หน.ปชป.เสนอเลื่อนพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษ ชี้ต่างประเทศยังห่วงล้างผิดคนละเมิดสิทธิผู้อื่น ยันต้องเคารพปฏิญญาสากล แนะฟัง คอป.หลายคนที่ถูกชวนร่วมปฏิรูปยังหนุนถอนร่าง สงสัยนายกฯ คนนอก-ในชาติ ต้าน ทำไมไม่ฟัง ย้ำต้องเลื่อนแล้วเชิญ “ปู” มาร่วมฟังในสภา
วันนี้ (7 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีการพักการประชุมสภานานร่วมชั่วโมง นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ได้เปิดประชุมอีกครั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ทวงถามถึงผลการหารือของวิปทั้งสองฝ่าย นายอำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาล ชี้แจงว่า ให้ นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายส่วนหนึ่ง และนายอภิสิทธิ์ อภิปรายส่วนหนึ่ง
จากนั้น นายอภิสิทธิ์ อภิปรายว่า ตนเชื่อว่าประธานคงทราบดีไม่ต่างจากคนไทย เพราะได้อยู่ในสภามา 20 ปี ย่อมรู้ว่า บรรยากาศการประชุมสภาแต่ละครั้งจะสะท้อนภาวะของบ้านเมืองว่าเป็นอย่างไร แม้จะมีการกระทบกระทั่งบ้างในสังคมประชาธิปไตยทั่วโลก แต่ลึกในใจมีใครกล้าพูดว่ากฎหมายฉบับนี้เหมือนการพิจารณากฎหมายปกติทั่วไป ซึ่งเหตุการณ์ทำนองนี้เคยเกิดขึ้นในปีที่แล้ว ที่มีความวุ่นวายในสภาจนที่สุดมีการระงับไป ผลพวกจากเหตุการณ์นั้นตกทอดมาถึงวันนี้ เพราะผู้สนับสนุน ผู้ค้านต่างมีความรุนแรง แต่เมื่อถอนไปบ้านเมืองก็สงบตามปกติ แต่กรณีกฎหมายฉบับนี้ตนพูดตั้งแต่ต้นว่า เราจะเคารพการตัดสินใจของประชาชน และช่วงหาเสียงมีการพูดถึงนิรโทษกรรม แต่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยยืนยันว่าไม่ใช่นโยบายของพรรค เพราะรู้ว่าฝ่ายค้านต้องคัดค้านแน่นอน หากเป็นกฎหมายธรรมดาทั่วไป ต้องถามว่าเหตุอะไรถึงใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในเขตปกครอง กทม.รอบๆ อาคารรัฐสภา มีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่มากมาย สร้างสิ่งกีดขวางไม่ให้การสัญจรเข้าออกสะดวก ใครที่พยายามบอกเป็นเรื่องกฎหมายฉบับหนึ่งตามปกติ กำลังหลอกตัวเอง และกำลังพาประเทศสุ่มเสี่ยง
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เหตุผลที่ตนเสนอให้เลื่อนออกไป คือ หนึ่ง เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ ปกติการพิจารณากฎหมายถือเป็นเรื่องภายในประเทศ มักจะไม่มีการพูดพาดพิงก้าวก่าย แต่วันนี้มีเสียงสะท้อนจากต่างประเทศ ทั้งองค์กรภาคเอกชน ฮิวแมนไรท์วอชท์ หรือ แอนเนสตี อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ องค์กรสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น แม้ใครอาจจะบอกว่ายูเอ็นไม่ใช่พ่อ แต่ไทยเป็นสมาชิกองค์กร การที่ยูเอ็นออกมาแสดงความเห็นในกฎหมายฉบับมีนัยยะสำคัญ ปฏิญญานี้สหประชาชาติถือเป็นหน้าที่โดยตรงต้องดูแลประเทศสมาชิก และกฎบัตรระบุชัดว่าสมาชิกต้องปฏิบัติตาม และมีการตั้งคณะกรรมการสิทธิ์สากลเพื่อดูประเทศใดมีการละเมิดสิทธิ์บ้าง
แต่เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา ยูเอ็นระบุชัดว่าห่วงใยต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภา เพราะจะมีการนิรโทษกรรมบุคคลที่ได้ละเมิดสิทธิ์รุนแรงช่วงการชุมนุมทางการเมืองปี 52-53 โดยหลังเกิดเหตุรัฐบาลขณะนั้นตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความปรองดองขึ้นมา และได้เสนอรายงานชิ้นสุดท้ายต่อรัฐบาลนี้เรียบร้อยแล้ว และมีข้อค้นพบว่ามีความจำเป็นต้องเข้ามาตรวจสอบการละเมิดสิทธิ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจากฝ่ายใด มีการย้ำเตือนให้รัฐบาลดำเนินการข้อเสนอแนะของ คอป.และให้มั่นใจว่าใครก็ตามที่ละเมิดสิทธิ์ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน เพื่อสร้างบรรทัดฐาน รัฐบาลจะมีความเห็นอย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าไม่เห็นด้วยก็ต้องคงใช้เวลาชี้แจงทำความเข้าใจ แต่เพิกเฉยไม่ได้ และไม่ควรจะเพิกเฉย และเป็นประเด็นที่องค์กรอื่นๆ ที่คัดค้านอยู่บนพื้นฐานนี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือครอบครัวผู้ชุมนุม หรือเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิต และรัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาว่าจะผลักดันการทำงานของ คอป.วันนี้นายกรัฐมนตรีบอกไม่เกี่ยวกับรัฐบาล เพราะเสนอโดยสมาชิกสภาไม่ได้ เพราะเป็นกฎหมายการเงินด้วย และยิ่งกว่านั้นยังนำไปสู่คำถามจากยูเอ็นด้วย
เหตุผลที่สอง เรื่องภายในประเทศ บรรยากาศการคัดค้านทำให้หลายคนวิตกว่าจะนำไปสู่ความรุนแรงอย่างมาก ไม่ได้หมายความว่าเรื่องนิรโทษกรรมพูดคุยไม่ได้ แต่ถ้ามีกฎหมายที่มีเจตนานิรโทษกรรมความผิดทางการเมืองตามนิยามของสากลจริงๆ พวกตนไม่ได้คัดค้าน แต่ที่รับไม่ได้คือการใช้กฎหมายนิรโทษกรรมโดยขยายขอบเขตไปถึงบุคคลที่มีเจตนาทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะอ้างมูลเหตุทางการเมืองหรือไม่ ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกฯได้แถลงผ่านทีวีว่า มีความห่วงใยในความขัดแย้งและอยากแสวงหาทางออกให้กับประเทศ โดยจะเชิญกลุ่มต่างๆ เข้ามา ถ้าเวทีนี้นำไปสู่ทางออกประเทศได้ทุกคนก็หวังและรอคอย แต่ถ้าไม่คลายปม หรือหยุดเงื่อนไขความขัดแย้ง และหยุดการกระทำของรัฐบาล เช่น การออกกฎหมายความมั่นคง หรือการกระทำอื่นๆ ทั้งที่รู้ว่าความขัดแย้งขณะนี้คือกฎหมายนิรโทษกรรม
“วันนี้จะเป็นโอกาสทองของรัฐบาลว่าถ้าหวังจะเห็นการปรองดอง หาทางออกให้ประเทศจริง รัฐบาลที่เป็นฝ่ายที่มีอำนาจ สามารถเอื้อมมือแสดงเจตนาดี พร้อมฟังคนอื่น และการเริ่มต้นปรองดองที่แท้จริงจะไม่มีวันเกิดขึ้นได้ในโลกจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยัดเยียดแนวคิดคำตอบให้ด้วยการลงมติเสียงข้างมาก ต้องเกิดแสวงการหาจุดร่วมจากทุกฝ่ายและร่วมกันผลักดัน เป็นพื้นฐานจับมือเดินหน้าต่อไป หากนายกฯสังเกตให้ดี กลุ่มคนที่นายกฯพูดถึงอยากให้มาปฏิรูปบ้านเมือง มีอยู่สี่กลุ่มที่เห็นด้วย แต่มีเงื่อนไขว่าต้องหยุดเรื่องนี้ไว้ก่อน เช่น นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา ถ้าเราเลื่อนการพิจารณาออกไป โดยนายกฯสนับสนุนให้มีการเลื่อน พรรคเพื่อไทยมีมติให้เลื่อน ถ้านายกฯบอกพรุ่งนี้ขอให้มาคุยเรื่องอนาคตประเทศไทย ผมไปทันที แล้วหารือหาทางออกให้กับประเทศ ผมอยากทราบเหตุผลจากนายกฯว่าทำไมทำแค่นี้ไม่ได้ อะไรคือความจำเป็นเร่งด่วน คอขาดบาดตายว่ากฎหมายที่คนคัดค้านทั้งประเทศ มีการท้วงติงจากยูเอ็นจะต้องทำให้ได้ในวันนี้ ยอมที่จะทิ้งปัญหาความขัดแย้งไปเพื่อผลักดันกฎหมายนี้ อะไรคือเหตุผล ผมนึกไม่ออก นอกจากนายกฯกำลังจะบอกว่า เรื่องทางออกพูดไปอย่างนั้น แต่ความขัดแย้งที่มีอยู่จะสุมไฟเข้าไป เพียงเพื่อคนกลุ่มหนึ่งที่จะได้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ ขนาดปัญหาภาคใต้ที่เราจะพูดคุยกัน ยังบอกให้เขาหยุดความรุนแรงก่อนถึงจะพูดคุยได้ วันนี้ไม่รู้จะมีคุยหรือเปล่า เพราะความรุนแรงหยุดไม่ได้ คนไทยทุกคนรอคอยเพราะสองปีที่ผ่านมา พวกเราถูกกระทำมาก ผมขอร้องพรรคเพื่อไทยช่วยเลื่อนไปก่อน เพื่อพูดคุยกับทุกฝ่ายก่อน อย่าปล่อยโอกาสนี้หลุดลอยไป เพราะหากจะเดินหน้าไปผมนึกไม่ออกว่าจะมีเงื่อนไขให้ทุกฝ่ายมานั่งโต๊ะหาทางออกร่วมกันอย่างไร การตัดสินญัตตินี้จะเป็นบทพิสูจน์ความจริงใจของพรรคเพื่อไทยว่าต้องการจะหาทางออกให้กับบ้านเมืองจริงหรือไม่” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์ได้เสนอญัตติเลื่อนการพิจารณาออกไป โดยเสนอให้วิปรัฐบาลเชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาร่วมประชุมสภา เพื่อรับฟังและชี้แจงด้วยตนเอง ทำให้ ส.ส.เพื่อไทย เสนอพักการประชุมเพื่อติดต่อไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถเชิญน.ส.ยิ่งลักษณ์ มาร่วมประชุมได้