xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” เล่าเยือนโมซัมบิกมีแต่ประโยชน์ “ปลอด” แจงเที่ยวแทนซาเนียสัมผัสถึงธรรมชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (แฟ้มภาพ)
นายกฯ เห็นแววการไปเยือนสาธารณรัฐโมซัมบิกเป็นประเทศที่มีศักยภาพ ดูจากอัตราการเติบโตติด 1 ใน 10 ของโลก เฉลี่ยเกือบ 8% ทุกปี มองว่าเป็นผลดีต่อประเทศไทย ทั้งนี้มองการพัฒนาท่าเรือจะสามารถเชื่อมโยงจากท่าเรือทวายสู่ใช้เวลาเดินทางเพียง 8 วัน ดาน “ปลอดประสพ” เล่าการมาเยือน แทนซาเนีย แลกเปลี่ยนความรู้การบริหารจัดการ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมตั้งโจทย์ทำอย่างไรจะให้สัตว์มีชีวิตอยู่ตามธรรมชาติโดยไม่เป็นอันตราย

วันนี้ (3 ส.ค.) เมื่อเวลา 08.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยและสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ช่วงที่ 3 ถึงกรณีเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐโมซัมบิก ประเทศแอฟริกา ว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพ ดูจากอัตราการเติบโตติด 1 ใน 10 ของโลก เฉลี่ยเกือบ 8% ทุกปี เป็นสิ่งที่รัฐบาลเห็นศักยภาพ และมีโอกาสที่จะพัฒนาเรื่องของการค้า การลงทุนมากขึ้น ที่นี่คือประตูการค้าที่ไปสู่กลุ่มแอฟริกา เป็นที่แรกที่มาเยือนและถือเป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีไทยมาเยือนที่นี่ด้วย ถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะมาเปิดความสัมพันธ์ และเลือกที่นี่เป็นที่แรกที่มาเยือน

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวต่อว่า ถ้าดูโอกาสในการที่จะใช้สาธารณรัฐโมซัมบิกเป็นฐานในการเข้าไปในแอฟริกามีมากน้อยแค่ไหนบ้าง เพราะที่นี่เชื่อมจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มายังที่โมซัมบิก และเข้าไปในแอฟริกาด้วย และอีกไม่นานที่นี่จะป็นท่าเรือโดยมีการพัฒนาท่าเรือก็สามารถที่จะเชื่อมต่อท่าเรือที่ทวายได้ใช้เวลาเดินทางเพียงแค่ 8 วัน เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ จริงๆ แล้วมีในเรื่องของพื้นฐานทางด้านพลังงาน เหมืองแร่ หรือทางด้านจิวเวลรีต่างๆ ในเรื่องของอัญมณี และภาคการเกษตร จริงๆ ที่นี่ก็มีความสมบูรณ์ แต่ขาดเทคโนโลยี รัฐบาลก็มองว่าประเทศที่มีอัตราการเติบโตที่ดีและอยู่ในสถานที่ที่ location เชื่อมต่อในการขนส่งด้วย โอกาสที่เราจะเข้ามาพัฒนาก็มากขึ้น รัฐบาลมองว่าเป็นโอกาสอันดีที่ได้เดินทางมา ซึ่งเป็นการร้องขอจากภาคเอกชนด้วย รัฐบาลได้เชิญภาคเอกชนมาประมาณ 50 ราย

เมื่อถามผู้สื่อข่าวถามว่าสำหรับถึงผลการหารือกับ ประธานาธิบดีสหสาธารณรัฐแทนซาเนีย ในหลากหลายประเด็น อาทิ การประกาศ Thai-African Initiative เป็นอย่างไรนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า การประกาศนี้ ถือว่าประเทศแอฟริกาเป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพ ประเทศไทยเองมีความจำนงในการสร้างความสัมพันธ์ จึงได้มีการประกาศความสัมพันธ์ไทยแอฟริกาขึ้น ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมระดับผู้นำประมาณต้นปีหน้า การประกาศในหลักการที่สำคัญคือการช่วยเหลือเรื่องวิชาการการแลกเปลี่ยนต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องบุคลากรจะมีการจัดอาสาสมัครที่เป็นผู้เชี่ยญชาญเฉพาะด้านเข้าไปทำงาน รวมถึงเรื่องสาธารณสุข การต่อต้านโรคมาลาเรีย โรคเอดส์ เป็นต้น โดยจะมีการประกาศความช่วยเหลือที่จะต้องร่วมมือกัน ตลอดจนความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆ ในอนาคตถ้ามีการเชื่อมโยงในกลุ่มแอฟริกากับกลุ่มเอเชีย จะดูเรื่องการเชื่อมโยงด้วย

เมื่อถามย้ำว่าเป็นการทำให้เอเชียและแอฟริกาใกล้ชิดกันมากขึ้น เพราะ 2 ทวีปนี้เป็นเครื่องจักรที่สำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจโลกได้หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวตอบว่า ใช่ การมาที่แทนซาเนียถือว่าโชคดีมาก เพราะที่นี่เป็นประเทศที่มีศักยภาพ มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งน้ำมัน มีแร่ธาตุต่างๆ ทั้งพลอยเนื้ออ่อน และทรัพยากรทางธรรมชาติอื่น ๆ รวมถึงภาคการเกษตร ซึ่งแทนซาเนียได้มีการส่งเสริมภาคการเกษตร ไทยเองก็มองว่าเป็นโอกาสเพราะทางแทนซาเนียก็ต้องการเทคโนโลยี ต้องการผู้เชี่ยวชาญ จึงต้องการให้ไทยเข้ามาร่วมมือ นอกเหนือจากนั้นแทนซาเนียยังมีอุทยานฯ ธรรมชาติ ตามที่ได้เห็น อย่างที่เซเรนเกติเองเรียกได้ว่ามีอุทยานฯ ที่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่แบบธรรมชาติจริงๆ

ส่วนการบริหารจัดการระหว่างคนกับสัตว์ป่าได้นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า แทนซาเนียเน้นในเรื่องการท่องเที่ยว เขาก็ต้องการให้นักท่องเที่ยวในกลุ่มเอเชียหรือประเทศไทยมาที่นี่ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือหลายๆ อย่าง โดยรวมระหว่างความร่วมมือกับประเทศแทนซาเนีย เรื่องแรกคือความร่วมมือทางด้านวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสุข การศึกษา รวมทั้งการแลกเปลี่ยนทางด้านวิชาการต่างๆ

เมื่อถามถึงเรื่องการแลกเปลี่ยนครูระหว่างไทยกับแทนซาเนีย น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เราต้องการสร้างคน สร้างบุคลากร เพื่อการประกอบวิชาชีพและทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างยั่งยืน เราก็ต้องการแลกเปลี่ยนและอยากได้ครูที่สอนภาษาอังกฤษ ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนตรงนี้ด้วย นอกเหนือจากนั้นคือการร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุนที่มีการเปิดความสัมพันธ์ระหว่างภาคเอกชนด้วย

เมื่อถามถึงการบริหารจัดการต่างๆ เท่าที่ได้ไปดูการบริหารจัดการมาเป็นอย่างไรบ้าง น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า น่าสนใจมาก ซึ่งลักษณะของบ้านเราอาจจะเรียกเป็นกรมต่างๆ เช่น กรมป่าไม้ กรมสัตว์ป่า สัตว์น้ำ เป็นต้น แต่ที่นี่มองเป็นองค์รวมในการบริหารจัดการ ที่นี่มีอุทยานแห่งชาติถึง 16 แห่ง การบริหารจัดการเขามองเป็นองค์รวมทำให้การดูแลต่างๆ ทั่วถึง และมองเป็น Area Base ที่เซเรนเกติถือว่าใหญ่ที่สุด ซึ่งจะมีผู้ที่คอยดูแลทั้งเรื่องอุทยานฯ เรื่องสัตว์ป่าต่างๆ เข้าด้วยกัน ฉะนั้นวันนี้ทำให้สิ่งต่างๆ มองเป็นมิติองค์รวมที่ทำให้อยู่ได้อย่างเป็นธรรมชาติ และการรักษาไม่ว่าจะเป็นโรงแรมก็ต้องอนุรักษ์ และรักษากฎของธรรมชาติไว้ มีจุดที่น่าสนใจอีกหนึ่งอย่างคือที่แทนซาเนียจะติดกับประเทศเคนย่า ฉะนั้นเวลาบริหารจัดการอุทยานฯ นี้รวมกัน เขาไม่ได้มองว่าเป็นอุทยานฯ ของประเทศใดประเทศหนึ่ง

นอกจากนี้ ไทยได้เซ็นสัญญา MOU ร่วมกันกับแทนซาเนีย และจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและ รวมถึงบุคลากรด้วย

ทางด้าน นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการเซ็นบันความเข้าใจร่วมกัน หรือ MOU กับประเทศแทนซาเนีย ว่าการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ในการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมถึงทำอย่างไรจะทำให้มีป่าที่สมบูรณ์เป็นระบบนิเวศอย่างแท้จริง ทำอย่างไรจะให้สัตว์มีชีวิตอยู่ตามธรรมชาติไม่เป็นอันตราย ทำอย่างไรเพื่อจะให้คนอยู่กับอุทยานอยู่กับสัตว์ได้ ทำให้คนอยู่กับสัตว์ได้ ซึ่งถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดในโลก ที่นี่จะมีอุทยานแห่งชาติอยู่ 3 แห่ง ที่เป็นมรดกโลก เขาบริหารร่วมกัน เพราะสัตว์ไม่รู้จากประเทศไหนไม่รู้อาณาเขต

นายปลอดประสพกล่าวต่อว่า การเคลื่อนย้ายสัตว์จะไม่ได้เคลื่อนย้ายตามแนวเส้นของประเทศแต่นี่คือตัวอย่างที่เราน่าจะนำมาคิด ที่จริงก็มีอุทยานฯ ในลักษณะนี้ เช่น แก่งกระจาน ซึ่งติดกับพม่า ทางฝั่งพม่าก็มีป่าใหญ่ ผาแต้มติดประเทศลาว รวมไปถึงอุทยานฯ อื่นๆ แม้กระทั่งที่มีเรื่องอยู่ทุกวันนี้ ทำให้คิดว่าที่นี่ต่างฝ่ายไม่ทะเลาะกันและยังบริหารร่วมกัน ส่วนเราอยู่ที่ไหน

นายปลอดประสพกล่าวต่ออีกว่า จะทำอย่างไร ที่ทำให้คนในพื้นที่ตระหนักร่วมกันว่าจะต้องร่วมกันรักษาเรื่องการท่องเที่ยวในอุทยานฯ 17% ของ GDP ประเทศแทนซาเนีย ดังนั้น คนที่อยู่ในอุทยานฯ ต้องเข้าใจว่านี่คือทรัพย์สมบัติของชาติและเป็นบทเรียนใหญ่ของประเทศไทย หวังว่าจะมีผู้เรียนรู้และนำมาใช้ได้จริง ถามว่าทำไมชาวบ้านทะเลาะกับป่า เพราะชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์จากป่า เข้าไปในป่ายังไม่ได้ ทำอย่างไร เพื่อให้ชาวบ้านสามารถอยู่ใกล้กับป่าหรืออยู่ข้างป่าได้ แต่ไม่ใช่อยู่ในเขตป่า ทำอย่างไรให้เขามีส่วนร่วมในการรักษาป่า รักษาอุทยาน หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทำได้อย่างเดียวคือให้เขามีประโยชน์ร่วมกับป่า ต้องใช้การท่องเที่ยวเป็นตัวชี้นำการอนุรักษ์

“ที่เรานั่งอยู่ตรงนี้ มองดูนั่นคือช้างเป็นช้างป่าด้วย ถ้าเป็นชาวบ้านเราคงไม่ยอม อาจจะต้องทำรั้วกั้น ช้างที่นี่รู้สึกว่าเราคือเพื่อนมาทำบ่อน้ำให้ จึงมากินน้ำ มีคนถ่ายรูปมากมายด้านบน สิ่งเหล่านี้ยืนยันว่าเกิดขึ้นได้ในประเทศไทยแน่นอน แต่ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ต้องเปิดใจให้กว้าง มองผลประโยชน์ส่วนรวม” นายปลอดประสพกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น