ส.ส.เพื่อไทย เตรียมบีบ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ลาออก สับเละทำรัฐบาลทำงานกับทหารลำบาก แนะคนทำหน้าที่แทนมีเยอะ ด้าน “วรชัย” ลุ้นกล้าไม่กล้าลุยนิรโทษกรรมวาระแรก ลั่นถอยไม่ได้แล้วรัฐบาลจะล้มก็ให้รู้ไป
วันนี้ (23 ก.ค.) นายเวียง วรเชษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในวันที่ 30 ก.ค.พรรคเพื่อไทยจะนัดประชุม ส.ส.และสมาชิกพรรค โดยตน และ ส.ส.หลายคน คงจะลุกขึ้นสอบถามเกี่ยวกับเรื่องคลิปลับการสนทนาระหว่างคนเสียงคล้าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหม ที่ยังคาใจอย่างมาก จะปล่อยให้เรื่องเงียบไปเฉยๆ ไม่ได้ ต้องทำทุกอย่างให้กระจ่าง เพราะมันเสียหายไปแล้ว ตนมองว่า คนเป็นรัฐมนตรีดูแลกองทัพ ปล่อยให้มีเรื่องแบบนี้หลุดออกมาได้อย่างไร มันไม่ถูกต้อง ไม่สมควร ฝ่ายทหารต้องมีความรับผิดชอบที่สูง เรื่องแค่นี้ยังรักษาไม่ได้ แล้วจะไปดูการข่าว ความมั่นคงของประเทศได้อย่างไร ต่อไปประชุมอะไรกันเขาก็รู้กันทั่วบ้านทั่วเมือง พล.อ.ยุทธศักดิ์ สมควรพิจารณาตัวเอง อยู่ต่อไปการทำงานระหว่างรัฐบาลกับกองทัพจะลำบาก วันนี้คนอื่นเขาประเมินแล้วว่า อยู่ต่อไปก็ไม่ดี ไม่มีคนเชื่อมั่นในตัว พล.อ.ยุทธศักดิ์ และงานหนักจะตกอยู่ที่นายกฯ ที่เป็น รมว.กลาโหม พล.อ.ยุทธศักดิ์ เมื่อด่างพร้อยก็อำลากันไป ลาออกไปดีกว่า คนอื่นมาเป็นแทนได้เยอะแยะ
ด้าน นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย แกนนำ 42 ส.ส.เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กล่าวว่า ช่วงเปิดสภาสมัยสามัญทั่วไป 1 ส.ค.ดูตามเนื้อผ้าและเหตุผลแล้ว ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะเข้าอยู่การพิจารณาเป็นวาระแรก ในวันที่ 7 ส.ค.เพราะได้คุยกับคณะกรรมาธิการงบประมาณแล้วคิดว่าในวันดังกล่าวไม่น่าจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปี 2557 ได้ทัน ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราที่เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.ก็ไม่น่าจะเข้าทันเช่นกัน ส่วนเรื่องของ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ก็ยังไม่เสร็จดี อีกทั้งยังมีการยื่นตีความอยู่ ก็ไม่รู้ว่าพรรคจะกล้าหรือเปล่า ขณะที่กฎหมายอื่นใดก็ยังไม่มีความจำเป็นต้องเลื่อนขึ้นมาพิจารณา ดังนั้นจึงมีเรื่องเดียวที่จะพิจารณาคือ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน เงื่อนไขที่ติดขัดก็เห็นจะเป็นกลุ่มต่อต้านหน้าเดิมๆ รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องกลัวอะไรทั้งสิ้น เราถอยไม่ได้แล้ว รัฐบาลจะล้มก็ให้มันรู้ไปแต่อย่างน้อยก็ล้มบนตักประชาชน รัฐบาลต้องใช้กลไกของรัฐเข้ามาดูแลม็อบอย่างเข้มงวด แต่เคารพสิทธิ ไม่ใช้ความรุนแรง แต่ถ้ามีการทำอะไรเกินเลยถึงขั้นบุกสภาก็ต้องจัดการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด