ป.ป.ช.มีมติ 8 ต่อ 0 ยกคำร้อง "คุณหญิงสุดารัตน์" และทีม คดีจัดซื้อคอมพิวเตอร์สาธารณสุข 821 ล้าน ชี้ไม่มีน้ำหนักเพียงพอว่ามีพฤติกรรมบีบขรก.และบริษัทไม่ให้ชนะประมูล "วิชัย" ปลัดสธ.ก็รอดด้วย พร้อมมติ 5 ต่อ 3 ชี้กก.พิจารณาผลประกวดราคาไม่ผิด ส่วนประธานสอบข้อเท็จจริง ถูกเลื่อนพิจารณาไปครั้งหน้า
วันนี้ (2 ก.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาตินายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. นานกว่า 6 ชั่วโมง ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาคดีการกล่าวหา ร้องเรียนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.กระทรวงสาธารณสุข กับพวกรวม 16 คน ว่า กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 กรณียกเลิกโครงการประกวดราคาจัดซื้อและติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการบริหารข้อมูลข่าวสาร ด้านการเงินการคลังและข้อมูลโรงพยาบาล จำนวน 818 แห่งทั่วประเทศ ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2547 โดยที่ประชุม โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ 8 เสียง ให้ยกคำร้อง ในประเด็นการกล่าวหานักการเมืองที่ประกอบด้วย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณุข นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ผู้ช่วย รมว.สาธารณสุขและนายอุดมเดช รัตนเสถียร เลขานุการ รมว.สาธารณสุขในขณะนั้น เนื่องจากไม่พบว่ามีพฤติกรรมข่มขืนใจและบีบบังคับให้ข้าราชการประจำ กลั่นแกล้งบริษัทกิจการร่วมค้า พีสแควร์ ไทยคอม ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดให้ไม่ไดเป็นผู้ชนะการประกวดราคาในโครงการดังกล่าว โดยจากการไต่สวนพยานบุคคลและเอกสารที่มีการอ้างถึง ข้อเท็จจริงไม่มีน้ำหนักที่จะฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามได้กระทำตามที่มีการกล่าวหาร้องเรียน
นอกจากนี้ ยังมีมติเอกฉันท์ยกคำร้องกรณีกล่าวหา นายวิชัย เทียนถาวร ปลัดกระทรวงขณะนั้นในฐานะผู้อนุมัติยกเลิกการประกวดราคา และมีมติด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 3 เสียง ว่าการดำเนินการของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา ที่ประกอบด้วย นายชาตรี บานชื้น ผู้ตรวจราชการกระทรวง นายสมชาย เชื้อเพชระโสภณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสาธารณสุข นายชาญวิทย์ ทระเทพ ผอ.สำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ นายเทียม อังสาชน ผอ.รพ.สระบุรี นายวิบูลย์ แสงวีรพันธุ์ศิริ รองศาสตราจารย์ศูนย์คอมพิวเตอร์คณะวิศวกรรมศาศตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายชัยเชวง กฤตยาคม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ บ.ทศท คอเปอร์เรชั่น จำกัดมหาชน และนายวริทธิ์นันท์ จินดาถาวรกิจ นิติกร 7 กลุ่มกฎหมายสำนักบริหารกลาง ไม่มีมูลควาผิด ให้ยกคำร้อง ทั้งนี้ ในส่วนกรณีการกล่าวหานายพิพัฒน์ ยิ่งเสรี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการประกวดราคาซื้อและติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ปี 2547 นายจรัญ ตฤณวุฒิพงษ์ อธิบดีกามควบคุมโรคและรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายบุญเลิศ ลิ้มทองกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวง ที่ประชุม ป.ป.ช. มีมติให้เลื่อนการพิจารณาออกไปในการประชุมครั้งต่อไป
อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.ให้เหตุผลการยกคำร้องว่า แม้ในการประชุมของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา ครั้งที่ 6 เมื่อ 16 เม.ย. 2547 ได้มีติเรียก บริษัทกิจการร่วมค้าพีสแควร์ ไทยคอม ที่เสนอราคาต่ำสุด โดยมีคู่แข็งคือบริษัท ไพรม์ลิ้งค์ จำกัด ที่เสนอราคาสูงกว่าแต่ไม่เกินร้อยละ 20 มาต่อรองราคากัน และต่อมาในวันที่ 3 พ.ค. 2547 คณะกรรมชุดดังกล่าว มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อร้องขอความเป็นธรรมต่อรัฐมนตรีในสมัยนั้น เพื่อให้ทบทวนการประกวดราคา คณะกรรมการจึงได้มีการประชุมพิจารณาข้อร้องเรียนใน วันที่ 15 มิ.ย. 2547 และมีมติว่า บ.ไพรม์ลิ้งค์ จำกัด มีคุณภาพสินค้าและบริการหลังการขายดีกว่า คณะกรรมพิจารณาผลการประกวดราคาจึงมีมติเสียงข้างมากเห็นควรจึงเสนอให้ยกเลิกการประกวดราคา ซึ่งการประชุมดังกล่าวที่ประชุม ป.ป.ช พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการประชุมตามระเบียบสำนักนายรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุและมีเหตุผลที่รับฟังได้ อีกทั้งเป็นไปตามคำวินิจฉัยของอัยการกระทรวงการคลังและศาลปกครองกลาง ที่ระบุว่า ตราบใดที่คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคายังไม่มีการเสนอใบราคาจัดซื้อจัดจ้างไปยังหัวหน้าส่วนราชการผู้มีอำนาจในการอนุมัติสามารถจะนำกลับมาทบทวนแล้วพิจารณาใหม่ได้ โดยคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาย่อมมีดุลยพินิจพิจารณาทบทวนการดำเนินการของตนเองได้ การไม่รายงานผลการพิจารณา ผลการประกวดราคา จนนำไปสู่การพิจารณาสั่งยกเลิกผลการประกวดราคานั้นตามคำวินิจฉัยของ ศาลปกครองกลาง กระทรวงคลัง กรมอัยการ ก็เห็นตรงกันว่าการยกเลิกสามารถทำได้เป็นการชอบด้วยระเบียบ ตลอดจนมีเหตุผลของการยกเลิก อย่างไรก็ตาม การล่าช้าของคดีนี้เกิดจากผู้ถูกร้องมีการยื่นขอถอดถอนบุลคลในคณะอนุกรรมการชุดแรกที่มีนายภักดี โพธิศิริ กรรมการป.ป.ช. เป็นประธานพร้อมทั้งยังมีประเด็นปัญหาในเรื่องของเอกสารที่ไม่ตรงกันระหว่างเอกสารที่ ป.ป.ช.ได้มา และเอกสารของผู้ถูกร้องยื่นเพิ่มเติมเข้ามา จึงต้องใช้เวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งนี้มติของ ป.ป.ช ในครั้งนี้ถือเป็นการปิดฉากคดีที่มีการกล่าวหา คุณหญิงสุดารัตน์และพวก รวมถึงข้าราชการ 16 คน เป็นเวลากว่า 10 ปี
สำหรับคดีการทุจริตคอมพิวเตอร์ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เกิดขึ้นในสมัยที่คุณหญิงสุดารัตน์ดำรงตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข ช่วงปี 2547 ซึ่งขณะนั้นเกิดความขัดแย้งกันระหว่างฝ่ายการเมือง คือ คุณหญิงสุดารัตน์กับฝ่ายข้าราชการประจำ ที่นำโดยนายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ที่ถูกคุณหญิงสุดารัตน์สั่งปลด จนเป็นที่มาของการเปิดเผยข้อมูลกล่าวหาว่าต่างฝ่ายต่างเกี่ยวข้องกับการทุจริตการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ดังกล่าว และทำให้เกิดการร้องเรียนมายัง ป.ป.ช.
ทั้งนี้ การประชุม ป.ป.ช.เพื่อชี้มูลเรื่องดังกล่าวเดิมกำหนดไว้ตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย. แต่เนื่องจากได้มีการขอคำสั่งจากศาลอาญา และศาลปกครอง กรณีบุคคลในกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหามีการฟ้องร้องกันว่า ต่างฝ่ายต่างให้การเท็จต่อ ป.ป.ช.มาประกอบการพิจารณา ประกอบกับยังมี 2-3 ประเด็นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังพิจารณาไม่เป็นที่ยุติ จึงจะนำไปพิจารณาต่อในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 20 มิ.ย.
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 20 มิ.ย.ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมซึ่งใช้เวลา 3 ชั่วโมง นายกล้านรงค์เปิดเผยว่า ยังมีอีกหลายประเด็นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาไม่เป็นที่ยุติ จึงมีมติให้นำไปพิจารณาต่อในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ แต่เมื่อถึงวันที่ 25 มิ.ย.ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติเลื่อนการพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากนายประสาท พงษ์ศิวาภัย หนึ่งในกรรมการ ป.ป.ช.ป่วยเป็นโรคนิ่วต้องเข้ารับการผ่าตัดอย่างกะทันหัน