xs
xsm
sm
md
lg

ยืมมือ “กฤษฎีกาฯ” ฟอกขาว “บีอาร์เอ็น”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา
รายงานการเมือง

ตั้งแต่ผ่านพ้น “เดือนรอมฎอน” จวบจนตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคมที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา”ผบ.ทบ. ออกมาแถลงจุดยืนของ “กองทัพ” ไม่รับ 5 ข้อเสนอของ “ฮัสซัน ตอยิบ”ตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นที่นำเสนอผ่านเว็บไซต์ยูทิวบ์ ต้องบอกว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าสูโหมด “สงบ” มีเหตุปะทะกันประปราย การก่อความไม่สงบลดน้อยลงมาก

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 10 กันยายนเรื่อยมากลับเริ่มมีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นเกือบทุกวันอย่างผิดสังเกต

เหมือนเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่า “สงคราม” กลับมาแล้ว!

โดยเป้าหมายของกลุ่มก่อความไม่สงบยังโฟกัสตรงไปที่ “เจ้าหน้าที่รัฐ” เหมือนเดิมเพื่อแสดงศักยภาพให้รับรู้ว่าเป็นฝีมือของ “กลุ่มไหน”

ในห้วงที่ผ่านมาเหมือนการ“พูดคุยสันติภาพ”จะสะดุดหยุดลงชั่วคราว แต่ใน “ทางลับ” แล้ว “นายใหญ่มอนเตฯ” ยังคงต่อสายพูดคุยกับ“เบอร์หนึ่งมาเลเซีย”อยู่ตลอดเวลาเพื่อหาทางออกและกำหนดเกมให้ “คณะพูดคุยสันติภาพ” ปรับขบวนเดินกันใหม่

โดย “เบอร์หนึ่งมาเลเซีย” สั่งการผ่าน “ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม” อดีตเลขาธิการสำนักข่าวกรองมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติภาพ

ส่วน “นายใหญ่มอนเต” เดินเกมผ่าน “พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร” เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพ

เพื่อยื่นข้อเสนอใน “ทางลับ” ให้กันและกัน

ซึ่งหากย้อนกลับไปเนื้อหา 5 ข้อเสนอของ “ฮัสซัน ตอยิบ” ผ่านเว็บไซต์ยูทิวบ์มีดังนี้

1. ให้การพูดคุยสันติภาพเป็นการพูดคุยระหว่างตัวแทนนักสู้เพื่อสันติภาพปาตานี นำโดยกลุ่มบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทย

2. ให้มาเลเซียเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยเจรจา

3. ให้ตัวแทนชาติอาเซียน โอไอซี (องค์การความร่วมมืออิสลาม) และเอ็นจีโอ (องค์กรพัฒนาเอกชน) เป็นสักขีพยานในการพูดคุยสันติภาพ

4. ให้ไทยยอมรับการมีอยู่และอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดในการปกครองของรัฐปาตานีมาเลย์บนผืนแผ่นดินปาตานี

และ 5. ให้ปล่อยตัวนักโทษที่ถูกคุมขังด้วยเหตุผลทางการเมืองและยกเลิกหมายจับทั้งหมด

ถือเป็นข้อเสนอที่แรงมากโดยเฉพาะข้อ 4. ซึ่งอาจส่งผลสะเทือนต่ออำนาจอธิปไตยของ “ประเทศไทย” ในการบริหารจัดการพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 5 อำเภอของจังหวัดสงขลา

เพราะเนื้อหาในข้อ 4 คือธงนำในการ “พูดคุยสันติภาพ” ที่ไม่มีทางหลีกพ้น “เขตปกครองพิเศษ” ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับโต๊ะพูดคุยสันติภาพว่าจะออกแบบในรูปแบบใด

ซึ่งภายหลังที่ “ฮัสซัน ตอยิบ”ยื่นข้อเสนอผ่านเว็บไซต์ยูทูปแล้วก็ได้จัดส่งเอกสารเป็นรูปเล่มมายัง “ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม” ก่อนที่จะส่ง “ภาษาอังกฤษ” ซึ่งมีข้อความหลายอย่างสุ่มเสี่ยงมายัง “พล.ท.ภราดร” ที่เก็บงำเอกสารเอาไว้

ซึ่งเหตุที่ต้องเก็บเงียบไว้เพราะเนื้อหาข้อเสนอของ “บีอาร์เอ็น” แปลออกมาแล้วเป็น “ผลลบ” ต่อ “ประเทศไทย” เป็นอย่างมาก

โดยคำที่สุ่มเสี่ยงอย่างมาคือในเอกสารระบุถึง “สิทธิของความเป็นรัฐมลายู” เมื่อสุ่มเสี่ยงแต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ “พล.ท.ภราดร” จึงทำหนังสือสอบถามความหมายที่ชัดเจนของคำที่สุ่มเสี่ยงต่อ “ฮัสซัน ตอยิบ” โดยผ่านทาง “ดาโต๊ะสรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม”คนเดิม

ซึ่งว่ากันว่า “คำตอบ” เป็น “เอกสาร” อย่างเป็นทางการของ “ฮัสซัน ตอยิบ” ได้ส่งผ่าน “ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม” มายัง “พล.ท.ภราดร” แล้วเมื่อต้นเดือนกันยายน

โดย “พล.ท.ภราดร” ยังเก็บทุกอย่างไว้เป็น “ความลับ” อีกเช่นเคย

แต่เมื่อมีความเคลื่อนไหวหลุดออกมาทั้ง “ทางลับ” และ “ทางสื่อ” จากเดิมที่ “คณะพูดคุยสันติภาพ” ประกอบด้วย “พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก” รองนายกรัฐมนตรี “พ.ต.อ.ทวีสอดส่อง”เลขาธิการศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ “พล.ท.ภราดร” เดินเกมบุก “ถ้ำเสือ” เหยียบเข้าไปใน “กองทัพบก” ขอคำตอบจากปาก “พล.อ.ประยุทธ์” ว่ารับข้อเสนอข้อไหนได้บ้าง

ผลออกมาคือท่าทีที่แข็งกร้าวไม่ต่างกับเวลาที่อาละวาดใส่นักข่าว

ทำเอา “พล.ต.อ.ประชา-พ.ต.อ.ทวี-พล.ท.ภราดร” โดนตอกหน้าหงายเงิบออกมางดให้สัมภาษณ์-งดพูดถึงท่าที “กองทัพ” ปล่อยให้ “พล.อ.ประยุทธ์” โชว์เดี่ยวไม่เอาข้อเสนอ “บีอาร์เอ็น” แม้แต่ข้อเดียว

มาเที่ยวนี้ “พล.ต.อ.ประชา-พ.ต.อ.ทวี-พล.ท.ภราดร” ปรับแผน นำ 5 ข้อเสนอของ “บีอาร์เอ็น” ที่ส่งรายละเอียดอธิบาย “คำสุ่มเสี่ยง” มาเพิ่มเติมให้กับ“คณะกรรมการกฤษฎีกา”ตรวจสอบความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการตามข้อเสนอ

ที่สำคัญศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายว่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่โดยเฉพาะข้อเสนอของ “บีอาร์เอ็น” ที่เรียกร้อง “สิทธิในการปกครองตนเอง” ว่าจะผิด “รัฐธรรมนูญไทย” หรือไม่

พูดได้ว่า “พล.ต.อ.ประชา-พ.ต.อ.ทวี-พล.ท.ภราดร” หวังยืมมือ “กฤษฎีกา” หาช่องว่างทางกฎหมายเพื่อหาทางออกให้ 5 ข้อเสนอของ “บีอาร์เอ็น” ด้วย

พูดง่ายๆ คือ ต้องการใช้ “กฤษฎีกา” สร้างความชอบธรรมให้ 5 ข้อเสนอที่ว่าสามารถกระทำได้โดยไม่ขัด “รัฐธรรมนูญไทย” ก่อนจะหอบคำวินิจฉัยของ “กฤษฎีกา” ไปพูดคุยให้ “กองทัพ” ยอมรับกรอบการดำเนินการอีกครั้งหนึ่ง

เรื่องนี้ “วงในหน่วยงานความมั่นคง” คาดกันว่าหากมีคำอธิบายที่พอยอมรับได้“กองทัพ” ก็ไม่อาจขัดขวางการยอมรับ 5 ข้อเสนอของ “บีอาร์เอ็น” ได้เหมือนกัน

หลังจากนี้จับตาสถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะมีเหตุรุนแรงควบคู่กันไปกับการพิจารณา 5 ข้อเสนอของ “บีอาร์เอ็น”

และยิ่งใกล้วัน “พูดคุยสันติภาพ” ที่กำหนดคร่าวไว้กลางเดือนตุลาคมเท่าไรสถานการณ์ยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

ต้องจับตาการพิจารณาของ “กฤษฎีกา” เรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะหากชี้ว่า 5 ข้อเสนอของ “บีอาร์เอ็น” ไม่ขัดกฎหมายสูงสุดของไทยก็เท่ากับ “ฟอกขาว” ให้ “บีอาร์เอ็น” ไปโดยปริยาย

เท่ากับพลิกโฉมหน้าสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้อีกทั้งยังอาจจะชี้ชะตาไปถึง “แผ่นดิน-อธิปไตย” ของไทยด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น