“สดศรี” เผย กกต.จัดประชุมผู้บริหารพรรคการเมือง 56 ให้อภิปรายสภาปฏิรูป เชิญ “อุทัย-ชายจืด-มาร์ค” จ้อ หวังฟังความเห็นหลายฝ่าย เชื่อ รบ.รอฟัง แจงสำนวนคดียุบ ภท.เสร็จไม่ทัน กกต.อยู่ครบวาระ แต่ตัดสินได้เหตุทำหน้าที่รอชุดใหม่ รับไม่สบายใจข้อมูลรั่ว ไม่รู้ข้อเท็จจริงปมสอบปากคำ ชี้อนุ กก.ซี้คน ภท.ไร้ผล แนะไปสู้ศาล รธน. งง กกต.ฟันอาญา “ศิริโชค” แต่ไม่ให้เลือกผู้ว่าฯ กทม.ใหม่ ชี้เหมือนมีมติครึ่งใบ
วันนี้ (3 ก.ย.) นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมืองและออกเสียงประชามติ กล่าวว่า ในวันที่ 10 ก.ย.นี้ ที่สำนักงาน กกต.จะจัดประชุมผู้บริหารพรรคการเมืองประจำปี 2556 ทางด้านกิจการพรรคการเมือง จะได้จัดให้มีการอภิปรายเรื่อง “ประเทศไทยได้อะไรจากสภาปฏิรูปการเมือง” โดยจะมีการเชิญนายอุทัย พิมใจชน อดีตประธานรัฐสภา นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ คนที่ 26 และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ คนที่ 27 เข้าร่วมอภิปราย ซึ่งการอภิปรายดังกล่าวมุ่งหวังที่จะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานพรรคการเมือง ประชาชน ได้รับฟังความคิดเห็น ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย กับการมีสภาปฏิรูปการเมือง รวมทั้ง การมีสภาปฏิรูปการเมืองจะทำให้เกิดประโยชน์อะไรกับประเทศชาติ และทางออกของประเทศคืออะไร
นางสดศรียังกล่าวอีกว่า การจัดเวทีดังกล่าวของ กกต. ซึ่งมีการเชิญนายอภิสิทธิ์มาร่วมอภิปรายไม่ได้เป็นการชี้ว่าเวทีนี้มีความคิดเห็นกับเวทีสภาปฏิรูปของรัฐบาล แต่ กกต.เห็นว่าปัญหาบ้านเมืองมีความคิดเห็นที่แตกเป็นสองฝ่าย จึงควรที่จะนำฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มาร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบเหตุผลว่าทำไมฝ่ายหนึ่งเห็นด้วย และอีกฝ่ายถึงไม่เห็นด้วยกับสภาปฏิรูป โดยคิดว่าการจัดเวทีลักษณะดังกล่าวน่าจะเป็นประโยชน์และให้การเมืองเกิดความสมานฉันท์ได้ ทั้งนี้เชื่อว่ารัฐบาลจะรับฟังความคิดเห็นที่จะได้จากเวทีดังกล่าว
นางสดศรีกล่าวถึงกรณีที่นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นเสนอต่อที่ประชุม กกต. ให้มีการสอบเพิ่มเติมในคำร้องยุบพรรคภูมิใจไทยว่า ในการประชุม กกต.เมื่อวันที่ 2 ก.ย. นายทะเบียนฯ แจ้งความเห็นของนายทะเบียนฯต่อประชุม ว่าสำนวนที่อนุกรรมการไต่สวนคดีนี้มีข้อบกพร่อง 4-5 ประการ ที่เป็นประเด็นสำคัญ จึงอยากให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม โดยนายทะเบียนฯ ไม่ได้นำสำนวนมาให้ในที่ประชุมพิจารณา ซึ่งที่ประชุมก็เห็นว่านายทะเบียนฯ อยู่ในฐานะที่ตรวจสำนวนและมีหน้าที่โดยตรง จึงได้มีมติเลื่อนการพิจารณาคำร้องดังกล่าวตามความเห็นของนายทะเบียนฯ อย่างไรก็ตาม แม้สำนวนดังกล่าวอาจสอบสวนเพิ่มเติมไม่เสร็จก่อนวันที่ 20 ก.ย.นี้ ที่ กกต.ชุดนี้จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง ก็คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาในการพิจารณา เพราะตามกฎหมายแล้วให้ กกต.ชุดนี้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี กกต.ชุดใหม่ ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่พิจารณาคำร้องต่างๆ ได้ปกติ จึงเชื่อว่าคดีและสำนวนร้องคัดค้านอื่นๆ ที่ยังค้างอยู่ จะพิจารณาได้เสร็จก่อน กกต.ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่
เมื่อถามว่า อนุกรรมการไต่สวนไม่สามารถสอบปากคำนายทรงกลด ไชยแก้ว ผู้ร้องคดีนี้ได้ แต่กลับไปสอบนายธนชาติ แสงประดับ ธรรมโชติ แทน และปรากฏข่าวนายธนชาติ สนิทสนมกับหนึ่งในคณะอนุกรรมการไต่สวน จนเกิดกระแสข่าวการรั่วไหลของสำนวน นางสดศรีกล่าวว่า กรณีสำนวนรั่ว ทาง กกต.ก็ไม่สบายใจ และได้สั่งให้สำนักงาน กกต. สอบสวน เนื่องจากกระทบภาพลักษณ์ของสำนักงาน ส่วนที่อนุกรรมการไต่สวน ไม่สามารถสอบปากคำนายทรงกลดได้ เป็นข้อเท็จจริงในสำนวนที่ กกต.แต่ละคน ยังไม่ทราบ เพราะนายทะเบียนฯ ไม่ได้มีการแจกสำนวนให้พิจารณา แต่การที่จะกล่าวว่าคณะอนุกรรมการไต่สวนมีความไม่เป็นกลางในการสอบสวน ตนก็อยากจะขอความเป็นธรรมให้กับคนทำงาน เพราะในชั้นนี้ยังไม่มีใครเห็นหนังสือร้องเรียนให้เปลี่ยนตัวอนุกรรมการไต่สวน จากพรรคภูมิใจไทยเลย และการที่จะกล่าวหาก็ต้องมีพยานฐานค่อนข้างชัดเจนว่าไม่อนุกรรมการไต่สวนมีความไม่สุจริตอย่างไร อีกทั้งถ้าเป็นไปตามที่ปรากฏทางสื่อ อนุกรรมการไต่สวนมีมติเสียงข้างมาก เสนอให้มีการยุบพรรคภูมิใจไทย เท่ากับว่าหนึ่งเสียงที่สนิทสนมกับคนในพรรคภูมิใจไทยไม่ได้มีผลต่อมติเสียงข้างมาก เพราะไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียงกับพรรคภูมิใจไทย
อย่างไรก็ตาม อยากที่จะให้พรรคภูมิใจไทยและสังคมรอผลการสอบสวนเพิ่มเติมและการมีความเห็นของนายทะเบียนฯ ก่อน เพราะหากที่สุด กกต.มีความเห็นเสนอให้ยุบพรรคภูมิใจไทย ก็ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ซึ่งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็อาจจะไปสู้ที่ชั้นศาลว่าการไต่สวนไม่ชอบก็ได้ แต่ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวไม่ได้มีอะไรซับซ้อน เป็นเพียงแต่การสอบว่าพรรคได้มีการรายงานค่าใช้จ่ายครบถ้วนหรือไม่ ถ้าครบก็ยก และไม่ครบก็ผิด
นางสดศรีกล่าวต่อถึงกรณีนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่ง กกต.มีมติให้ดำเนินคดีอาญา เนื่องจากโพสต์ภาพเผาบ้านเผาเมือง ช่วงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า ไม่เคยได้รับเชิญให้มาชี้แจงต่อ กกต.ก่อนมีมติว่า ตามรายงานของอนุกรรมการสืบสวนคดีนี้ ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา ผู้ถูกร้องทุกคนและให้มีการชี้แจงแล้ว เว้นแต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถูกต้องคดีดังกล่าว ที่อนุกรรมการฯ ไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา แต่เมื่อ กกต. มีมติยกคำร้อง จึงไม่เป็นปัญหา อย่างไรก็ตาม ในกรณีมีมติสั่งดำเนินคดีอาญาต่อนายศิริโชค แต่ไม่มีการสั่งเลือกตั้งใหม่ ผู้ว่าฯ กทม. หรือให้ใบเหลือง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร นั้น ยังเป็นข้อสงสัยของหลายฝ่าย รวมถึงตนด้วย เพราะอนุกรรมการฯ มีมติเสียงข้างมากเสนอให้ยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่า ไม่เห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นการใส่ความ ให้เกิดการเข้าใจผิดในคะแนนนิยม ซึ่งในการประชุม กกต. กกต.หนึ่งเสียงก็มีมติเห็นตามอนุกรรมการฯ เสนอ คือให้ยกคำร้อง แต่มีสองเสียงเห็นว่า ให้ดำเนินคดีอาญาเพียงอย่างเดียว ขณะที่อีก 2 เสียงเห็นว่าให้ดำเนินคดีอาญาและสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเมื่อรวมมติแล้วกลายเป็นเสียงมากให้ยกคำร้อง แต่สั่งดำเนินคดีอาญาต่อนายศิริโชค
“การโพสต์ภาพเผาบ้านเผาเมือง ในเฟสบุคส่วนตัวนายศิริโชค ไม่ได้มีเพียงข้อความ แต่มีภาพของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคเพื่อไทย และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 53 ซึ่งนายศิริโชคเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และส.ส.และขณะนั้นมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่พรรคประชาธิปัตย์ส่งผู้สมัครลงสมัคร ดังนั้นส่วนตัวมองว่าถ้าจะดำเนินคดีอาญา ตามมาตรา 118 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นต่อนายศิริโชค ก็ต้องทำไปพร้อมกับการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะถือว่าการโพสต์ภาพดังกล่าว ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้ประโยชน์จากการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นความผิดตามมาตรา 57 ของ พ.ร.บ.เดียวกัน ตามที่มีการกล่าวหา ถ้าจะมองว่าเป็นการหมิ่นประมาทปกติตามประมวลอาญา เรื่องนี้สองเสียงข้างมากที่ให้ดำเนินคดีอาญาต้องยกคำร้องเลย แล้วให้ผู้เสียหายไปฟ้องร้องหมิ่นประมาทกันเอง ไม่ใช่มาสั่งดำเนินคดีอาญาในความผิดตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น แต่ไม่สั่งใบเหลือง ผู้ว่าฯ กทม. เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีเช่นนี้ มันเหมือนมีมติเพียงครึ่งใบ