“ยิ่งลักษณ์” ตัดริบบิ้นอีเวนต์ฉลอง 100 ปีเอสซีจี อวยบริษัทให้ความสำคัญงานวิจัย ย้ำแนวบริหารชาติ 4 ทิศทาง ท่องคาถาต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ พร้อมร่วมงานเอกชนจุดรากฐานประเทศ สื่อรอซักบอก “โอ๊ย อย่าเลย”
วันนี้ (15 ส.ค.) ที่อาคารคริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ เมื่อเวลา 14.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานพิธีเปิดงานและแสดงวิสัยทัศน์ในงาน “Thailand Innovation Forum : R&D to Commercialization” ในหัวข้อ “การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมุมมองจากภาครัฐและมาตรการส่งเสริมภาคเอกชน” ณ ห้องประชุม Crystal Ballroom ชั้น 2 ซึ่งเป็นงานฉลอง 100 ปี กลุ่มบริษัทเอสซีจี
นายกฯ กล่าวตอนหนึ่งว่า เชื่อมั่นว่าเอสซีจีให้ความสำคัญในการพัฒนางานวิจัย นำเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และนวัตกรรมใหม่ๆ ในสิ่งที่ประเทศต้องการ เพราะจากยอดขายของสินค้าร้อยละ 34 มาจากงานวิจัยทั้งสิ้น ซึ่งน่ายกย่องและอยากให้หลายบริษัทให้ความสำคัญต่องานวิจัย เพื่อให้เกิดความหลากหลายและนวัตกรรม ทั้งนี้รัฐบาลให้ความสำคัญต่องานวิจัยและรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจเคลื่อนย้ายมาในทวีปเอเชีย และกำลังจะมีการเปิดประชาคมอาเซียน จึงต้องเตรียมรองรับโอกาสอย่างสูงสุด
จากนั้นนายกฯ กล่าวย้ำถึงแนวทางการบริหารประเทศว่า มี 4 แนวทาง คือ 1. การเพิ่มรายได้อย่างมั่นคงโดยการสร้างความมั่นคงในการแข่งขัน 2. ลดความเหลื่อมล้ำ ให้สังคมและคุณภาพชีวิตดีขึ้น 3. เจริญเติบโตต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 4. การบริหารงานภาครัฐต้องให้ได้มาตรฐานสากลมากขึ้น ในการสร้างขีดความสามารถเราต้องกลับมาใช้โอกาสในการสำรวจขีดความารถเพราะมีอีกหลายมิติที่ต้องร่วมกันพัฒนาทั้งโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่รัฐบาลมีแผนลงทุน เพื่อให้เส้นทางขนส่งช่วยลดต้นทุน สะดวกสบายระยะยาว และต้องเพิ่มขีดความสามารถในการลงทุนด้านวิจัยเพื่อให้งานพัฒนาเข้าไปถึงและต่อยอดในเชิงพาณิชย์ให้ได้ ซึ่งตนอยากเห็นการผลิตที่มีคุณภาพ เป็นศูนย์กลางการบริการของอาเซียน ศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ ศูนย์กลางด้านพลังงานสะอาด ศูนย์กลางการท่องเที่ยวและศูนย์กลางการวิจัย
“ดังนั้นต้องดูอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ที่ต้องนำงานวิจัยไปต่อยอดอย่างไรในอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความเติมเต็มอย่างต่อเนื่อง” นายกฯ กล่าว
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวต่อว่า ส่วนด้านการลดความหลื่อมล้ำ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการวิจัยที่ลดความเหลื่อมล้ำ ที่ไม่ควรเกิดเฉพาะบริษัทใหญ่เท่านั้น ต้องเริ่มจากวิสาหกิจชุมชุน เอสเอ็มอี ที่จะมาช่วยเสริมประโยชน์กับบริษัทใหญ่ ที่จะต้องช่วยกันยกระดับขีดความสามารถของเกษตรกร ชาวไร่ สำหรับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นสิ่งที่อยากเห็นอุตสาหกรรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้อุตสาหกรรมอยู่กับสิ่งแวดล้อมได้ โดยจะมีการทำอีโคทาวน์ กรีนซิตี และกรีนโกรฟ ในการที่เรามาทำงานร่วมกันเพื่อหาจุดร่วมกันในการทำให้เกิดกรีนซิตีให้ได้
“ดังนั้นเพื่อให้เกิดการทำงานเป็นรูปธรรมมีการเสนอแผนเร่งด่วนให้ สศช. และสภาการวิจัย มาบูรณาการงานวิจัยทั้งหมดที่มี 7 หน่วยงานหลัก ที่นำงานวิจัยที่พัฒนาแล้วมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ให้ได้กับทุกกลุ่มอย่างเต็มที่ โดยมีการตั้งเป้าสนับสนุนงบประมาณวิจัยอย่างต่อเนื่องและจะมีการจัดประกวดเพื่อส่งเสริมงานวิจัยเชิงพาณิชย์ด้วย” นายกฯ กล่าว
รมว.กลาโหมกล่าวอีกว่า ส่วนระยะยาวจะพัฒนางานวิจัยให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยมีสิทธิประโยชน์ต่างๆเพื่อจูงใจให้อกชนจัดสรรทุนวิจัยเพื่อเร่งการพัฒนาควบคู่กับภาครัฐ และทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาที่ทำงานร่วมกับเอกชน ประสานงานให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ โดยจะมีการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ด้วย เพราะปัจจุบันเรามีนักวิจัย 7 คนต่อประชากร 10,000 คน ขณะที่มาตรฐานโลกมีนักวิจัย 15 คน ต่อประชากร 1 หมื่นคน ดังนั้นรัฐบาลต้องเสริมการสนับสนุนทั้งบุคลากรอุปกรณ์และเครื่องมือ เวทีการผลักดันวิจัยเชิงพาณิชย์มากขึ้น สนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายเล็กได้มีอุปกรณ์ทดลอง ซึ่งรัฐบาลพร้อมทำงานร่วมกับเอกชน หวังว่าความร่วมมือจะจุดประกายที่จะร่วมกันในการสร้างรากฐานที่สำคัญของประเทศ
จากนั้นผู้สื่อข่าวได้พยายามถามคำถามต่อนายกรัฐมนตรี แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า โอ๊ย อย่าเลยดีกว่าค่ะ”