“คำนูณ” เสนอมาตรา 154 (1) ให้ประธานรัฐสภาตัดสินใจด้วยการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ชี้เป็นทางออกเดียวช่วยไม่ให้ “ยิ่งลักษณ์” เดินสู่ killing zone พร้อมฝากถึง “ทักษิณ” จะเดินหน้าต่อก็ได้ แต่จะเป็นการผลักน้องสาวตัวเองให้ก้าวสู่ความเสี่ยงครั้งยิ่งใหญ่
วันที่ 26 ก.ย. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวในรายการ “News Hour” ทางเอเอสทีวี ว่าในการลงมติวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว.ในวันเสาร์นี้ ถ้าเป็นไปตามคาดก็คงผ่านด้วยเสียงข้างมาก จากนั้นสถานการณ์จะเป็นไปตามมาตรา 291 (7) คือเมื่อการลงมติผ่านไปแล้วให้ไปสู่รัฐธรรมนูญมาตรา 150, 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม เท่ากับเรื่องจะพ้นมือจากรัฐสภาไปอยู่ในมือนายกฯ ทันที ตนอยากเรียกสถานการณ์นี้ว่าเป็น killing zone เพราะนายกฯ ต้องนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน นับจากวันที่รับร่างจากรัฐสภา ตามมาตรา 150 ถ้าทรงลงพระปรมาภิไธยและพระราชทานกลับคืนลงมาให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อประกาศใช้บังคับต่อไป แต่มาตรา 151 เป็นอำนาจวีโต้ของพระมหากษัตริย์ และเป็นอำนาจยืนยันของรัฐสภา ซึ่งไม่เกิดขึ้นบ่อยนักในประวัติศาสตร์ระบอบประชาธิปไตยของไทย คือ ถ้าไม่พระราชทานคืนลงมาเมื่อพ้นกำหนด 90 วันแล้ว รัฐสภาก็สามารถยืนยันมติเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 เพื่อให้นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ อีกครั้ง และถ้ายังไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยและพระราชทานคืนใน 30 วัน ให้นายกฯ นำ พ.ร.บ.นั้นไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว สถานการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้น และคนไทยคงไม่อยากให้เกิดขึ้น เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ไว้พิจารณาตามกระบวนการ โดยมีการกล่าวหาว่ากระทำผิดตามมาตรา 68 และคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาไม่เสร็จภายใน 20 วัน เพราะคดีมีรายละเอียดมาก นายกฯ จะตัดสินใจอย่างไร จะไม่คำนึงว่าเรื่องอยู่ในศาลนำขึ้นทูลเกล้าฯ เลย ก็จะถูกกล่าวหาได้ว่านำเรื่องที่ยังไม่ปราศจากมลทินขึ้นทูลเกล้าฯ ที่สำคัญคือทำให้พระมหากษัตริย์ต้องทรงเลือกอำนาจอธิปไตยทั้งสาม ระหว่างอำนาจนิติบัญญัติที่ลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.และอำนาจบริหารที่นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ อีกทาง คือ อำนาจตุลาการคือศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งพระองค์ทรงใช้อำนาจผ่านสามองค์กรทั้งสามนี้ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่บังควรเกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน นับเวลาจากที่นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ และถ้าพระราชทานคืนลงมาช้า ซึ่งร่างแก้ไขนี้มันมีเงื่อนเวลาที่ ส.ว.เลือกตั้งร้อนใจอยู่ เพราะจะหมดวาระลงในวันที่ 2 มี.ค. 2557 แล้ว พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ถ้าไม่พระราชทานคืนหรือพระราชทานคืนค่อนข้างช้า สถานการณ์จะเป็นอย่างไร
นายคำนูณกล่าวต่อว่า นับจากวันที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านประธานรัฐสภาสู่มือนายกฯ จะทำให้นายกฯ ตัดสินใจด้วยความยากลำบาก ไม่สามารถลอยตัวได้อีกต่อไป สิ่งที่จะเป็นทางออกทางเดียวที่เหลืออยู่ คือ หลังลงมติวาระ 3 สามารถใช้กระบวนการตามมาตรา 154 ของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 154 (1) เป็นกระบวนการควบคุมการตรากฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็คือ กฎหมายใดที่รัฐสภาเห็นชอบแล้ว ก่อนที่นายกฯ จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกของสองสภานั้นมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ให้เสนอต่อประธานแห่งสภาสมาชิกดังกล่าว แล้วให้ประธานสภาผู้ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยและแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า
แล้วร่างแก้ไข พ.ร.บ.นี้ ถูกกล่าวหาว่าตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมากมายหลายประเด็น เช่น การมีคลิปที่สมาชิกเสียบบัตรแทนกัน ก่อนนั้นก็มีการตัดสิทธิผู้แปรญัตติ หรืออะไรอีกหลายอย่าง เชื่อว่าต้องมี ส.ส. หรือ ส.ว. หรือทั้งสองอย่างต้องยื่นประธานรัฐสภาภายหลังการลงมติวาระสามเสร็จสิ้นลงทันที เมื่อประธานรัฐสภารับเรื่องแล้วต้องพิจารณาว่าจะส่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนี้ให้นายกฯ เลย หรือจะนำคำร้องที่ได้รับหลังลงมติ นำส่งศาลเพื่อวินิจฉัยก่อน การตัดสินใจจะอยู่ที่ประธานรัฐสภาทันที แล้วจะเป็นคีย์แมนสำคัญที่จะตัดหนทางที่นายกฯจะก้าวไปสู่ killing zone
ส.ว.สรรหากล่าวอีกว่า ถ้าประธานรัฐสภาตัดสินใจให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญก่อน ก็จะเป็นทางออกที่ถือได้ว่าบ้านเมืองยังไม่สู่วิกฤต อย่างน้อยที่สุดทำให้รัฐบาลและนายกฯ ยังไม่ต้องตกในสถานการณ์ที่จะไม่ทูลเกล้าฯ ก็ไม่ได้ ทูลเกล้าฯ ไปก็ติดปัญหาเรื่องยังคาอยู่ในศาล เสี่ยงการถูกกล่าวหาว่านำเรื่องยังมิบังควรขึ้นทูลเกล้าฯ
ฉะนั้น มาตรา 154 (1) เป็นทางออกทางเดียวในช่วงเวลาสั้นๆ นี้ ประธานรัฐสภาจะตัดสินใจอย่างไรสำคัญต่อการเมืองไทยอย่างยิ่ง คนที่จะปกป้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ในทางเปิดเผยก็คือ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ส่วนในทางไม่เปิดเผยคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะเดินหน้าต่อไปก็ได้ แต่ก็หมายความว่าได้ผลักดันน้องสาวตัวเองให้ก้าวสู่ความเสี่ยงครั้งยิ่งใหญ่