“สุรพงษ์” จ้อแทน “ยิ่งลักษณ์” อ้างเชิญผู้นำต่างชาติสอนปฏิรูปแนวคิดนายกฯ หลังไปเยือนต่างแดน บอกแค่ให้เล่าประสบการณ์ โอดเสียใจถูกโจมตีจ้าง “โทนี แบลร์” 20 ล้าน ยันไม่จริงแต่ไม่พูดเสียเท่าไหร่ ระบุแพงค่าโฆษณา ทำห่วงไม่อยากให้เหมือนอียิปต์ เผยเชิญไป 11 มาแค่ 3 เย้ยโลกไม่เชื่อถือยุคอภิสิทธิ์ ยังป้อง “ทักษิณ” โดนการเมืองเล่น ชี้ “ปู” บินนอกเพราะเขาเชิญไป ชูเจ้าตัวดึงดูดต่างชาติเที่ยว โอ่ไปแอฟริกาหวังช่วยเหลือ แนะแดนพีระมิดเรียนรู้แบบอย่างไทย ปูดยุคสุรยุทธ์ปิดข่าวโลกแบน เดี๋ยวแฉแน่หลังไมค์
วันนี้่ (18 ส.ค.) เมื่อเวลา 08.00 น. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมดำเนินรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ โดยกล่าวถึงกรณีการจัดเวทีสภาปฏิรูปการเมืองว่า แนวคิดเรื่องปาฐกถาพิเศษที่นายกรัฐมนตรีได้ดำริให้ตนไปดำเนินการตั้งแต่ต้นปี ก่อนที่จะพูดถึงสภาปฏิรูปการเมืองจะอธิบายความเป็นมาตอนที่ตนได้ร่วมคณะกับท่านนายกรัฐมนตรีเวลาเยือนประเทศต่างๆ ได้มีโอกาสไปพบผู้นำ ประธานรัฐสภาในแต่ละประเทศ เห็นว่าความมั่นคงของประเทศนั้นจะดำเนินการได้ ถ้าประเทศเราเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ ในขณะเดียวกันทุกครั้งที่เดินทางไปเยือนประเทศต่างๆ ผู้นำแต่ละประเทศไทยสถานะภาพปัจจุบันของประเทศไทยเป็นอย่างไร เพราะเคยมีความวุ่นวายมาก่อน
นายสุรพงษ์กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีชี้แจงรายละเอียดว่าถ้ารัฐบาลสามารถทำให้คนไทยหันหน้าเข้าหากัน อยู่กันด้วยความสงบไม่เกิดความขัดแย้ง รัฐบาลควรจะทำอย่างไร ท่านก็ดำริว่าเป็นไปได้หรือไม่ไปเชิญประเทศที่มีประสบการณ์ที่เคยเกิดความขัดแย้งภายในประเทศคล้ายๆ กับเรา และช่วงหนึ่งที่ไปประเทศไอซ์แลนด์ก็มีโอกาสได้ไปพูดคุยกับผู้นำและรัฐมนตรีของเขาก็นำแนวคิดนี้มาหารือกับท่านนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีบอกว่าจัดเวทีหรือไม่ เชิญคนที่มีประสบการณ์ ที่มีความรู้ในเรื่องการปรองดอง และนำประสบการณ์ของเขามาเล่าให้เราฟัง เวลาเล่าต้องเล่าให้สังคมไทยได้ฟัง นอกจากนี้ยังได้บัญชาให้กระทรวงการต่างประเทศให้ไปจัดทำรูปแบบมา จะเชิญใครบ้างก็เป็นที่มาของเวทีปาฐกถาพิเศษ บังเอิญเราตั้งใจจัดช่วงนี้ เพราะได้มีการเตรียมการมา 6-7 เดือน มาลงตัวช่วงนี้พอดี ไปตรงกับที่ท่านนายกรัฐมนตรีพูดเรื่องสภาปฏิรูป คนเลยนำไปโยงกันว่ารัฐบาลจะไปเชิญผู้นำต่างประเทศมาร่วมเวทีสภาปฏิรูป ไม่ใช่คนละเวที
เมื่อถามว่า เป้าหมายเวทีสภาปฏิรูปการเมืองที่รัฐบาลคาดหวังว่าจะได้จากเวทีปาฐกถาพิเศษ โดยผู้นำต่างประเทศ นายสุรพงษ์กล่าวว่า ถ้าจัดเวทีนี้ขึ้นมา และมีการถ่ายทอดสดผู้นำแต่ละประเทศก็จะเล่าสิ่งต่างๆ เขาจะพูดถึงประสบการณ์ที่เกิดในประเทศเขา ประเทศที่เขาเคยไปร่วมแก้ไขปัญหาจนเกิดความสงบสันติสุขกลับคืนสู่ประเทศเหล่านั้น เศรษฐกิจ สภาแวดล้อมต่างๆ ก็ดีขึ้น คนไทยก็จะได้เรียนรู้ในสิ่งเหล่านี้ ได้ฟังไปพร้อมๆ กัน และผู้นำเหล่านี้เขามาและเขามีความจริงใจที่อยากจะนำข้อมูลเหล่านี้มาเป็นข้อมูลทางวิชาการให้คนไทยได้เรียนรู้ ถือว่าเป็นประโยชน์ สำหรับสังคมโลกว่าคนเหล่านี้เขาทำงานเพื่อสังคม เพื่อประชาคมโลก และบางท่านก็มีค่าใช้จ่ายแพง แต่บางท่านไม่มีเลย ท่านทำด้วยใจถือว่าเป็นวิทยาทาน
“สิ่งที่ผมเสียใจมากที่สุด คือ วันนี้การที่นำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นโจมตีว่ารัฐบาลไปเชิญมา หรือจ้างมา 20-30 ล้าน ซึ่งไม่เป็นความจริง ผมอยากเห็นการเมืองหรือการเล่นกับประเด็นเหล่านี้ให้เกิดความรอบคอบให้ใช้สติในการที่จะพูดอะไรออกมา เพราะการพูดลักษณะนี้อาจจะทำให้เกิดความแตกแยก ความไม่เข้าใจ รัฐบาลก็บริหารใช้งบประมาณต่าง ๆ เนื่องจากเป็นเงินภาษีประชาชน รัฐบาลระมัดระวังมาก และรัฐบาลต้องการหารายได้เข้าประเทศ รัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้ง ต้องการให้เศรษฐกิจของเราก้าวต่อไป และเป็นหนึ่งในประชาคมอาเซียน รัฐบาลเคยเป็นผู้นำอาเซียน รูปแบบตัวอย่างดี ๆ ก็อยากจะนำเสนอให้อาเซียนได้เป็นที่ยอมรับเราด้วย รัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์เหมือนที่ประเทศอียิปต์ อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องการ เพราะฉะนั้นการจัดรัฐบาลก็เชิญหลายคน” นายสุรพงษ์กล่าว
นายสุรพงษ์กล่าวต่อว่า รัฐบาลเชิญไปทั้งหมด 11 คน เช่น นายโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร อันนี้ตอบรับเรียบร้อย 2. นายมาร์ตติ อะห์ติซารี อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ อันนี้ก็ตอบรับเรียบร้อยแล้ว 3. นายซูซิโล บัมบัง ยุทโธโยโน ประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนปัจจุบัน รัฐบาลส่งหนังสือเชิญไปแต่ท่านไม่สามารถมาได้ 4. นายโฮเซ รามอส ฮอร์ตา ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติ และหัวหน้าสำนักงาน United Nations Integrated Peacebuilding Office in Guinea - Bissau (UNIOGBIS) อันนี้ก็ติดภารกิจ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสร้างสรรค์สันติภาพ ผู้นำเหล่านี้อาจจะมารอบ 2 หรือ รอบ 3 รัฐบาลไม่ได้จัดครั้งเดียว อันนี้รอบแรกคือวันที่ 2 กันยายน 2556 ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี
นายสุรพงษ์กล่าวว่า 5. นางฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ภรรยาของท่านประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน ถ้าเชิญท่านประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน ค่าใช้จ่ายแพง หลาย 10 ล้าน อันนี้ท่านติดภารกิจ ท่า6.นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ อย่างที่เป็นข่าวว่าท่านจะมา พอดีท่านติดภารกิจ 7.นายอาร์ชบิชอบ เดสมอนต์ ตูตู ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2527 อันนี้ก็มีชื่อเสียงในเรื่องปรองดอง ไม่สามารถมาได้ 8. นายลักดาร์ บราฮิมี ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติเพื่อสันติภาพในซีเรียและสันนิบาตอาหรับ อันนี้ก็ไม่ได้มา อาจจะมารอบต่อไป 9. นางแมรี โรบินสัน อดีตประธานาธิบดีไอร์แลนด์ และประธานมูลนิธิ Mary Robinson Foundation Climate Justice 10. นางพริซิลลา เฮย์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านและที่ปรึกษาอาวุโสของ Centre for Humanitarian Dialogue (HDC) อันนี้ตอบรับมา และนางเอมมา ทอมป์สัน นักแสดงรางวัลออสการ์ที่สนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชน อันนี้เป็นผู้นำที่สำคัญทั้งหมด 11 คน เชิญหมดแล้ว
เมื่อถามย้ำว่า สรุปแล้ววันที่ 2 กันยายน 2556 มีมาใครบ้าง นายสุรพงษ์กล่าวว่า มี 3 คน นอกจากนั้นจะมีระดับผู้เชี่ยวชาญที่เชิญก็จะมีนายเยนส์ ออร์บัค อดีตรัฐมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนของสวีเดน และเลขาธิการของ Olof Palme International Centre ของสวีเดน 2. ศาสตราจารย์สตีเฟน สเตทแมน อดีตผู้อำนวยการ Global Commission on Elections Democracy and Security 3. นายไมเคิล วาทิคิโอทิส ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของ HDC 4. นายเคนท์ ฮาร์สเต็ดท์ สมาชิกรัฐสภาสวีเดน และศาสตราจารย์อมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล นี่ก็จะเป็นผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการที่จะมาเปิดเวทีเสวนาในช่วงบ่ายของวันที่ 2 กันยายน 2556
นายสุรพงษ์กล่าวต่อว่า สำหรับช่วงเช้าจะเป็นนายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดเวที และอดีตผู้นำทั้ง 3 ท่าน จะพูดเล่าประสบการณ์ต่างๆ สิ่งที่เขาเห็นในประเทศต่างๆ ที่เกิดความขัดแย้ง ความวุ่นวาย ความไม่สงบ จะก่อให้เกิดผลอะไรตามมาบ้าง และเขาเข้าไปแก้และเกิดผลสำเร็จอย่างไร ประชาชนในแต่ละประเทศนั้นกลับคืนสู่สภาพเป็นอย่างไร การเมืองของเขาเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งประเทศไทยต้องการเห็นสิ่งเหล่านี้ ส่วนช่วงบ่ายจะเป็นเวทีเสวนา ทั้งหมดจัดขึ้นเป็นทางวิชาการ หน่วยงานที่จัดอยู่ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศ โดยการจัดครั้งนี้เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างสภาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ ซึ่งเป็นหน่วยวิชาการ และฝึกอบรมของกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสถาบันความมั่นคง และนานาชาติศึกษาคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 องค์กร เป็นความร่วมมือกัน และจัดเวทีนี้ขึ้นมา ในการดำเนินรายการก็จะเชิญท่านรองศาสตราจารย์ ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยสถาบันความมั่นคงและนานาชาติศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นผู้ดำเนินรายการ
เมื่อถามว่า ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าฟังได้หรือไม่ นายสุรพงษ์กล่าวว่า สถานที่จุคนได้ประมาณ 300 คน ที่ถูกเชิญไป ก็ติดตามดูทางทีวีได้มีการถ่ายช่อง 11 ตอนช่วงเช้า และช่วงบ่ายจะเป็นการถ่ายทางวิทยุช่อง AM 819 ภาษาไทย ช่อง FM 92.5 ภาษาไทย และช่อง FM88.0 ภาษาอังกฤษ ช่วงเช้าจะถ่ายทอดช่อง 11 ในขณะที่ผู้นำแต่ละประเทศพูดภาษาอังกฤษจะมีตัววิ่งภาษาไทยแปลคำต่อคำอย่างรวดเร็ว และคนไทยจะได้ตามได้ และช่วงบ่ายจะเป็นเวทีเสวนาถ่ายทอดทางวิทยุ
เมื่อถามถึงเรื่องของค่าใช้จ่าย ในการเชิญนายโทนี แบลร์ มีมูลค่า 20 ล้านบาท ใช่หรือไม่ นายสุรพงษ์กล่าวว่า เสียใจมากที่คนพยายามจะไปกุข่าวขึ้นมาว่ารัฐบาลจ่ายเงินค่าจ้างไม่คุ้มกับสิ่งที่ได้มา ที่จริงเชิญเขามารัฐบาลจ่ายค่าเครื่องบิน ค่าเดินทาง ค่าที่พัก และไม่มีค่าตัว ในงานนี้จะเสียค่าโรงแรม สถานที่ประชุม อาจจะเสียค่าล่ามที่จะแปล ค่าถ่ายทอดสด ค่าประชาสัมพันธ์ ค่าบอดี้การ์ดคอยดูแลความปลอดภัย ค่าคนขับรถเพื่ออำนวยความสะดวกให้เขา
เมื่อถามอีกว่า ถ้ารวมแล้วผู้นำทั้ง 3 ท่านค่าใช้จ่ายในการที่จะเชิญถึง 20 ล้านบาท หรือไม่ นายสุรพงษ์กล่าวว่า ไม่ถึง ส่วนใหญ่จะแพงตรงค่าโฆษณา เพราะเราจะต้องประชาสัมพันธ์ให้คนไทยได้รับทราบว่าจะมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และประสบการณ์ของแต่ละคน ตอนนี้ให้กระทรวงการต่างประเทศนำเนินการประชาสัมพันธ์ให้คนรู้ว่าแต่ละท่านทั้ง 3 ท่าน ประสบการณ์ชีวิตของในการแก้ปัญหานี้เป็นอย่างไร อย่างน้อยก็ดึงดูดให้คนไทยได้สนใจ ผมเลยฉวยโอกาสใช้รายการนี้ประชาสัมพันธ์ให้คนไทยได้รู้ว่าจะจัดที่โรงแรมพลาซ่า แอททินี ในวันที่ 2 กันยายน 2556
นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ผู้นำแต่ละท่านท่านมีภารกิจค่อนข้างมาก รัฐบาลต้องจองตัวตั้งแต่ลำดับต้นๆ อันนี้กว่าจะจัดได้ต้องใช้เวลา บางท่านก็กล่าวหาว่าเคยเชิญมาแล้วในเวทีคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) แล้วทำไมต้องเชิญมาซ้ำ ในเวทีนั้นเขาเชิญมา เขาก็พูดกันในมีการประชุมหารือกันภายใน แต่คนไทยไม่ได้รู้ว่าผู้นำเหล่านี้ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาอย่างไรในการแก้ไขปัญหาความแย้งในเวทีต่างๆ หรือแม้กระทั่งในประเทศตัวเอง เพราะฉะนั้นเวทีที่กระทรวงการต่างประเทศทำคือ พูดให้คนไทยได้ฟังว่าประสบการณ์ของเขาเป็นอย่างไร ทำไมเขาถึงเห็นว่าจะแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความปรองดอง เพื่อให้ทุกคนหันหน้าเข้าหากันมาพูดคุยกัน
นายสุรพงษ์กล่าวต่อว่า การพูดในเวที คอป.การไม่ไว้ใจใน คอป. ก็มีเช่นกัน เพราะมีการแบ่งฝ่าย แต่วันนี้ให้คนไทยทั้งประเทศได้รับฟังด้วยตนเอง คนไทยจะได้ตัดสินใจ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะหันหน้าเข้าหากัน เพราะวันนี้ถ้ามัวแต่ทะเลาะกันประเทศชาติไม่เจริญ ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว เสียหายหมด โดยเฉพาะในหลายประเทศจะมองดูเรา เนื่องจากบางประเทศหาทางโจมตีประเทศเรา ยิ่งเมื่อใดประเทศไทยทะเลาะกันมาก การท่องเที่ยวก็จะลดลง วันนี้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาประเทศไทย เพราะต่างประเทศทะเลาะกันก็อาจจะเป็นผลดีสำหรับประเทศเรา แต่บางประเทศก็รอให้ประเทศไทยทะเลาะกันอีก การท่องเที่ยวของเขาจะได้เพิ่มขึ้น ซึ่งต้องการให้คนไทยหันหน้าเข้าหากัน
เมื่อถามว่า ปัญหาอยู่ที่การเมืองภายในประเทศเราเองด้วย ทำให้ความขัดแย้งยังคงอยู่ ตอนนี้พรรคฝ่ายค้านประชาธิปัตย์มีการทำเอกสารทำหนังสือแจ้งไปยังผู้นำประเทศต่างๆ ที่อยู่ในเครือข่ายของรัฐบาลที่จะเชิญได้บอกว่า เรื่องความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น เมื่อดูแล้วว่าถ้าจะมาตามที่รัฐบาลไทยเชิญต้องระวัง เพราะอาจจะเป็นเครื่องมือทางการเมือง มีความกังวลมากแค่ไหน นายสุรพงษ์กล่าวว่า ไม่กังวล ถ้ามีโอกาสได้เดินทางเหมือนตนร่วมกับท่านนายกฯ ไปหลายๆ ประเทศ ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาว่าสังคมโลกไม่ให้การยอมรับ เพราะรัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้รับตำแหน่งโดยไม่ได้เป็นการเลือกตั้งจากประชาชนจริงๆ ได้มาจากขบวนการรัฐสภา ซึ่งสังคมโลกได้ติดตามและรับรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น
นายสุรพงษ์กล่าวว่า โดยเฉพาะวันนี้ต้องบอกตรงๆ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณฯ เป็นเพราะอะไร เป็นการเมือง ดังนั้นประเทศต่างๆ จึงยอมรับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณฯ ต่างประเทศรับรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตประเทศไทยเป็นอย่างไร การยอมรับความเชื่อถือ แม้ว่าฝ่ายค้านจะทำหนังสือไปทุกประเทศเขาไม่สนใจ เพราะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร จึงไม่กังวลเลยในสิ่งที่ฝ่ายค้านกระทำ ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่จะทำ แต่ความเชื่อถือของฝ่ายค้านในสังคมโลกเป็นอย่างไรสามารถเปรียบเทียบกันได้ เพราะวันนี้นายกฯ ได้รับเชิญไปต่างประเทศมากมาย ถ้าเขาไม่เชิญเราก็ไปไม่ได้ ตอนนี้ฝ่ายค้านก็เล่นการเมืองอีก โดยกล่าวหาว่าท่านนายกฯ เดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งสิ้นเปลืองงบประมาณ ถึงขั้นกล่าวหาว่าการที่เช่าเครื่องบินเหมาลำเดินทางไปทำให้การบินไทยขาดทุน ซึ่งที่จริงไม่ใช่
นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า ต้องกราบเรียนว่าเวลาที่ท่านนายกฯ เช่าเครื่องบินเหมาลำของสายการบินไทยเราก็จ่ายตามอัตราที่ถูกต้อง การบินไทยก็คิดตามอัตราอยู่แล้ว ที่สำคัญที่สุดทุกครั้งที่เดินทางจะมีการศึกษาในแต่ละประเทศว่าประเทศเหล่านั้นมีทรัพยากรธรรมชาติไหม มีอัตราการเจริญเติบโตใกล้เคียงกับเราไหม และเขามีความต้องการสินค้าที่เป็นอาหารโดยเฉพาะข้าวหรือสินค้าทางการเกษตรไหม เพราะเราประกาศอยู่ตลอดว่าจะเป็น “ครัวไทยสู่ครัวโลก” และประเทศเหล่านั้นมีความนิยมในอาหารไทยไหม มีนักท่องเที่ยวจากประเทศนั้นมาประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน มีการศึกษาสิ่งนี้ เมื่อไปทุกครั้งรัฐบาลได้ประชาสัมพันธ์ตลอดว่าการเดินทางแต่ละครั้งมีจุดมุ่งหมายอย่างไร ทุกครั้งเขาก็จะอ่านหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในตอนเช้า และเกิดความมั่นใจ เมื่อท่านนายกฯ เดินทางไป ซึ่งนายกฯ เราเป็นสุภาพสตรีที่มีความสง่า ความน่ารักแบบไทย
“นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ที่สามารถดึงดูดให้ต่างชาติมาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ และทุกครั้งที่ท่านไปท่านใส่ผ้าไหมไทย เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าโอทอปของไทย แต่บางคนโจมตีว่านายกฯ แต่งตัวไม่ดีอย่างนี้ อย่างนั้น คนที่ไม่เข้าใจก็ไม่รู้” นายสุรพงษ์กล่าว
เมื่อถามว่า การเมืองบ้านเรายังคงเป็นปัญหาที่สร้างความรำคาญใจในบางกรณี ดังนั้นอาจจะต้องปรับปรุงอย่างไร นายสุรพงษ์กล่าวว่า บางครั้งมีการกล่าวหาว่าเราเดินทางไปประเทศที่ยากจน ซึ่งไปดูถูกเขาไม่ได้ เพราะเขาเป็นมิตรทางสังคม เสียงของเขาในสังคมโลกได้ช่วยสนับสนุนเรา โดยเฉพาะเราให้ความช่วยเหลือแอฟริกาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะแอฟริกามีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย สำหรับวันนี้อัตราการเจริญเติบโตของแอฟริกาสูงมาก 8-10 กว่าเปอร์เซ็นต์ บางคนในฝ่ายค้านมีการโจมตีกล่าวหาว่าเขายากจนครบทำไม เราไปดูถูกประเทศต่าง ๆ อย่างนั้นไม่ได้ ฉะนั้นการยอมรับของรัฐบาลชุดนี้จึงแตกต่างจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา เพราะเราไม่เคยดูถูกต่างประเทศ
เมื่อถามว่า คุ้มค่ากับงบประมาณหรือไม่ นายสุรพงษ์กล่าวว่า เมื่อเราเปรียบเทียบตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งตลอด 6-7 ปีที่ผ่านมา เราสูญเสียมากกว่าสิ่งที่กำลังดำเนินการในขณะนี้ ที่จริงแล้วอียิปต์ควรมาเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศไทย
“เขาคงไม่ต้องมาเสียชีวิตจากเหตุการประท้วงประมาณ 600 กว่าคนแล้ววันนี้ ซึ่งสังคมโลกได้ประณาม ขณะนั้นที่ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ. 2549 สังคมโลกก็ได้ประณามแต่รัฐบาลชุดนั้นไม่เคยเปิดเผยข้อมูล เมื่อผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เช่น เกิดเหตุการณ์ที่อียิปต์ก็ดูว่าประเทศไทยประณามอย่างไรบ้าง ผมได้ย้อนดูเมื่อปี พ.ศ. 2549 ก็มีการประณามประเทศไทยมากมาย แต่บังเอิญว่ารัฐบาลที่ผ่านมาปิดเป็นความลับ แต่ถ้าประชาชนอยากทราบหลังจบรายการนี้จะบอกให้ว่าเขาประณามเราว่าอย่างไร” นายสุรพงษ์กล่าว