“ประชา” เรียกประชุม ศปก.กปต.ด่วนถก 5 ข้อเสนอบีอาร์เอ็น “ภราดร” ยืนยันยังไม่รับข้อเสนอใดๆ มอบกฤษฎีกา บัวแก้ว ศึกษารายละเอียดขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เผยเหตุยิง 5 ตำรวจปัตตานี เป็นภัยแทรกซ้อนจากขบวนการค้าของเถื่อน สมช.เตรียมชง ครม.ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 90 วัน เล็งยกเลิก อ.กาบัง นำร่องหากสถานการณ์เบาบางลง
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ (12 ก.ย.) พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) เรียกประชุม ศปก.กปต.เป็นการเร่งด่วน จากกำหนดการเดิมที่จะมีการประชุมในวันที่ 13 ก.ย.เพื่อพิจาณา 5 ข้อเสนอบีอาร์เอ็นหลังจากผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซีย ส่งรายละเอียดมาให้ โดยมี พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร เสนาธิการทหารบก พล.ท.สกล ชื่นตระกูล แม่ทัพภาคที่ 4 พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 (ศปป.5) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดยใช้เวลาประชุมนานกว่า 1 ชั่วโมง
พล.ท.ภราดร กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการสนับสนุนงบประมาณในงานความมั่นคง และการพัฒนา กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีการรายงานความคืบหน้าของการพูดคุยสันติภาพ กับกลุ่มบีอาร์เอ็น และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ฝ่ายเลขาฯ ได้รายงานว่า มีการส่งเอกสารข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อ ของกลุ่มบีอาร์เอ็นผ่านทางผู้อำนวยความสะดวกทางมาเลเซีย เป็นภาษาอังกฤษ เป็นจำนวน 34 หน้าเข้ามา ซึ่งถือว่าเราได้รับรู้ข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการแล้ว ขณะนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ กอ.รมน.ส่วนกลาง ได้วิเคราะห์ข้อเรียกร้องดังกล่าวอยู่ รวมถึงศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จะนำข้อเสนอดังกล่าวไปหารือกับภาคประชาชน และนักวิชาการเพื่อหาคำตอบ และจะนำเข้าหารือใน ศปก.กปต.อีกครั้ง เพื่อให้คณะพูดคุยนำไปเป็นแนวทางในการพูดคุยครั้งต่อไป ซึ่งคาดว่าข้อสรุปจะออกมาทันการพูดคุยในครั้งต่อไป ช่วงสัปดาห์วันที่ 3 ต.ค.หรือประมาณวันที่ 20 ต.ค.
เลขาธิการ สมช.กล่าวว่า สำหรับข้อเรียกร้องของกลุ่มบีอาร์เอ็น ทั้ง 5 ข้อ ที่ทางบีอาร์เอ็นได้เสนอข่าวออกมาว่า ฝ่ายเราพอจะรับได้ 4 ข้อ แต่ข้อเท็จจริง เรายังไม่ได้รับข้อเสนอใด เราเพียงรับฟังเท่านั้น และอยู่ในกลไกระหว่างการพิจารณา แสวงหาคำตอบ โดยเฉพาะข้อที่ 4 ที่ขอให้ยอมรับเชื้อสายชาวมลายูปัตตานี ต้องมาวิเคราะห์ความชัดเจนก่อน ส่วนข้อ 5 ที่ต้องการให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังในคดีความมั่นคง ยืนยันว่าเรายึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม และตรงนั้น เกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ทั้ง ตำรวจ อัยการ ศาล เมื่อถึงกระบวนการศาลแล้ว รัฐบาลจะไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้ หัวข้อนี้ก็เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถดำเนินการได้ทันที ต้องพูดคุยในกระบวนการยุติธรรมก่อน
พล.ท.ภราดร กล่าวว่า การศึกษาข้อเสนอทั้ง 5 ข้อ ขณะนี้ศึกษาแล้วประมาณร้อยละ 90 แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวมีการอ้างถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญเข้ามาด้วย จึงต้องดูว่าที่เขาอ้างมานั้นถูกต้องหรือไม่ จึงต้องหารือกับ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานกฤษฎีกา และหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อความชัดเจนทางกฎหมาย และยืนยันว่า เรายังไม่ได้รับข้อเสนอ เพียงแต่เป็นการรับฟังไว้เท่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากรับข้อเสนอดังกล่าว จะสามารถปฏิบัติได้เลยหรือไม่ เลขาธิการ สมช.กล่าวว่า ถ้ามีการรับข้อเสนอ จะเป็นการรับในหลักการ และก็ต้องมีการพูดคุยกันต่อ เพราะถึงอย่างไรเราก็ยังไม่สมารถนำมาปฏิบัติได้ทันที ทั้งนี้ในช่วงที่เราพยายามหาทางออกร่วมกัน แต่กลุ่มบีอาร์เอ็น ยังคงก่อเหตุอยู่นั้น สะท้อนให้เห็นว่า เขามีปัญหาความเป็นเอกภาพ และการพูดคุย ทำให้เรารู้อะไรมากขึ้น แต่ก็ต้องพัฒนาต่อไป
ส่วนข้อเสนอของไทยที่ขอให้ลดการก่อเหตุในพื้นที่ ยังไม่เป็นผลนั้น พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ในการพูดคุยครั้งต่อไป จะมีการพูดถึงการก่อเหตุในเดือนรอมฎอน และหลังจากนี้เราจะชี้แจงกับกลุ่มบีอาร์เอ็นให้หยุดพูดกลางอากาศ ให้พูดผ่านกระบวนการ และหลังจากนี้จะต้องพัฒนาการข้อเรียกร้อง จากไม่ให้มีการก่อเหตุในพื้นที่ต่อไปอีก แต่ขณะนี้ต้องพยายามทำให้ไม่มีการณ์เหตุก่อน ซึ่งมีการเตรียมเนื้อหาการขยายข้อเรียกร้องของฝ่ายเราไปแล้ว เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงว่าที่จริงแล้ว เขาต้องการอะไร เพราะอาจจะมีอะไรซ่อนอยู่ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้
ผู้สื่อข่าวถามถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ พล.ท.ภราดร กล่าวว่า การลอบยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจ เสียชีวิต จำนวน 5 นาย ที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 11 ก.ย. นั้น เป็นการกระทำของกลุ่มภัยแทรกซ่อน อาทิ กลุ่มค้าน้ำมันเถื่อน ยาเสพติด และ ค้าของเถื่อนต่างๆ แต่มีความสำพันกับกลุ่มกระบวนการอยู่ เพราะผู้ปฏิบัติการมักใช้กลุ่มเดียวกัน ซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรง แต่ผู้ปฏิบัติการอาจใช้กองกำลังของฝ่ายกระบวนการ เพราะเขาพร้อมรับงานเพื่อเป็นรายได้
ส่วนเหตุระเบิด ที่ อ.เมือง จ.ยะลา อยู่ในขั้นตอนสอบสวนว่าสาเหตุที่แท้จริงมาจากอะไร เพราะอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการ ทั้งนี้ในที่ประชุมได้ย้ำ ไปยังแม่ทัพภาคที่ 4 ที่เข้าร่วมประชุมด้วย ให้เฝ้าระวังสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เพื่อเตรียมการรักษาความปลอดภัย โดยใช้การปฏิบัติการเชิงรุก และเราต้องเฝ้าระวังไม่ประมาท เพราะตระหนักดีว่าไม่ต้องการให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น เพราะเป้าหมายอยู่ที่เจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนี้ ในที่ประชุม ศปก.กปต. พล.ท.สกล ชื่นตระกูล แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ยืนยันว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยขณะนี้อยู่ในการปฏิบัติการลักษณะเชิงรุก
พล.อ.ภราดร กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 ก.ย. สมช.เตรียมนำเสนอ ครม.ขอขยายการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกไปอีก 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.-19 ธ.ค.56 ขณะเดียวกัน ได้มีการเตรียมประเมินสถานการณ์ใน 5 อำเภอ ได้แก่ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี อ.เบตง อ.กาบัง จ.ยะลา และ อ.แว้ง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส หากสถานการณ์เบาบางลงสามารถยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ทันที โดยเฉพาะ อ.กาบัง ที่จะมีการนำมาเป็นอำเภอนำร่องในการยกเลิกประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานด้านความมั่นคงเห็นตรงกันว่า มีความพร้อมที่จะยกเลิกได้ในช่วงระยะเวลาหลังจากนี้