xs
xsm
sm
md
lg

“ม็อบแมลงสาบ” จอดยกแรก ปชป.สะบัดตูดเอาตัวรอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การ์ตูน แหลเพื่อพี่ หัวเรื่อง ...กูว่าแล้ว ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.manager.co.th เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2556
รายงานการเมือง

ต้องยอมรับว่า กระแสที่ “พรรคประชาธิปัตย์” โหมโรงปลุกเร้าขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา กับการต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ถือว่าใช้ได้ทีเดียว โดยเฉพาะการใช้พื้นที่เวที “ผ่าความจริงวันนี้” ในพื้นที่ กทม.ถึง 4 วันติดต่อกัน เพื่อเรียกแม่ยก-กองเชียร์ออกมารวมพลังต่อต้าน

ด้วยลีลาปราศรัยที่เข้มข้น ดุดัน แบบแตกหัก

อีกทั้งยังมีนิมิตหมายใหม่ของพรรคการเมืองเก่าแก่ที่ประกาศรับบท “แกนนำม็อบ” อย่างเต็มตัว เพราะถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่มีเวทีของพรรคการเมืองปักหลักปราศรัยข้ามคืนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ถือว่าการเปิดตัวในฐานะ “แกนนำม็อบ” ของพรรคประชาธิปัตย์ที่อลังการพอตัว

โดยเฉพาะบรรยากาศที่บริเวณลานกีฬาใต้ทางด่วนอุรุพงษ์ ซึ่งใช้เป็นพื้นที่ปราศรัยในนามเวทีประชาชน “หยุดกฎหมายล้างผิดคิดล้มรัฐธรรมนูญ หยุดเงินกู้ผลาญชาติ หยุดอำนาจฉ้อฉล” ระหว่างวันที่ 5-6 ส.ค.

และต่อเนื่องมาถึงรุ่งเช้าของวันนี้ (7 ส.ค.) เพื่อร่วมเดินเท้าไปยังรัฐสภาส่ง ส.ส.ประชาธิปัตย์เข้าร่วมประชุมสภาฯวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ “พรรคสีฟ้า” เรียกว่า “กฎหมายล้างผิดคนโกง”

เมื่อเวลา 9 โมงเช้าตามนัดหมายได้มาถึง ต้องบอกว่าใครได้ฟังการปราศรัยที่ใต้ทางด่วนอุรุพงษ์เวลานั้น ต้องขนลุกขนพองฮึกเหิมไปตามๆกัน โดยเฉพาะการปลุกอารมณ์มวลชนของ “องอาจ คล้ามไพบูลย์ - สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” ที่หากตกงานไม่ได้เป็น ส.ส.หันมารับจ๊อบเป็น “แกนนำม็อบ” ได้สบายๆ

จนเวลา 9 โมงครึ่งก็ได้ฤกษ์จัดแถวตั้งขบวนเตรียมกรีฑาทัพมุ่งหน้าสู่รัฐสภา ซึ่งนำโดย “ชวน หลีกภัย - อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ - สุเทพ เทือกสุบรรณ - บัญญัติ บรรทัดฐาน” ตามมาด้วย ส.ส.อีกร่วมร้อยชีวิต ซึ่งนำหน้ามวลชนที่ตามมาอย่างหนาตา

จุดนี้เป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์การเมือง ที่ม็อบมี “อดีตนายกฯ” เดินนำหน้าถึง 2 คน

ซึ่ง “ทัพประชาธิปัตย์” ใช้เวลาร่วมชั่วโมงในการเดินทางผ่าน ถ.พระราม 6 เลี้ยวซ้ายที่แยกตึกชัย และมาหยุดที่แยกราชวิถี เพื่อเจรจากับทางตำรวจในการนำมวลชนเข้าไปยังหน้าอาคารรัฐสภา บรรยากาศตลอดสองข้างทางเป็นไปอย่างปกติ มีประชาชนมาโบกมือให้กำลังใจตลอดทาง ไร้วี่แววฝั่งตรงข้ามที่จะมาสกัดขัดขวางอย่างที่คิดไว้ และถือเป็นภาพที่มีพลังอย่างมาก

เมื่อถึงที่หมายตอนแรกมีการประเมินกันว่า พรรคประชาธิปัตย์จะส่งทีมกฎหมายไปเจรจากับทางเจ้าหน้าที่ เพื่อหวังใช้ช่องทางกฎหมายในการกดดันตำรวจให้ปฏิบัติ แต่ก็มีเซอร์ไพรส์เล็กเมื่อ “ขุนพลตัวจริง” ทั้ง “ชวน - อภิสิทธิ์ - สุเทพ - บัญญัติ” ไปเป็นผู้เจรจาด้วยตัวเอง

เมื่อรู้ว่า “คู่เจรจา” เป็น “พ.ต.อ.วิศาล พันธ์มณี” ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 8 (ผบก.น.8) ซึ่งเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในจุดแยกราชวิถี ทีมเจรจาของพรรคประชาธิปัตย์ยื่นคำขาดทันทีว่าต้องการเจรจากับผู้มีอำนาจตัดสินใจ ซึ่งหมายถึง “พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงห์แก้ว” ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เท่านั้น

แต่เมื่อได้รับการปฏิเสธ “ม็อบสีฟ้า” ก็ยื่นคำขาดอีกว่า จะขอนำมวลชนที่ติดตามมาทั้งหมดไปที่หน้าอาคารรัฐสภา ซึ่งแน่นอนย่อมถูกปฏิเสธ จึงต้องขอเจรจานำมวลชนบางส่วนเข้าไปในพื้นที่ พร้อมกำหนดเดดไลน์ 10 นาทีให้ฝ่ายตำรวจตัดสินใจ

เอาเข้าจริง “เงื่อนไข” ทั้งหมดที่ยื่นไปนั้น ทางพรรคประชาธิปัตย์รู้ดีว่า ตำรวจแทบไม่ต้องคิด เพราะยอมรับไม่ได้ และต้องปฏิเสธอย่างแน่นอน จึงเป็นที่มาของการยอมลงแต่โดยดี และผลัดกันขึ้นเวทีปราศรัยชั่วคราวร่ำลาขอบอกขอบใจมวลชนที่มาส่งถึงตรงนั้น และขอให้ทุกคนกลับที่ตั้งติดตามข่าวสารที่บ้านตัวเอง

คำว่า “มักง่าย” คงนิยามช่วงเวลานั้นได้ดีที่สุด

ทำให้นึกย้อนไปถึง “การ์ตูนบัญชาคามิน” ที่ตีพิมพ์ใน “ASTV ผู้จัดการรายวัน” ฉบับวันที่ 1 ส.ค.56 ซึ่งเป็นภาพทางแยกระหว่างการเมืองในสภา กับการเมืองนอกสภา โดยมีตัวการ์ตูนคล้าย “อภิสิทธิ์ - สุเทพ” กับกลุ่มมวลชนที่เดินตามมา และมีคำพูดว่า “เราต้องแยกกันตรงนี้แล้ว ผมกับมาร์คต้องไปสภา พวกคุณเดินไปตรงโน้นเรื่อยๆ... คำรณวิทย์เค๊าคอยต้อนรับพวกคุณอยู่”

ทั้งที่เป็นภาพการ์ตูนที่ออกมาล่วงหน้าร่วมสัปดาห์ ซึ่งตรงกับความเป็นจริงราวกับนั่งทางใน

ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายคาดว่า พรรคประชาธิปัตย์ ต้องใส่เกียร์เดินหน้าสู้นอกสภาอย่างเต็มที่ เพื่อต่อต้านกฎหมายฉบับดังกล่าว เพราะสำเหนียกตัวเองว่าหากไปสู้ในเวทีสภาฯ ก็ไม่มีทางที่จะสู้เสียงข้างมากในสภาได้ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ขอประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง และเตรียมจัดวางกำลังรับมืออย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน

แต่เมื่อถึงวันดีเดย์ กลับไม่เป็นดังที่คาด

มองมุมหนึ่งก็ถือว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังต้องการทำหน้าที่ตามครรลองระบบรัฐสภา และไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวายหรือสูญเสียแต่อย่างไร ถ้าคิดแบบนี้ก็น่านับถือ แต่ก็ไม่ควรออกมาทำท่าเหมือนจะเล่นเกมนอกสภาแบบนี้

ขณะที่อีกมุมหนึ่งถือว่าน่าผิดหวังสำหรับบทบาทการนำมวลชน ที่จู่ๆมาทิ้งทุ่นกันกลางคัน ส่วนตัวเองอ้างว่าขอเข้าสภาฯไปทำหน้าที่ ทั้งๆที่รู้ว่าต่อสู้ในสภาฯพูดปากเปียกปากแฉะให้ตาย อย่างไรก็แพ้อยู่วันยันค่ำ

แต่กลับเอามาใช้เป็น “ข้ออ้าง” ทิ้งมวลชนแบบดื้อๆ
โดยไม่สำนึกถึงคำว่า “รับผิดชอบ” ที่เรียกร้องเชิญชวน “แม่ยก - กองเชียร์” ออกมา ร่วมกันแสดงพลัง แต่กลับปล่อยทิ้งไว้กลางคัน และเมื่อ ส.ส.และแกนนำพรรคทยอยเข้าสู่สภาฯกันหมด บรรดาการ์ดที่จัดเต็มมาก็โดดขึ้นรถกลับ ทั้งๆที่มวลชนบางส่วนยังหลงเหลืออยู่

หลายคนยังรู้สึกว่า มาแสดงพลังกันแบบไม่สุด อารมณ์ค้างกันเป็นทิวแถว

ซึ่งการที่มวลชนที่ยังเหลืออยู่แบบไม่มีแกนนำ และไร้ทิศทาง ถือเป็นเป้าหมายชั้นดีในการสร้างความวุ่นวายของ “มือที่สาม” ยังเคราะห์ดีที่ไม่เกิดเหตุที่ไม่คาดฝันขึ้น

ส่วนมวลชน “กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ” ที่ปักหลักอยู่ที่สวนลุมพินี ซึ่งถูกมองว่าจะมาผสมโรงร่วมทัพกับทางฝั่งเวทีผ่าความจริง ก็ไร้ซึ่งความเคลื่อนไหวใดๆจากที่ตั้ง ด้วยข้อจำกัดในเรื่องจำนวนคนที่น้อยเกินคาด

เรื่องของเรื่องก็เป็นเพราะตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค.ซึ่งเป็นวันแรกของการชุมนุม “กองทัพประชาชนฯ” ก็มีสัญญาณจากฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นระยะในการชักชวนให้มาผนึกกำลังกัน ทั้งการขึ้นเวทีสวนลุมฯของ “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” ส.ส.ฝีปากกล้าของค่ายสีฟ้า หรือการที่ปรากฎ “วินัย สมพงษ์ - สรรเสริญ สมะลาภา” ไปร่วมอยู่ในวอร์รูมของกองทัพประชาชนฯด้วย

รวมไปถึงข่าวการระดมมวลชนจากภาคใต้เข้ามาเสริมกำลังให้แก่กองทัพประชาชนฯ ที่ไร้วี่แววแนวร่วมที่ไม่มาตามนัด

แต่จนแล้วจนรอดกลับไร้สัญญาณที่มีความชัดเจนจากทาง “ค่ายสีฟ้า” ทำให้กองทัพประชาชนฯซึ่งมีข้อจำกัดหลายประการอยู่แล้ว จึงเตรียมการไม่ทันที่จะเคลื่อนมวลชนมาที่หน้ารัฐสภาตามที่ตั้งใจไว้
ทำให้มองได้ว่างานนี้ “ค่ายสีฟ้า” พยายามโหมโรงสร้างกระแส “ปลุกเร้าอารมณ์” หลอกประชาชนให้ลุกขึ้นต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมในทุกรูปแบบ โดยหวังจะยืมมือคนอื่นอีกครั้ง ขณะที่ตัวเองก็เตรียมข้ออ้างเข้าทำหน้าที่ในสภาฯเอาไว้แล้ว

ที่ว่าจะเทหมดหน้าตัก แต่กลับกั๊กไว้

เมื่อมวลชนขาดพลัง พรรคประชาธิปัตย์ไม่แสดงความจริงใจ บทสรุปก็เป็นไปตามเกมของฝ่ายรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่แม้อาจจะถูกพรรคฝ่ายค้านใช้ฝีปากยื้อยุดการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมได้นานหลายชั่วโมงก็ตาม เพราะท้ายที่สุดก็ยากจะต้านทาน “เสียงข้างมาก” ที่รัฐบาลมีอยู่ในมือ

รูปการเป็นแบบนี้ก็เท่ากับว่า รันเวย์ของกฎหมายนิรโทษกรรมจะโล่งไปจนผ่านวาระ 3 ซึ่งก็เกือบจะเป็นกฎหมายสมบูรณ์แบบอยู่แล้ว ถึงเวลานั้นการที่ พรรคประชาธิปัตย์ประกาศจะ “เป่านกหวีดยาว” ให้คนออกมาต่อต้านคัดค้านกลางถนน เล่นการเมืองนอกสภา ก็สายเกินแกงไปแล้ว

ยิ่งวันนี้มีข้อหา “ทิ้งมวลชน” ซึ่งเป็นสิ่งที่รับไม่ได้เลยสำหรับการนำม็อบ แล้วถึงเวลาจริงใครจะเชื่อถืออีก เพราะเล่นสับขาหลอกทั้ง “แกนนำ” ด้วยกันแล้ว ก็ยังหลอก “แม่ยก-กองเชียร์” อีก

ใครก็รู้ว่า “ค่ายสีฟ้า” พร้อมจะแปลงกายสวมบท “แมลงสาบ” มุดหนีเข้าสภาฯ ทิ้งให้ชาวบ้านอยู่ข้างถนนแบบเหงาๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น