xs
xsm
sm
md
lg

“เติ้ง” ไม่เข็ดเตรียมโผล่ชวน “มาร์ค” ร่วมปฏิรูป - เชิญ “มีชัย” ร่วมวงปาหี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พงศ์เทพ เทพกาญจนา (แฟ้มภาพ)
จับตา “เติ้ง” โผล่อ้อน “มาร์ค” ร่วมเวทีปฏิรูป 16 ก.ย.นี้ “พงศ์เทพ” ชี้ไม่เหมาะถ่ายทอดสด อ้างจะถูกหวังผลทางการเมืองมากกว่าคุยด้วยเหตุผล เผยส่งเทียบเชิญ “มีชัย ฤชุพันธุ์” แล้ว โวยุคสมัยเปลี่ยนการเมืองร้อนแรงขึ้น ความขัดแย้งทำไทยแสดงศักยภาพได้ไม่เต็มที่ ชู “รบ.ปู” เร่งผลักดันปฏิรูปลบรอยร้าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ย. เวลา 13.30 น. ที่อาคารไทยซัมมิททาวเวอร์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะผู้ประสานงานสภาปฏิรูป จะเข้าหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในวันที่ 16 ก.ย.นี้ว่า ก็ต้องรอดู แต่การขอให้มีการถ่ายทอดสดในการหารือนั้นก็ต้องเป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกัน และปกติการพูดทำนองนี้จะไม่มีการออกอากาศสด เพราะจะทำให้เป็นเรื่องการแสดงไป เหมือนกรณีแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่หารือกับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์แล้วมีการถ่ายทอดสด ก็ทำให้การเจรจาแทนที่จะเป็นไปด้วยเหตุผล กลับไปคำนึงถึงส่วนได้เสียทางการเมือง

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากการเดินทางพบปะที่ผ่านมานายบรรหารบ่นท้อหรือไม่ นายพงศ์เทพกล่าวว่านายบรรหารยังไม่เคยบ่นว่าท้อให้ตนฟัง เมื่อถามว่าจะมีการทาบทามบุคคลร่วมหารือเพิ่มหรือไม่ นายพงศ์เทพกล่าวว่า มีหนังสือเรียนนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีไปแล้ว แต่หลายคนก็ไม่สะดวก ทั้งนี้ในการหารือสภาปฏิรูปครั้งต่อไปในเดือน ต.ค. แต่ในส่วนของการหารือกลุ่มย่อยจะมีขึ้นเร็วกว่านั้น

นายพงศ์เทพบรรยายหัวข้อ “ประเด็นการบริหารราชการแผ่นดินร่วมสมัย” หลักสูตรบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับนักบริหารระดับสูง ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ตอนหนึ่งว่า ภายหลังประเทศไทยได้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ได้มีการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาตรวจสอบมากมาย ไม่ได้แต่เพียงตรวจสอบรัฐบาล แม้กระทั่งศาลหรือหน่วยงานต่างๆ ก็ถูกตรวจสอบด้วย แต่การที่จะหาบุคคลที่จะเข้ามานั้นยาก แต่สมัยนั้นเชื่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา แต่พอมาใช้จริงๆสิ่งที่คิดไว้ไม่ตรงตามนั้นเท่าไหร่ คนที่ศาลฎีกาให้มาไม่ตรงกับที่ต้องการเท่าไหร่ แถมทัศนะคติในการคัดเลือกก็แปลกแทนที่เลือกคนที่เก่งที่สุดเหมาะกับองค์กรนั้นมาอยู่ คนดีๆหลายคนก็ไม่อยากออกมา เหตุผลการคัดเลือกแล้วแต่ตุลาการแต่ละคนก็มีหลายต่อหลายอย่าง ไม่เฉพาะแค่เลือกบุคคลให้เหมาะสมแต่เลือกเพราะไม่อยากให้คนคนนั้นขัดขวางความเจริญก้าวหน้าก็มี

นายพงศ์เทพกล่าวอีกว่า กลไกต่างๆที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มีกลไกหลายกลไกที่ทำให้การบริหารประเทศมีความไม่แน่นอน อย่างเช่นการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ เพราะแต่เดิมสัญญาที่ต้องเปลี่ยนแปลงเขตของรัฐต้องผ่านสภาฯ แต่ตอนหลังอะไรนิดหน่อยก็ต้องผ่านสภาฯทั้งหมด แต่ปกติการทำสัญญากับใครจะเปิดไต๋ให้เขารู้ไหมก่อนที่จะเจรจา ในเมื่อต้องเข้าสภาฯทั้งหมดเขาก็รู้หมด ทำให้เราเสียเปรียบ ส่งผลต่อการบริหารประเทศอย่างมาก รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตั้งใจที่จะให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ ให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไม่มีใครรู้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หน้าตาออกมาอย่างไร มีแต่ผู้ที่เป็นตัวแทนของประชาชนที่เข้ามาเป็น ส.ส.ร.เท่านั้น เขาไม่ได้เปิดช่องให้ค้านถึงแม้จะอ้างมาตรา 68 เพราะเขาไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญมาก้าวล่วงฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ศาลก็ให้ไปทำประชามติ ทำให้ ส.ส.-ส.ว.ไปแก้เป็นรายมาตราแทน และที่เพิ่งเสร็จวาระ 2 ไปก็เรื่องแก้ที่มา ส.ว.

นายพงศ์เทพกล่าวว่า ปัจจุบันความคิดทางการเมืองรุนแรงกว่าสมัยก่อนเยอะ สมัยก่อนคนที่เข้ามาทำงานการเมืองต่างช่วยกันทำหน้าที่ อาจจะเพราะว่าเห็นเป็นสิ่งแปลกใหม่ แต่ปัจจุบันต่างกันการแข่งขันสูงขึ้นและทำให้ประเทศมีปัญหาความขัดแย้ง ทำให้ตอนนี้รัฐบาลมีเวทีปฏิรูปขึ้นเพื่อเชิญคนกลุ่มต่างๆ รวมทั้งคนที่มีความขัดแย้งมาพูดคุยกัน ซึ่งต้องมีเวทีให้คนเหล่านี้มารับฟังกัน เพราะหากไม่พบกันก็ไม่มีโอกาสหาความเห็นร่วมได้ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็พยายามเปิดเวทีโดยให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วม และย้ำว่าต้องมองอนาคตประเทศ ตนเชื่อว่าคนทั้งหลายในสังคมต้องการเห็นการปฏิรูปหรือการปรองดอง ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพทั้งประชากร ฝีมือแรงงาน ภูมิประเทศ ที่ผ่านมาประเทศเปล่งศักยภาพได้ไม่เต็มที่เพราะมีความขัดแย้งในประเทศ

นายพงศ์เทพกล่าวต่อว่า ปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งในประเทศคือปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว มีพื้นฐานอยู่ที่คุณภาพรวมของคนทั้งหมด ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง ดังนั้นจึงขึ้นอยู่ว่าเราจะพัฒนาคุณภาพคนได้อย่างไร รวมทั้งพัฒนาระบบคัดเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถมาดูแลคนที่ไม่มีความรู้ เพราะขณะนี้มีการทุจริตในหลายองค์กร


กำลังโหลดความคิดเห็น