วันนี้ (20 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เป็นประธานประชุม กบอ.เพื่อติดตามสถานการณ์ฝนตกในหลายพื้นที่หลายจังหวัด โดยมีหน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมชลประธาน เข้าร่วมประชุม จากนั้น นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกฯ และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) ประชุมติดตามสถานการณ์กับผู้ว่าราชการจังหวัดในหลายพื้นที่ อาทิ จ.อยุธยา อ่างทอง บุรีรัมย์ ผ่านระบบคอนเฟอเรนซ์
โดย นายสุพจน์ กล่าวสรุปสถานการณ์ว่า จากการคำนวณของกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า หากมีพายุเข้ามาในประเทศไทย 1 ลูก จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำประมาณ 5,000 ล้านลูกบากศ์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งสถานการณ์ที่แย่สุดคือเข้ามาสองลูกพร้อมกัน ก็จะมีปริมาณน้ำประมาณ 10,000 ล้าน ลบ.ม.แต่ขณะนี้เรามีเขื่อนทั้งประเทศทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ที่สามารถรับน้ำได้ประมาณ 2.7 หมื่นล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือว่าเหลือเฟือ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ว่างในแม่น้ำ และท้องทุ่งอีก ยืนยันว่าสถานการณ์น้ำหลากเหมือนในปี 54 ไม่มีแน่นอน อีกทั้งปริมาณที่คาดการณ์หากเทียบกับปี 2554 แล้วถือว่าน้อยกว่า
นายสุพจน์ กล่าวต่อว่า ส่วนปริมาณน้ำฝนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของระยะเวลา 30 ปี ถือว่าปีนี้น้อยกว่าร้อยละ 13 แต่หากคิดเฉพาะเดือน ส.ค.และ ก.ย.ถือว่ายังสูงกว่า อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า เมื่อสิ้นสุดคืนนี้ (20 ก.ย.) สถานการณ์ฝนจะคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติที่เป็นฝนตามฤดูกาล เนื่องจากความดกอากาศต่ำจะหมดไป และเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศพม่า
ด้าน น.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังอยู่ในภาวะปกติแต่ยังต้องเฝ้าระวังในบางพื้นที่ เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ศรีสะเกษ อุบลราชธานี สุรินทร์ ร้อยเอ็ด นครราชศรีมา ภาคตะวันออก จ.สระแก้ว ปราจีนบุรี จันทบุรี ระยอง ส่วนภาคกลาง ก็จะมีน้ำหลากในบางพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำ เช่น อ.บางบาล อ.เสนา อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา และ อ.ป่าโมกข์ จ.อ่างทอง ซึ่งเป็นเรื่องปกติของพื้นที่ เพราะเป็นวิถีชีวิต จึงมีการสร้างบ้านที่ยกสูงและสามารถหาปลาได้
ทั้งนี้ นายยุคล กล่าวด้วยว่า กบอ.ได้ตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญที่มีทั้งนักวิชาการ และมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และหากจังหวัดใดต้องการผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ เพื่อให้คำแนะนำ กบอ.พร้อมจะส่งไป พร้อมทั้งอุปการณ์ในการช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 22 ก.ย.นายปลอดประสพ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเริ่มต้นที่ท่าน้ำเทศบาลปากเกร็ด จ.นนทบุรี ไปยัง อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา