xs
xsm
sm
md
lg

นายกสมาคมสวนยางกระบี่ ลั่นไม่ร่วมชุมนุมใหญ่กับม็อบสวนยาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระบี่ - นายกสมาคมชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ เผยรอดูท่าทีรัฐบาลหลังประชุม ครม.ก่อนกำหนดท่าทีเรียกร้องราคายาง-ปาล์มตกต่ำ ยันวันที่ 3 ก.ย.นี้ ยังไม่เข้าร่วมชุมนุมใหญ่ เหตุภาครัฐรับหลักการตามข้อเรียกร้องเบื้องต้นไปแล้ว

วันนี้ (29 ส.ค.) นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมชาวสวนยางพาราจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า จากภาวะราคายางพาราที่ตกต่ำลงมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปี 2555 เป็นต้นมา ล่าสุด วันนี้ราคายางพารา ยางแผ่นดิบอยู่ที่กิโลกรัมละ 76 บาท แม้ว่าขณะนี้ราคาจะขยับขึ้นมาเล็กน้อย แต่ชาวสวนยางพารายังคงเดือดร้อน เนื่องจากราคายังต่ำว่าต้นทุนของเกษตรกร คือ อยู่ที่ประมาณ 84 บาท/กิโลกรัม แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ตัวแทนเครือข่ายสวนยางพาราแห่งประเทศไทยได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการกลั่นกรองนโยบายยางธรรมชาติ เพื่อหามาตรการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ

อีกทั้งเมื่อวานนี้ (28 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ที่ประชุมก็รับข้อเสนอของเครือข่ายชาวสวนยาง และได้มีมติเห็นชอบโครงการแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบปี 2557 ตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) โดยในส่วนของเกษตรกรรายย่อยนั้น รัฐจะช่วยเหลือสนับสนุนในด้านปัจจัยการผลิต เช่น ในรายที่มีสวนยางพาราไม่เกิน 10 ไร่ จะได้รับเงินสนับสนุนไร่ละ 1,260 บาท ส่วนเกษตรที่มีมากกว่า 10 ไร่ แต่ไม่เกิน 25 ไร่ จะได้เงินสนับสนุนไร่ละ 1,200 บาท มาตรการดังกล่าวเชื่อว่าจะทำให้เกษตรกรอยู่ได้ในระดับหนึ่ง

นายกสมาคมชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการแก้ปัญหาในระยะยาวนั้น ได้เสนอให้รัฐบาลทำการแปรรูปยางที่ค้างอยู่ในสต๊อก จำนวน 210,000 ตัน มาใช้ในประเทศ เช่น มาใช้เป็นส่วนผสมการทำถนนลาดยาง และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยในส่วนของการทำถนนนั้น ได้นำร่องไปแล้วที่ภาคใต้ที่จังหวัดกระบี่เป็นอันดับแรก เชื่อว่า มาตรการดังกล่าวจะทำให้ราคายางพาราขยับขึ้นมาอย่างแน่นอน และจะยังไม่เข้าร่วมชุมนุมใหญ่ที่ กทม.ในวันที่ 3 ก.ย.56 นี้ เนื่องจากทางรัฐบาลได้รับข้อเสนอไปแล้ว และจะนำข้อสรุปทั้งเสนอเข้า ครม.ในสัปดาห์หน้า ซึ่งทางเครือข่ายฯ ก็จะรอดูท่าทีของรัฐบาลต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสมาคมชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ มองว่า ในส่วนของเกษตรกรที่ยังมีการชุมนุมเรียกร้องให้มีการประกันราคายางอยู่ที่กิโลกรัมละ 100-120 บาท นั้น ตนมองว่าไม่น่าจะเป็นไปเป็นไปได้ เพราะไม่มีปัจจัยส่งผลให้ราคาในตลาดเพิ่มสูงขึ้น ถึงแม้ว่าไทยจะเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ แต่ไม่สามารถควบคุมราคายางได้ และราคายางในตลาดโลกยังถูกกำหนดโดยผู้ซื้อ ดังนั้น การกว้านซื้อยางในราคาดังกล่าวเพื่อนำตลาดตามเงื่อนไขของเกษตรกร จะส่งผลให้รัฐบาลมีภาระสต๊อกที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังจะส่งผลให้ราคาดิ่งลงไปอีกเนื่องจากสต๊อกยางเพิ่มขึ้น
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น