ปัญหาของแพงปะทุขึ้นมาคราวใด แม่ค้าข้าวแกงกลายเป็นผู้ร้ายทุกที ด้วยข้อหาว่า ทำให้ประชาชนเดือดร้อนด้วยการฉวยโอกาสขึ้นราคา ดังนั้น จึงต้องมีมาตรการควบคุมราคา ห้ามขายเกินราคาที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด ใครฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุก ราวกับอาชญากร ที่ทำความผิดร้ายแรง
ในความเป็นจริง ข้าวแกงเป็นสินค้าปลายน้ำที่สะท้อนราคาของสินค้า วัตถุดิบกลางน้ำและต้นน้ำ ซึ่งประกอบกันเป็นข้าวแกงหนึ่งจาน ข้าวแกงต้องขึ้นราคา เพราะวัตถุดิบทุกชนิด และค่าแรงขึ้นราคา
ล่าสุดคือ แก๊สหุ้งต้ม จะขึ้นราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้ แม่ค้าข้าวแกง จึงถูกยัดเยียดให้รับบทผู้ร้ายอีกครั้งหนึ่ง
น.ส.นพพร ลิ้นทอง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2556 กรมฯ จะส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบราคาอาหารทั่วประเทศ หลังจากที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือนทั่วประเทศเดือนละ 50 สต./กิโลกรัม (กก.) เป็นเวลา 6 เดือน หรือจาก 18.13 บาท เป็น 24.82 บาท/กก. เพื่อป้องกันไม่ให้ร้านอาหารและร้านขายข้าวแกงฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา เนื่องจากได้มีผลการศึกษาว่าการปรับราคาแอลพีจีไม่ได้กระทบต่อต้นทุนอาหารมากนัก
หากพบว่าร้านอาหารร้านใดแอบฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาอาหารในลักษณะค้ากำไรเกินควรก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ
ข้าวแกงเป็นสินค้าที่มีการแข่งขันกันอย่างสมบูรณ์ในตลาด เพราะมีทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค จำนวนมากแข่งกันขาย แข่งกันกิน ไม่มีใครที่มีอำนาจผูกขาด สามารถกำหนดราคาได้ตามใจชอบ
ตามหลักพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ ข้าวแกงจึงป็นสินค้าที่กลไกตลาดทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ราคาข้าวแกงจึงสะท้อนความเป็นจริงในทางเศรษฐกิจได้ดีที่สุด การควบคุมราคาข้าวแกงของกระทรวงพาณิชย์ ถ้าพูดด้วยภาษาของลัทธิตลาดเสรีก็คือ การบิดเบือนกลไกตลาดนั่นเอง
แต่เพราะแม่ค้าข้าวแกงเป็นคนตัวเล็กๆ ไม่มีป่ากเสียง ไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น จึงต้องถูกควบคุมราคา ห้ามขายแพง ใครฝ่าฝืนติดคุก
ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้เช่นกัน คนกรุงเทพฯ ที่ต้องใช้ทางด่วน ต้องจ่ายค่าผ่านทางเพิ่มขึ้นอีก 5 บาท เพราะ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ บีอีซีแอล ขอขึ้นค่าผ่านทาง และกระทรวงคมนาคม เห็นด้วย ไม่คัดค้าน ถึงแม้ว่า จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชน ในยามที่ค่าครองชีพแพง
การปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษเป็นไปตามสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ซึ่งกำหนดให้วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2541 และทุกระยะเวลา 5 ปี นับจากนั้น เป็นวันพิจารณาปรับอัตราค่าผ่านทางฯ และให้อัตราค่าผ่านทางที่ปรับใหม่มีผลบังคับใช้ภายใน 6 เดือน นับแต่วันพิจารณาปรับอัตราค่าผ่านทาง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการปรับอัตราค่าผ่านทางมาแล้ว 3 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2541, 2546 และ 2551
บริษัททางด่วนกรุงเทพ มีรายได้ค่าผ่านทางวันละประมาณ 20 ล้านบาท จากปริมาณรถที่ใช้ทางด่วนวันละ 1 ล้านคัน ปีที่แล้ว บริษัทมีกำไรสุทธิ 2,254 ล้านบาท 6 เดือนแรกของปีนี้ มีกำไรแล้ว 3,714 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีกำไร 1,464 ล้านบาท ถึง 150 เปอร์เซ็นต์
การที่บีอีซีแอลมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมากมายเช่นนี้ เป็นเพราะนโยบายรถคันแรกของรัฐบาล ที่ทำให้ปริมาณการใช้ทางด่วนเพิ่มขึ้น บริษัทคาดการณ์ว่า ผลดำเนินงานปีนี้ น่าจะถึง 5 พันล้านบาท หรือกำไรเพิ่มขึ้นจากปีก่อนไม่ต่ำกว่า 100 %
ถ้ารัฐบาลไม่อนุมัติให้ขึ้นค่าทางด่วนอีก 5 บาท เพื่อช่วยกระชากค่าครองชีพ ตามที่หาเสียงไว้ บีอีซีแอล. ก็ไม่เดือดร้อนแต่ประการใด เพราะได้กำไรมากมายมหาศาลอยู่แล้ว แต่ด้วยข้ออ้างว่า เป็นไปตามสัญญา บีอีซีแอล ซึ่งกำไรมากมายมหาศาลอยู่แล้ว ก็จะยิ่งกำไรมากขึ้นไปอีก แต่คนกรุงเทพ ซึ่งถูกมัดมือชกจากสภาพการจราจร และจากการตัดสินใจของรัฐบาลที่อ้างว่า ต้องขึ้นค่าทางด่วนตามสัญญา ต้องจ่ายค่าทางด่วนเพิ่มขึ้นอย่างน้อยวันละ 10 บาท โดยไม่มีอะไรดีขึ้น เพราะยังต้องใช้เวลาการเดินทางเท่าเดิม หรืออาจจะมากกว่าเดิมบนทางด่วน
ปีที่แล้ว รัฐบาลช่วยอุ้มบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ โดยลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จาก 30 % เหลือ 23 % ปีนี้ จะได้ลดอีกจาก 23 % เหลือ 20 % บีอีซีแอล เป็นบริษัทหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ และปีนี้ ยังจะได้โบนัสเพิ่มจากรัฐบาลอีก คือได้ขึ้นค่าทางด่วนอีก 5 บาท
ผู้ถือหุ้นใหญ่บีอีซีแอล คือ กลุ่มบริษัท ช.การช่าง รองลงมาคือ เครือธนาคารกรุงเทพ
ทางด่วนเป็นบริการสาธารณะที่มีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติ ส่วนข้าวแกงเป็นสินค้าที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ในตลาดเสรี แต่เนื่องจาก ผู้ถือหุ้นบีอีซีแอล และแม่ค้าข้าวแกง แม้จะเป็นคนไทยเหมือนกัน แต่มาจากชนชั้นที่ต่างกัน รัฐบาลจึงเลือกวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกัน