รมว.เกษตรฯ เผยข้อสรุปถกชาวสวนยาง ชดเชยไร่ละ 1,260 บ. ไม่เกิน 10 ไร่ รอถก กนย.หลังขอเพิ่ม 25 ไร่ ชี้ส่วนใหญ่พอใจ ไม่รับปากไม่มีชุมนุมใหญ่ พร้อมตั้งงบฯ 2 หมื่นล้านให้เกษตรกร-อุตสาหกรรมยาง อ้างม็อบที่ชะอวดไร้แกนนำจึงไม่ลงไปคุย แนะปรับความคิดใหม่ อ้างกำหนดราคายางเองไม่ได้ ต้องยึดกลไกตลาด
วันนี้ (29 ส.ค.) นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการหารือกับตัวแทนเกษตรกรยางพาราเพื่อแก้ปัญหาราคายางตกต่ำว่า เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยได้ข้อสรุปว่ารัฐบาลจะช่วยค่าชดเชยให้เกษตรกรไร่ละ 1,260 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยหมื่นกว่าบาท ส่วนเกษตรกรขอต่อรองขยายค่าชดเชยเพิ่มเป็น 25 ไร่นั้น ต้องนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) อีกครั้ง
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการกลั่นกรองเพื่อพิจารณาข้อเสนอของ กนย. ได้ตั้งงบประมาณให้เกษตรกรกู้ยืมวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท แบ่งให้เกษตรกรกู้ยืม 5 พันล้านบาท ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) และให้อุตสาหกรรมยางกู้อีก 15,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน และขอยืนยันว่า ในการประชุมเมื่อวันที่ 28 ส.ค.ไม่มีการวอลค์เอาท์ออกจากที่ประชุมตามที่ปรากฏเป็นข่าว
ส่วนการไม่เอาผิดต่อเกษตรกรที่มาชุมนุมปิดถนนนั้น มอบให้นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปประสานเพื่อแก้ปัญหาให้แล้ว โดยข้อสรุปที่ได้จากการประชุมเมื่อวานนี้ ตัวแทนเกษตรส่วนใหญ่พอใจกับหลักการในระดับหนึ่ง แต่ไม่กล้ารับปากว่าจะมีการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 3 ก.ย.อีกหรือไม่ แต่จะช่วยไปพูดคุยทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ โดยเฉพาะ จ.นครศรีธรรมราชให้
“ผมเชื่อว่าเกษตรกรจะไปพูดคุยทำความเข้าใจกันเองได้ และการที่ผมไม่ลงพื้นที่ไปเจรจากับชาวสวนยางที่ จ.นครศรีธรรมราช เนื่องจากการชุมนุมที่ จ.นครศรีธรรมราชไม่มีแกนนำ ไม่รู้จะไปคุยกับใคร ต่างคนต่างมีความต้องการของตัวเอง คุยไปก็ไม่จบ จึงต้องให้เกษตรกรไปคุยกันเอง ผมก็ไม่กล้ารับปากว่าจะไม่มีการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 3 ก.ย. เดี๋ยวจะหาว่าไปท้าทายกัน แต่เชื่อว่าสถานการณ์จะเบาบางลงในระดับหนึ่ง” นายยุคล กล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าเกษตรกรชาวสวนยางพาราบางส่วนยังไม่พอใจผลการแก้ปัญหาที่ออกมา นายยุคลกล่าวว่า เกษตรกรต้องปรับวิธีคิดใหม่ เพราะรัฐบาลได้หามาตรการช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นตามที่ต้องการแล้ว ถ้ายังคิดว่าต้องการได้ยางพาราตามราคาที่ต้องการนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะจะกระทบต่อกลไกการตลาด ประเทศไทยไม่ใช่ผู้กำหนดราคายาง หากยังไปคิดว่าต้องได้ราคาตามที่ต้องการ ในที่สุดก็จะถูกกดราคายิ่งขึ้นอีก ซึ่งขณะนี้มียางพาราค้างสต๊อกอีกจำนวนมาก ถ้าไปกำหนดราคาว่าต้องได้ 100 บาทต่อกิโลกรัม แล้วถ้าไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ใครจะรับผิดชอบ