xs
xsm
sm
md
lg

พท.นัด ส.ส.ประเมินม็อบโค่นระบอบทักษิณ ทำคู่มือแจกให้ไปเป่าหู ปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ (แฟ้มภาพ)
พท.นัดประชุมทำความเข้าใจ ส.ส.เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ พร้อมประเมินสถานการณ์การเมือง และการชุมนุมของกองทัพโค่นระบอบทักษิณ เตรียมทำคู่มือให้ ส.ส.ไปเป่าหูประชาชนในพื้นที่ ปัดเล่นปาหี่เชิญบุคคลสำคัญร่วมสภาปฏิรูป ฉะ ปชป.มองโลกในแง่ร้าย ติง “แก้วสรร” นั่ง กมธ.ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษแล้ว ไม่ควรเอาม็อบมาข่มขู่ แว้งฟัดกรรมการสิทธิฯ ทำรายงานแฉแก๊งแดง โวยไม่คุ้มครองสมุนที่เข้าร่วมม็อบ

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า พรรคเพื่อไทยจะมีการประชุมในวันที่ 13 ส.ค.นี้ เพื่อทำความเข้าใจกับ ส.ส.หลังสภาเตรียมบรรจุวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ในวันที่ 14-15 ส.ค.ซึ่งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วและเตรียมเข้าสู่วาระสอง เพื่อเตรียมผู้อภิปรายสนับสนุนว่าจะมีจำนวนเท่าไร เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ขณะที่วิปรัฐบาลจะประชุมในวันเดียวกันเพื่อกำหนดกรอบการอภิปราย

ทั้งนี้ พรรคจะประชุมสรุปสถานการณ์ทางการเมืองและการชุมนุมของม็อบแช่แข็ง 2 ว่าจะเป็นอย่างไร เพื่อให้ ส.ส.ไปทำความเข้าใจกับประชาชน โดยจะทำคู่มือที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมืองไปชี้แจงเพิ่มเติมด้วย

นายพร้อมพงศ์ กล่าวถึงกรณีที่ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาโจมตีรัฐบาลที่เชิญบุคคลสำคัญ ทั้งอดีตนายกฯ อดีตประธานรัฐสภา อดีตประธานวุฒิสภา และล่าสุด นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายกระมล ทองธรรมชาติ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ตอบรับเข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมือง แต่ นายองอาจ กลับโจมตีว่าเป็นปาหี่ทางการเมือง ผลาญงบประมาณและภาษีของประชาชนว่า ไม่เป็นความจริง พรรคเพื่อไทยดำเนินการเพื่อนำประเทศไปสู่ความปรองดองและการปฏิรูป โดยมีบุคคลสำคัญเข้าร่วมจำนวนมาก เพื่อหาทางออกให้ประเทศก้าวพ้นความขัดแย้ง แต่สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาปฏิเสธ และกล่าวหารัฐบาลนั้น มองว่าเป็นการมองโลกในแง่ร้าย การที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กำหนดเงื่อนไขว่าต้องถอน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือกฎหมายฉบับอื่นที่ใกล้เคียงกันออกไปก่อนจึงจะเข้าร่วมนั้น มองว่านายอภิสิทธิ์ไม่จริงใจ สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ทำเป็นการย่ำอยู่กับที่

“การที่นายกฯ ต้องการให้เชิญชวนบุคคลสำคัญของโลก อาทิ นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และ นายโทนี แบลร์ อดีตนายกฯ อังกฤษ พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังออกมาปฏิเสธ กระแหนะกระแหนว่าเป็นเรื่องสิ้นเปลืองงบประมาณนั้น ผมมองว่าวันนี้พรรคประชาธิปัตย์กำลังถูกโดดเดี่ยวทางการเมือง ดังนั้นขอให้พรรคประชาธิปัตย์เลิกอคติ มองประโยชน์ของบ้านเมือง เลิกตั้งเงื่อนไขเพื่อเข้าร่วมปฏิรูปการเมืองกับรัฐบาล สิ่งนี้จะเป็นการสะท้อนวุฒิภาวะของนายอภิสิทธิ์ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาฯ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี มากกว่าจะไปตั้งเวทีผ่าความจริง ผมมองว่าเป็นการนำความจริงไปบิดเบือนมากกว่าการผ่าความจริง ดังนั้นขอให้มาพูดในเวทีปฏิรูปจะดีกว่า”

โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนรู้สึกไม่สบายใจที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์รุ่นหลังๆ ออกมาโจมตีนายพิชัย ที่ตอบรับเข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมือง และแสดงความไม่พอใจ กล่าวหาว่าพรรคเพื่อไทยฉวยโอกาสกับคนแก่ ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะนายพิชัยเป็นถึงผู้ใหญ่ เป็นอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่อยากหาทางออกให้กับประเทศ แต่ถูกโจมตี แสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนไป วันนี้ถ้าผู้ใหญ่ในพรรคไม่ให้ท้าย ใครจะกล้าโจมตีนายพิชัยผ่านสื่อขนาดนี้

นายพร้อมพงศ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ โจมตีว่าพรรคเพื่อไทยเป็นเผด็จการรัฐสภา หลังผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วาระแรกว่า ขอปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง เราให้โอกาสฝ่ายค้านเต็มที่แม้จะตีรวนในสภา พยายามใช้เทคนิคเลื่อนร่างกฎหมายอื่นๆ แต่พรรคเพื่อไทยก็ใช้ความอดทน ทั้งนี้ แม้แต่พรรคร่วมฝ่ายค้านยังโหวตให้กับรัฐบาล สะท้อนว่า ส.ส.แสดงวุฒิภาวะเห็นเหตุผลที่รัฐบาลดำเนินการ แต่สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ทำโดยการพาม็อบมาส่งเข้าสภา หรือการขว้างปาสิ่งของ การยื้อเก้าอี้ในอดีต เหล่านี้พรรคประชาธิปัตย์น่าจะทำตัวเป็นเผด็จการเสียงข้างน้อยในสภามากกว่า

ส่วนที่ นายแก้วสรร อติโพธิ อดีต คตส.เป็นกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ในสัดส่วนของพรรคประชาธปัตย์นั้น นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า ไม่แปลกใจเพราะหลังนายแก้วสรรหลุดจาก คตส.ก็มีแนวความคิดเดียวกันกับพรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอด แต่ตนไม่อยากให้นายแก้วสรร ออกมาขู่ว่าจะมีสารพัดม็อบหลังจากนี้ เพราะคนเป็นกรรมาธิการวิสามัญแล้ว ไม่ควรพูดจาลักษณะชี้นำหรือข่มขู่ ดังนั้นอยากให้ทบทวนตัวเอง ความเห็นต่างก็ขอให้ไปพูดในที่ประชุมกรรมาธิการ ไม่ใช่มาพูดผ่านสื่อ ถือว่าไม่สมควรจะเข้ามาเป็นกรรมาธิการวิสามัญ

สำหรับรายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อเสนอแนะเชิงนโยบายกรณีการชุมนุมของ นปช.ระหว่างวันที่ 12 มี.ค. - 19 พ.ค.53 นั้น นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า ตนได้อ่านรายงานของกรรมการสิทธิฯ แล้ว รู้สึกรับไม่ได้กับรายงานฉบับนี้ กรรมการสิทธิฯ น่าจะกินยาผิดซอง เพราะรายงานเลือกเพียงบางเหตุการณ์ที่จะนำมาใช้ รวมถึงภาพสถานการณ์ลักษณะเหมือนน่าจะเลือกปฏิบัติ แทนที่จะคุ้มครองสิทธิของผู้ชุมนุมที่มีทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต แต่กลับน่าจะคุ้มครองสิทธิรัฐบาลนายอภิสิทธิ์มากกว่า

ที่สำคัญตนเห็น น.ส.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ รวมถึง นายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอชท์ ประจำประเทศไทย ที่ออกมาวิจารณ์รายงานของกรรมการสิทธิฯ ในทำนองเดียวกันว่าไม่ครอบคลุมในรายละเอียด เพราะแทนที่จะรักษาสิทธิมนุษยชนของประชาชนที่มาร่วมชุมนุมทางการเมือง แต่กรรมการสิทธิฯ ชุดนี้ไม่ได้ทำหน้าที่ให้สมกับภาษีของประชาชน โดยเฉพาะการพูดถึงประชาชนที่เป็นเหยื่อของผู้ชุมนุมจากการบริหารราชการแผ่นดินที่ผิดพลาดของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์

“ผมมองว่ากรรมการสิทธิฯ ยุคที่มี นางอมรา พงศาพิชญ์ เป็นประธาน สอบตกยกชุด ขอเสนอให้ลาออกทั้งชุดจะดีกว่า เพราะการทำหน้าที่ไม่ได้ตอบโจทย์การรักษาสิทธิ ไม่สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน เพราะผลการศึกษาหรือรายงานที่ออกมาไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เสียดายเวลา เสียดายภาษี ที่สำคัญเสียดายความรู้สึกกับกรรมการสิทธิฯ ชุดนี้จริงๆ ที่การแสดงออกแต่ละตั้งตรงข้ามกับความรู้สึกกับประชาชน” นายพร้อมพงศ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น