xs
xsm
sm
md
lg

“จ้อน” ฉะแก้ที่มา ส.ว.สนองการเมือง ภาวนา กมธ.เสียงข้างมากกลับใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอลงกรณ์ พลบุตร (แฟ้มภาพ)
“อลงกรณ์” ซัดกรรมาธิการเสียงข้างมากแก้ รธน.ที่มา ส.ว. เห็นโลกแค่ครึ่งเดียว ชี้เวทีปฏิรูปการเมืองเดินหน้าได้ต้องหยุดแก้ รธน.ทุกฉบับ ด้าน “ตวง” เสนอเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ป้องกันการครอบงำจากนักการเมือง ขณะที่ “สามารถ” ยันแก้ไข รธน.ทำตามคำแนะนำศาลยันเป็นอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติแก้ไข รธน.ได้ทั้งฉบับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 22 ส.ค.เมื่อเวลา 20.00 น. ที่รัฐสภา นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่าในสมัยรัฐบาลที่ผ่านมามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือ การแก้วิธีการเลือกตั้ง และการแก้ไขมาตรา 190 แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ โดยเฉพาะเรื่องที่มา ส.ว.จากการเลือกตั้งทั้งหมด กลับมีความเคลือบแคลงจนผ่านวาระ 1 รับหลักการ และมีการแก้ไขเพิ่มเติมไม่ใช่ในส่วนที่มา ส.ว. และยังแก้ไขในมาตรา 111, 112 และมาตราที่ 4 มาตรา 5 ในเรื่องรายละเอียดวิธีการเลือกตั้งอีก ทั้งที่การเลือกตั้ง ส.ว.ต้องมีความชอบธรรม ยึดโยงประชาชน และต้องปราศจากการเมือง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นสภาลูกเลี้ยงที่มาจากพรรคการเมือง

อย่างไรก็ดี ตนไม่ปฏิเสธ ส.ว.จะมาจากการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่ผิดคือ คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากเห็นโลกแค่ครึ่งเดียว วันนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีประสิทธิภาพ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการยอมรับความเชี่ยวชาญชำนาญการในวิชาชีพ แต่ฝ่ายนิติบัญญัติพยายามมองด้านเดียวเพื่อตอบสนองความต้องการทางการเมือง ทั้งนี้ การที่รัฐบาลเดินหน้าเวทีปฏิรูปทางการเมือง ตนเห็นด้วยกับหลักการ แต่การจะประสบความสำเร็จและแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้นั้นจะต้องหยุดการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ไม่ได้สร้างให้ประเทศดีขึ้น แต่กลับมาทำให้สภาอยู่ในกำมือการเมือง ซึ่งเราจะต้องทำให้ประชาธิปไตยไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่งก่อน จึงหวังว่า กมธ.เสียงข้างมากจะทบทวนและสมาชิกจะสงวนคำแปรญัตติของตน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ต่อมานายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การแก้ไขที่มาของ ส.ว.มีความสำคัญยิ่งกับสังคมไทย เพราะมีอำนาจในการถอดถอนองค์กรอิสระในศาล โดยจะชี้ให้เห็นการแก้ไขที่ยึดโยงกับประชาชน ส่วนการได้สว.ที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ไม่ใช่ประเด็น แต่ที่แปรญัตติขัดมาตรา 112 โดยไม่ต้องตีความ และประการที่ไม่เห็นด้วยคือการแก้ไขที่เกินเลย ให้จากที่มีสิทธิแล้วไม่มีสิทธิ เนื่องจากมาตรา 112 สมาชิกวุฒิสภาต้องมีความเป็นอิสระทางการเมือง และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและเชี่ยวชาญเพราะต้องไปถอดถอนและแต่งตั้งคนในองค์กรอิสระ ซึ่งมีความสำคัญมาก โดยตนเห็นว่าหากอยากให้มีการเลือกตั้งยึดโยงกับประชาชนก็ให้มีการเลือกตั้งบัญชีเดียว เรียงลำดับจากมากไปหาน้อยไปเลย เพื่อป้องกันการครอบงำจากนักการเมืองในพื้นที่

เราต้องการ ส.ว.ที่มีความอิสระแตกต่างจาก ส.ส.ไม่อย่างนั้นก็จะได้คนที่มาจากฐานเสียงเดียวกันพื้นที่เดียวกันคุณสมบัติเดียวกัน ส่วนในประเด็นที่ระบุว่า ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง โดยมีประเด็นสำคัญที่มาตรา 112 ว่าให้พ่อแม่พี่น้องลงสมัครได้เลย ขัดต่อหลักการเบื้องต้น เพราะใช้อำนาจที่ตนมีอยู่เพื่อตนเองและพวกพ้องนี่คือปัญหาของประเทศที่แท้จริง อยากให้ประธานทบทวนการแปรญัตติของตน และอย่าพาสมาชิกรัฐสภาเดินตามท่านไป ไม่อย่างนั้นจะส่งผลให้มีการถอดถอนดำเนินคดีต่อประธานในภายหลังได้

ด้านนายสามารถ แก้วมีชัย ประธานกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว. ยืนยันว่าอำนาจนิติบัญญัติเป็นอำนาจของรัฐสภาตามมาตรา 291 เรามีอำนาจแก้ไขทั้งฉบับ ตราบใดที่ไม่แก้ 2 เรื่อง คือ เรื่องการล้มล้างการปกครองจากพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเปลี่ยนระบอบการปกครองจากรัฐเดี่ยวเป็นสหพันธรัฐ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เดินตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากเรื่องนี้ไปให้ศาลวินิจฉัย ก็ไม่รู้ว่าศาลจะวินิจฉัยเรื่องอะไร ก่อนประธานจะสั่งปิดการประชุมสภาในเวลา 21.30 น.


กำลังโหลดความคิดเห็น