“ยิ่งลักษณ์” จ้อรายการ ชูพัฒนารถไฟ เลือกสายบางซื่อ-รังสิต บูรณาการ เพิ่มมูลค่าโอทอป ชวนสตรีร่วมสมาร์ทเลดี้ เรียลลิตี้โชว์ช่องทรู ใครชนะได้นำกองทุน ไปกุยบุรีดูอุทยานฯ เพิ่มป่า แหล่งน้ำ แหล่งอาหารสัตว์ เพิ่มมูลค่าการเที่ยว
วันนี้ (10 ส.ค.) สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 ได้เผยแพร่รายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน โดยเป็นการนำบรรยากาศการเดินทางโดยรถไฟของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม รวมถึง นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งได้โดยสารขบวนรถไฟเที่ยวพิเศษจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปยังจังหวัดนครปฐม โดยมีการประชุม เชิงปฏิบัติการบนรถไฟเป็นครั้งแรก เพื่อประชุมหาแนวทางในการพัฒนารถไฟไทยแบบครบวงจร
นายกฯ กล่าวว่า การโดยสารรถไฟถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเดินทางของประชาชน ดังนั้น การพัฒนารถไฟจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศ โดยใช้งบประมาณตามร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท โดยหลังจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนารถไฟไทย ซึ่งช่วยให้เข้าถึงความเป็นจริง และสามารถเข้าใจสภาพแวดล้อมได้มากยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลจะเร่งเพิ่มขีดความสามารถของรถไฟและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้โดยสารให้ดีขึ้นในระยะยาว ทั้งนี้จะมีการเลือกรถไฟสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต ขึ้นมา 1 สาย เพื่อบูรณาการแบบองค์รวม โดยจะทำการศึกษาตั้งแต่ต้นทาง รวมทั้งจะยกระดับการบริหารงานและการบริการให้ดีขึ้น ซึ่งยจะต้องมีความเหมาะสมทั้งค่าโดยสารและความปลอดภัย รวมทั้งส่งเสริมการนำสินค้าโอทอปให้สามารถจำหน่ายตามสถานีรถไฟ เพื่อสร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชน
“ต้นทุนเป็นส่วนหนึ่งแต่สิ่งที่อยากให้มององค์รวมคือมูลค่าเศรษฐกิจและความเจริญที่เกิดขึ้นในบริเวณนั้น เพราะการที่มีการลงทุนจากภาครัฐ ก็อยากให้เห็นว่ามีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ อยากให้ผู้เดินทางทางถนน หรือโหมดทางเครื่องบินมาใช้บริการรถไฟ นอกจากปลอดภัยก็ประหยัดพลังงานที่จะไปใช้กับรถยนต์ ถ้าเรามาศึกษาและทำให้ดี เชื่อว่าจะทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว
ขณะเดียวกัน นายกฯ กล่าวถึงรถไฟรางคู่ว่ามีการพูดถึงเรื่องมาตรฐานว่าต้องมีมาตรฐานที่เชื่อมต่อในอนาคตถ้าเราจะเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านเราก็ต้องมีมาตรฐานนี้ ก็ต้องดูการปรับปรุงราง และเส้นทางที่รองรับต้องปลอดภัย เป็นสิ่งที่ฝากไว้ และเห็นว่าน่าจะบูรณาการกับ รฟม.ในการพัฒนาบุคลากร พัฒนาอัตรากำลังคนให้แพียงพอเพื่อรองรับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นายกฯ กล่าวว่า ส่วนเรื่องสินค้าโอทอป เช่น ผ้าม่านที่ใช้ในรถไฟ เรามองว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ยิ่งใช้สินค้าจากพื้นฐานได้มากที่สุด คนเห็นใช้กันมากขึ้นก็จะยิ่งทำให้มีการเติบโต เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างมูลค่าเพิ่มเข้าไป
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงโครงการสมาร์ทเลดี้ว่า เป็นกิจกรรมของคณะกรรมการกองทุนบทบาทสตรีแห่งชาติ ชื่อโครงการสมาร์ทเลดี้ ผู้หญิงสวยด้วยความคิด ขอเชิญชวนสตรีอายุตั้งแต่ 18-35 ปี เพราะเห็นว่าเป็นช่วงสำคัญในการเสริมศักยภาพในการเป็นผู้นำ ส่วนช่วงอายุอื่นๆ ต่อไปคณะกรรมการก็จะบูรณาการต่อไปโครงการสมาร์ทเลดี้ มีการจัดกิจกรรมให้กลุ่มสตรีมาสมัคร เพื่อรับการอบรมและมีการแข่งขัน เป็นสตรีที่จะเข้ามาร่วมการทำงานกับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีต่อไป โดยจะรับสมัครจากทั่วประเทศ และคัดเลือกเหลือ 1,200 คน จากนั้นคัดเหลือ 12 คน และคัดเหลือ 1 คน ในทุกรอบที่คัดเลือกอยากมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนและพัฒนาศักยภาพสตรี ก็จะมีกิจกรรมให้ความรู้ มีการทำแบบสำรวจว่าสตรีแต่ละท่านมีความเป็นผู้นำแบบไหนเพื่อเสริมในจุดเด่น ก็เป็นแนวทางพัฒนา ในช่วง 12 คนสุดท้ายที่จะถ่ายทอดผ่านรายการทางทรูวิชั่นส์ เข้ามาอยู่ในบ้าน 1 เดือนเต็มๆ คิดว่าผู้ชมน่าจะได้แนวคิดจากผู้นำแต่ละท่านในแต่ละเรื่อง ซึ่งนอกจากสาระความบันเทิงแล้ว ในโครงการนี้อยากดึงศักยภาพของสตรีจริงๆ ได้แสดงออกซึ่งความเป็นผู้นำ และความคิดในแต่ละเรื่อง ซึ่งเริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงการเดินทางลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า เราอยากเห็นการบูรณาการ การดูแลอุทยานนี้ให้มีการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งพบว่ายังมีบางพื้นที่ที่อยู่ในส่วนของกรมป่าไม้ ก็จะมีการให้ทางอุทยานได้ดูแลภาพรวมมากขึ้น และในพื้นที่ที่ประชาชนอาศัยอยู่ เราก็จะจัดสรรพื้นที่ให้ ซึ่งมีรายงานว่าพื้นที่นี้เคยมีการถูกบุกรุกอยู่ แต่ได้ย้ายลงไปแล้ว ซึ่งประชาชนได้น้อมนำโครงการพระราชดำริ พร้อมใจกันคืนผืนป่า และสามารถให้ธรรมชาติกลับคืนมาได้ โดยเป็นหน้าที่ของกรมอุทยานที่จะบูรณะต่อไป ซึ่งในขั้นตอนแรกจะจัดการบริหารภายในโดยการบริหารแบบบูรณาการองค์รวม และในอนาคตจะมีการการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านคือเมียนมาร์ ในการบริหารพื้นที่อุทยานร่วมกัน
นายกฯ กล่าวต่อว่า การบริหารพื้นที่อุทยานนั้นทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการทำอย่างไรให้มีต้นไม้ แหล่งน้ำ แหล่งอาหารของสัตว์ป่า รวมถึงจัดระเบียบให้ประชาชนอยู่ในบริเวณอุทยานในการขอความร่วมมือและจัดสรรที่อยู่ใหม่ให้ และให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีความรัก เป็นเจ้าของ และดูแลนักท่องเที่ยว ส่วนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุทยานแห่งชาติกุยบุรี คือจะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ซึ่งจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชมขณะเดียวกันต้องดูในเรื่องของการที่จะทำอย่างไรไม่ใหมีการทำลายธรรมชาติด้วย