xs
xsm
sm
md
lg

“ประชา” ฉุนสื่อใส่ร้ายบีอาร์เอ็นเล่นไม่ซื่อ โบ้ยกลุ่มก่อกวนป่วนใต้ ลั่นม็อบห้ามบุกเขตมั่นคง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง(แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ ฝ่ายมั่นคง ส่ง “ภราดร” เคลียร์บีอาร์เอ็น ป่วนยะลาฝีมือใคร ยันคุยต่อ ไม่เปลี่ยนคนเจรจา ปัดคอยตั้งรับ โวช่วงนี้ป่วนลด กลับลำป้องบีอาร์เอ็นไม่ได้ป่วนกลุ่มเดียว แจงดูแลเต็มที่แต่เจอทีเผลอ ปัดไม่ถึงขั้นส่อถึงความจริงใจมาเลย์-บีอาร์เอ็น ฉุนสื่อจี้ใจดำบีอาร์เอ็นหน้าไหว้หลังหลอก ลั่นไม่ได้ป่วน โบ้ยฝีมือกลุ่มก่อกวน แจง พ.ร.บ.มั่นคงฯ ไว้ป้องกันเหตุ ยึดเบาไปหนักตามสถานการณ์ ห้ามเข้า 3 เขตที่ประกาศ ปัดขู่ให้กลัว แค่ให้ทำตาม

วันนี้ (2 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ระเบิดและเผาในพื้นที่ จ.ยะลา หลายจุดว่า ได้ให้ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปประมวลเหตุการณ์ทั้งหมดเพื่อประสานไปทางผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซีย เพื่อให้สอบถามไปยังบีอาร์เอ็นว่าเป็นการกระทำของใครกันแน่ เป็นผู้ก่อกวนหรือกระบวนการ ทาง สมช.น่าจะประมวลผลเสร็จและสามารถส่งไปทางผู้อำนวยความสะดวกได้ภายในวันนี้ หลังจากนั้นไม่นานคงทราบผล ซึ่งตนได้พูดคุยกับทางเลขาฯ สมช.แล้ว ให้สอบถามไปว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์ถี่ยิบมากเกินไป ทั้งๆ ที่ได้มีการพูดคุยกันแล้ว เป็นฝีมือของใครกันแน่ ซึ่งเราต้องทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

“ขณะนี้รอความชัดเจนจากทางบีอาร์เอ็นก่อน ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ใครทำ ใช่บีอาร์เอ็นหรือไม่ หรือเป็นกลุ่มก่อกวนกลุ่มอื่น มันอาจจะไม่ใช่ทางกลุ่มขบวนการเขาทำก็ได้ อาจเป็นกลุ่มก่อกวนที่ไม่ประสงค์จะให้การเจรจาเป็นไปด้วยความเรียบร้อยก็ได้” พล.ต.อ.ประชากล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางการข่าวได้รายงานหรือไม่ว่าเกิดจากการกระทำของกลุ่มไหน รองนายกฯ กล่าวว่า ด้านการข่าวยังไม่ชัดเจน อยู่ระหว่างการประเมินของ สมช. ทั้งนี้แม้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะมุ่งประเด็นใดก็ตาม แต่การเจรจาต้องเดินหน้าต่อไป

“ผมคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่ถึงขั้นที่ต้องล้มการเจรจา เพราะการเจรจาเป็นหนทางเดียว เป็นหนทางที่ดีที่สุดในการที่จะยุติปัญหาความขัดแย้ง ไม่มีปัญหาใดหรอกที่จบลงด้วยอาวุธ มันต้องจบลงบนโต๊ะเจรจาด้วยการพูดคุยทั้งนั้น ส่วนระยะเวลาและเนื้อหาก็คงต้องรอความพร้อมระยะหนึ่ง” รองนายกฯ กล่าว และว่า ช่วงรอมฎอนเราจึงต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่ถือศีลอดในช่วงรอมฎอนนี้ ซึ่งเราก็ทำหน้าที่ของเราเท่าที่มีความจำเป็น เมื่อถามว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดมาตลอดตั้งแต่ก่อนรอมฎอน จนอยู่ในช่วงรอมฎอนก็ยังเกิดอยู่ เราวิเคราะห์อยู่แล้ว ซึ่งหากเทียบเหตุการณ์ก่อนรอมฎอนกับช่วงนี้ถือว่าเหตุเกิดน้อยมาก ตนจะเอาสถิติมาให้สื่อมวลชนดู เมื่อก่อนเกิดมากกว่านี้หลายเท่า

เมื่อถามว่า การเกิดเหตุในช่วงรอมฎอนเท่ากับว่าสิ่งที่บีอาร์เอ็นรับปากว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์หรือจะพยายามจะลดความรุนแรง ก็ไร้ผล พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า “เราอย่าเพิ่งไปโทษบีอาร์เอ็น เราต้องถามเขาก่อนว่าเป็นการกระทำของใคร”

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลยอมรับว่าในพื้นที่มีกลุ่มบีอาร์เอ็นกลุ่มเดียวที่ก่อเหตุอยู่ แต่ทำไมตอนนี้มาบอกว่ามีกลุ่มอื่นอีก รองนายกฯ กล่าวว่า “มีสิ ก็กลุ่มก่อกวนไง กลุ่มที่ไม่ประสงค์จะให้การเจรจาบรรลุผล ซึ่งกลุ่มก่อกวนก็ทราบกันดีว่า 4-5 คนก็ก่อกวนได้แล้ว เผาตรงนั้น ระเบิดตรงนี้ ทำกันได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทางผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซียจะต้องถามบีอาร์เอ็นว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นการกระทำของบีอาร์เอ็นหรือไม่ ถ้าใช่บีอาร์เอ็น ก็ต้องถามต่อว่าทำเพราะอะไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า เราควรกลับมาพิจารณาบุคคลที่จะไปเจรจาใหม่หรือไม่ เพื่อให้การเจรจาเข้มแข็งกว่าที่ผ่านมา ไม่อ่อนข้อกับบีอาร์เอ็นมากเกินไป พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า กลุ่มบุคคลผู้เจรจาไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นอยู่ที่เนื้อหาการเจรจาได้รับการยอมรับหรือไม่ เราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน เมื่อถามว่าระหว่างที่เรารอความชัดเจนจากผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซียที่ไปสอบถามบีอาร์เอ็นจะคุ้มกันหรือไม่ เพราะคนของเราก็เสียชีวิตไปทุกวัน ธุรกิจของเราก็พัง และเสียหาย พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ป้องกัน เราก็ป้องกันอยู่แล้ว เราด่านตรวจ มีสายตรวจ มีจุดตรวจ เราทำอย่างเต็มที่ เข้มข้นอยู่แล้ว แต่พวกนี้มันแอบเข้ามาทำ คือเราไม่สามารถเฝ้าได้ทุกตารางนิ้ว ต้องเข้าใจตรงนี้ เราไม่สามารถป้องกันได้ทุกตารางเมตร แต่ฝ่ายที่จะทำ พอเราเผลอตรงไหนมันก็ไปทำ เราจะไปเห็นได้อย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เรามองไปถึงความจริงใจของทั้งมาเลเซียและบีอาร์เอ็นหรือไม่ พล.ต.อ.ประชารีบบอกว่า “ผมไม่อยากให้มองถึงขนาดนั้น เรากำลังเจรจากันอยู่ อยากให้ถามเขาก่อนว่ามันใช่บีอาร์เอ็นหรือเปล่า และถ้าเป็นการกระทำของบีอาร์เอ็นจริงเขาจะไม่ปฏิเสธ เขาจะบอกมาเลย เมื่อถามย้ำว่าหากบีอาร์เอ็นบอกว่าเป็นการกระทำของบีอาร์เอ็นจริง แต่เป็นกลุ่มย่อย เราจะตั้งรับหรือมีมาตรการอย่างไร รองนายกฯ กล่าวว่า ก็ต้องมีการเจรจากันใหม่ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ เมื่อถามว่าได้มองทางเลือกที่มีคนบอกว่าบีอาร์เอ็นหลอกเราหรือไม่ คือต่อหน้าก็รับปากดีทุกอย่าง แต่ลับหลังอีกอย่าง พล.ต.อ.ประชากล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า “รอให้เขาเจรจาก่อน อย่าเพิ่งไปสมมติ รอให้เขาเจรจากันก่อน อย่าไปสมมติว่าจะอย่างโน้น หรือจะอย่างนี้ แล้วอย่างนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไหร่จะสงบ ถ้าคุณมัวไปสมมติอย่างนี้ และถ้าเขาไม่ได้ทำล่ะ จะไปสมมติว่าเขาทำได้ไง” เมื่อถามอีกว่าถ้าบีอาร์เอ็นไม่ได้ทำ แล้วกลุ่มไหนทำ พล.ต.อ.ประชากล่าวทันทีว่า “กลุ่มก่อกวน เป็นกลุ่มก่อกวนที่ไม่อยากให้เกิดความสงบในพื้นที่ ไม่อยากให้มีการเจรจาสำเร็จ เป็นกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มยาเสพติดก็มี กลุ่มของเถื่อนก็มี สารพัดกลุ่ม”

พล.ต.อ.ประชากล่าวต่อถึงการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ภายหลังการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ว่า มาตรการต่างๆ จะออกมาโดยผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ผอ.ศอ.รส.) ซึ่งก็คือ ผบ.ตร.ที่จะออกมาเป็นขั้น เป็นตอนเริ่มจากเบาไปหาหนัก เช่นปิดกันจราจรไม่ให้เข้า หรือใช้โล่ กระบอง ส่วนอาวุธจะไม่ใช้ เพราะนโยบายของรัฐบาลจะไม่ใช้ความรุนแรง ทุกอย่างจะดำเนินไปตามหลักสากล อุปกรณ์ทุกอย่างเรามีพร้อมอยู่ที่ว่าจะใช้หรือไม่ใช้ ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์นั้นๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการรับมือกับม็อบที่จะไปชุมนุมในจุดที่ไม่มีการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ อย่างไร มีการข่าวออกมาหรือไม่ พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า เท่าที่มีรายงานของฝ่ายการข่าวทุกหน่วยตรงกันว่า จะมีการรวมพลังกันเพื่อต่อต้านการประชุมสภา เพื่อไม่ให้ผ่าน พ.ร.บ.บางฉบับ จึงกำหนดให้พื้นที่สภาเป็นพื้นที่เป้าหมายที่จะประกาศ และกลุ่มผู้ชุมนุมยังประกาศจะล้มรัฐบาล ซึ่งเป้าหมายก็อยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล จึงได้ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพื่อป้องกันทั้ง 2 จุดนี้ให้ได้ ซึ่งการที่กำหนดพื้นที่ดังกล่าวก็เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยให้กับประชาชนเป็นสำคัญ เป็นการป้องกันเหตุ เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มีความพิเศษไม่เหมือนกฎหมายฉบับอื่น เป็นการป้องกัน ระงับยับยั้งภัยที่อาจเกิดขึ้นต่อความมั่นคง

เมื่อถามว่าได้มีการประสานกับทางแกนนำผู้ชุมนุมหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ในทางลึกๆ ก็มีการประสานกันอยู่แล้ว ส่วนกลุ่มมวลชนที่จะมาจากทางภาคใต้นั้น ทางการข่าวมีการประเมินมาให้ทราบตลอด และเราก็ติดตามตลอด อย่างไรก็ตามการชุมนุมของประชาชนถือเป็นสิทธิที่สามารถชุมนุมได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้ความสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งพื้นที่รอบๆ สภาและพื้นที่ที่อยู่ในเขตมีการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ กลุ่มผู้ชุมนุมจะไม่สามารถเข้ามาได้ และที่ผ่านมาก็มีการประเมินแล้วว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะมีการเคลื่อนย้ายไปที่ใดบ้าง จึงได้ประกาศ 3 เขตนี้ และถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลพยายามรักษาความสงบไว้ให้ได้เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียของประชาชน

ส่วนที่บางฝ่ายบอกว่าไม่กลัวการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ นั้น รองนายกฯ กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องของความรู้สึก รัฐบาลไม่ได้ต้องการให้กลัว แต่ต้องการให้ปฏิบัติตาม และหากจะมีการนำไปร้องต่อศาลยุติธรรม ก็เป็นสิทธิก็สามารถยื่นไปได้


กำลังโหลดความคิดเห็น