดว่าพรรคควรจะมีหนังสืออย่างเป็นทางการถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ทบทวนเรื่องนี้ และทางที่ดีควรทำหนังสือกราบบังคมทูลฯถอนเรื่องดังกล่าวกลับมาเสียก่อน เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องเร่งรีบเร่งรัดทำให้กระบวนการสุ่มเสี่ยงขัดต่อกฎหมาย
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังวิเคราะห์รัฐบาลประสบความล้มเหลวการบริหารงานในทุกด้าน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่มีการใช้เงิน 3.5 แสนล้านบาท แต่ขณะนี้ประชาชนก็ยังประสบปัญหาน้ำท่วมดังนั้น พรรคจะยื่นกระทู้สดและเสนอญัตติด่วนให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงในสภา
นายชวนนท์ ยังกล่าวอีกว่า ที่ประชุมวิพากษ์วิจารณ์กรณีนโยบายของรัฐบาลแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยล่าสุดในปี 57 ได้ออกมาระบุว่าจะแจกเงิน 3,000 บาท และให้ไปซื้อแท็บเล็ตตามสเปกที่ต้องการโดยจ่ายเงินส่วนต่างเอง โดยที่ประชุมเห็นว่าเป็นเรื่องของการแจกเงินให้กับผู้ปกครองแทน ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มากที่ประชาชนต้องออกมาประท้วง และนี่คือความล้มเหลวไร้ความรับผิดชอบของรัฐบาล อีกทั้งเป็นครั้งแรกในโลกที่มีรัฐบาลไร้ซึ่งสามัญสำนึกเพราะหากินกับนักเรียนที่เป็นอนาคตของชาติ
ทั้งนี้ นายเอนก รัตน์ปิยะภาภรณ์ ผู้อำนวยการเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกมาระบุว่าปีนี้รัฐบาลจัดสรรงบเพื่อแจกแท็บเล็ตขาดอีก 500 ล้านบาท ฉะนั้นจะต้องตัดเงินรายหัวของเด็กนักเรียน ค่านม ค่าชุดนักเรียน และค่าใช้จ่ายจำเป็นพื้นฐาน เพื่อจัดให้พอกับนโยบายประชาชนนิยม ตนเห็นว่าเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ และเป็นเรื่องรุนแรงในสังคมไทย ทั้งนี้ที่ประชุม ส.ส.ยังชี้ด้วยว่าในปี 55 และ 56 ที่แจกแท็บเล็ต รัฐบาลไม่มีการประเมินผลความคุ้มค่า และไม่แสดงผลลัพธ์ว่าคุ้มค่าอย่างไรภายหลังใช้ที่ใช้ไปแล้ว 1 ปี