นายกฯ และ รมว.กห.พบผู้นำศาสนายะลา ขอเป็นกำลังใจร่วมเป็นสื่อกลางสร้างความเข้าใจให้ชาวบ้าน นำสันติสุขยั่งยืน ยันรัฐหวังเปลี่ยนความระแวงเป็นเชื่อใจกัน พร้อมรับฟังทุกฝ่ายเสนอทางแก้
วันนี้ (26 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.30 น. นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ รมช.มหาดไทย นำคณะผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจังหวัดยะลา จำนวน 100 คน เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวตอนหนึ่งในโครงการส่งเสริมโครงการพัฒนาประสิทธิภาพและเสริมสร้างความสัมพันธ์ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดยะลา ว่า รัฐบาลขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมกันทำงาน สร้างการมีส่วนร่วม และเป็นสื่อกลางในกระบวนการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในการเกิดสันติสุขอย่างยั่งยืน รัฐบาลทราบดีว่าเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่พร้อมเข้าไปแก้ปัญหา สร้างความเข้าใจในพื้นที่ทำให้สถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายไปในทางที่ดี รัฐบาลต้องขอบคุณทุกคนที่เสียสละเวลาทุ่มเทช่วยนำเจตนารมณ์ของรัฐบาลไปบอกกับประชาชน ทั้งนี้รัฐบาลพร้อมรับฟังและทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดความสงบ สันติสุข และความเจริญไปสู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลได้เร่งดำเนินการ คือการเร่งนำสันติสุข การสร้างความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชน นอกจากนี้ยังได้น้อมนำยุทธศาสตร์ตามกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา เพื่อใช้เป็นหลักในการทำงานเพื่อให้เกิดสันติสุขอย่างยั่งยืน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้เน้นโครงการการมีส่วนร่วม การรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาในการสร้างความเสมอภาคตามหลักสิทธิมนุษยชน เปลี่ยนจากความหวาดระแวงมาเป็นความไว้เนื้อเชื่อใจ เกิดความสบายใจและความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกัน รัฐบาลตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายของสังคมและวัฒนธรรมด้วย รัฐบาลให้ความสำคัญขององค์กรศาสนาทั้งในและนอกประเทศ เช่น องค์กรความร่วมมืออิสลาม หรือโอไอซี สันนิบาตมุสลิมโลก รวมถึงกิจกรรมทางวิชาการเพื่อกระชับความสัมพันธ์ มีการพบปะกับทูตานุทูตของประเทศมุสลิมตามโอกาสต่างๆ
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ส่วนการแก้ปัญหาภายในนั้น รัฐบาลได้ส่งเสริมสร้างความเข้าใจให้แก่สถาบันและบุคคลทางศาสนา ทั้งระดับสำนักจุฬาราชมนตรี คณะกรรมการกลางอิสลามจังหวัด คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด โรงเรียนและครูผู้สอนศาสนา การสนับสนุนพิธีต่างๆ การละศีลอด สำหรับด้านภาษาและชีวิตท้องถิ่นรัฐบาลส่งเสริมการจัดรายการวิทยุ โทรทัศน์เพื่อเป็นสื่อกลางโดยใช้ภาษามาลายู รวมทั้งการส่งเสริมวิถีชีวิต วัฒนธรรมของคนในพื้นที่เพื่อเป็นจุดแข็งทางภาษา รวมทั้งการร่วมกันเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ส่วนงานพัฒนารัฐบาลก็มีการยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยสนับสนุนงบประมาณให้เด็ก เยาวชน และประชาชนให้เข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน การสร้างขวัญกำลังใจให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษามาขึ้น การกระจายอำนาจการปกครองก็พยายามตอบสนองความต้องการในพื้นที่ การปรับปรุงกฎระเบียบกฎหมายให้เท่าเทียม และรัฐบาลได้บูรณาการเสริมสร้างพัฒนาเศรษฐกิจในโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเส้นทางให้มีความปลอดภัย การพัฒนาฐานรายได้ใหม่
“นอกจากนี้เราได้ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะมาเลเซียเพื่อพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ให้มีการพัฒนาโดยเฉพาะอาชีพต่างๆ รัฐบาลมุ่งเน้นการให้ความสำคัญพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เน้นการสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา รัฐบาลอยากเห็นประชาชนร่วมกันในการดูแลตนเอง และอยากเห็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งถ้าเราร่วมกันสร้างพลังให้เกิดความเข้มแข็ง ก็เชื่อว่าพื้นที่ชายแดนภาคใต้จะเป็นพื้นที่ที่น่าอยู่ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้เน้นเรื่องการดูแลความปลอดภัยอย่างเดียว แต่เน้นด้านการพัฒนาควบคู่กัน” นายกรัฐมนตรี กล่าว