โฆษกกลาโหมนำผู้แทนเหล่าทัพแถลงผลไฟใต้ เน้น 3 ด้าน พัฒนา-ปลอดภัย-ยุติธรรม ยันมือบึ้มหน้ารามฯ ไม่เกี่ยวสถานการณ์ ไม่มีประวัติป่วน ชี้เมืองหลวงไม่ใช่เป้า รอบีอาร์เอ็นส่งรายละเอียด 5 ข้อเสนอ ระบุถ้ารอมฎอนยังมีเหตุอาจเปลี่ยนกลุ่มคุย ด้านตำรวจพร้อมลงช่วย
วันนี้ (21 มิ.ย.) ที่กระทรวงกลาโหม เมื่อเวลา 10.00 น. พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะโฆษกคณะกรรมการประชาสัมพันธ์การดำเนินการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วยผู้แทนจากกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย ผู้แทนจาก 3 เหล่าทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในแห่งราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลังจากที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ได้ประชุมกำหนดแนวทางการประชาสัมพันธ์เชิงรุกในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา
โดย พ.อ.ธนาธิปกล่าววว่า ขณะนี้เราแบ่งการทำงานเป็น 3 ด้าน คือ การพัฒนา การรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน และการอำนวยความยุติธรรม สำหรับจุดที่มีการก่อเหตุซ้ำซากนั้น นายกรัฐมนตรีได้ให้กระทรวงมหาดไทยตรวจสอบพื้นที่ที่เกิดเหตุร้ายซ้ำซาก โดยให้เร่งดำเนินการกำหนดแผนงานให้ชัดเจนเพื่อให้เกิดความปลอดภัย โดยได้จ้างแรงงานในพื้นที่เพื่อถางหญ้า ปรับปรุงขยายถนน พร้อมทั้งติดกล้องวงจรปิดและโคมไฟส่องสว่าง
“ในพื้นที่ที่กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำแผนงานดำเนินการ เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณ ในการดำเนินการประกอบด้วย จ.นราธิวาส มี 4 อำเภอ ได้แก่อ.เมือง อ.บาเจอะ อ.ระแงะ และอ.รือเสาะ จ.ยะลา 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.รามัน และอ.บังนัสตา จ.ปัตตานี 6 อำเภอได้แก่ อ.เมือง อ.ปานาเระ อ.โคกโพธิ์ อ.ยะหริ่ง อ.สายบุรี และอ.ทุ่งยางแดง โดยใช้งบประมาณในการดำเนินการทั้งหมด 32 กว่าล้านบาท ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ต้องหาคดีวางระเบิดหน้ารามคำแหงที่จับได้ใน จ.นราธิวาส เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในภาคใต้หรือไม่นั้น ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับภาคใต้ เพราะตั้งแต่เกิดปัญหาเมื่อปี 2547 การก่อเหตุไม่เคยขยายออกมานอกพื้นที่ และกทม.ไม่ใช่พื้นที่ประสงค์หลักของผู้ก่อเหตุ แม้กระทั่งภาคใต้ตอนบนก็ยังไม่เคยมีการก่อเหตุ ขอให้ประชาชนสบายใจได้ และจากการตรวจสอบแฟ้มประวัติของตำรวจก็ไม่พบว่า ผู้ต้องหามีความเกี่ยวข้องกับผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แต่อย่างใด” โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าว
ด้าน พ.อ.จรูญ อำภา ที่ปรึกษา สมช.กล่าวว่า สำหรับการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ในส่วนของ 5 ข้อเสนอนั้น ยืนยันว่าการดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาลต้องอยู่ภายในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้ง 5 ข้อเสนออยู่นอกกรอบและเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตัวแทนฝ่ายรัฐไทยที่ไปพูดคุยจึงจำเป็นที่ต้องนำข้อเสนอดังกล่าวกลับมาหารือ ทั้งนี้ในสัปดาห์หน้าทางผู้นำกลุ่มบีอาร์เอ็นจะส่งรายละเอียดของ 5 ข้อเสนอมาให้กับฝ่ายรัฐไทย โดยทางคณะกรรมการจะสรุปและรวบรวม พร้อมเสนอผู้บังคับบัญชา เพื่อหาแนวทางการดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตามแม้ในพื้นที่ยังมีการก่อเหตุอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีความเชื่อมั่นในตัวของผู้นำบีอาร์เอ็นว่าจะสามารถนำพาให้เกิดความสันติสุขได้ ทั้งนี้หากข้อเสนอที่ฝ่ายไทยยื่นให้ทางบีอาร์เอ็นหยุดก่อเหตุช่วงเดือนรอมฎอน หรือศีลอดนั้น ถ้าหากยังมีการก่อเหตุ เราจะต้องทบทวนการพูดคุย และอาจจะเปิดการพูดคุยกับกลุ่มอื่นๆ เพราะกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ยังมีอีก 7-8 กลุ่ม ทั้งนี้เราไม่ได้เน้นเฉพาะตัวบุคคล เช่นนายสะแปอิง บาซอ เพราะคิดว่าเป้าหมายของทุกกลุ่มเหมือนกัน และไม่กังวลว่าจะมีปัญหาถึงข้อเรียกร้องที่จะมีมากขึ้น
ขณะที่ พ.ต.อ.อนุชา รมยะนันทน์ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาภัยแทรกซ้อนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เป็นการก่ออาชญากรรมพื้นฐานและสนันสนุนให้มีการกระทำผิดทางกฎหมาย ซึ่งทาง สตช.ได้มีการติดตามพร้อมทั้งหาแนวทางเชิงรุกดูแลเรื่องนี้ ส่วนความพร้อมของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะลงไปในพื้นที่เพื่อทดแทนกำลังพลทหารนั้น ปัจจุบันกำลังพลของตำรวจมี 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. ตำรวจชุดปฏิบัติการพิเศษ รับผิดชอบด้านความมั่นคง จำนวน 1,662 นาย โดยเป็นทหารพรานที่ปลดประจำการไปแล้วที่มีการฝึก 4 เดือน ปัจจุบันกำลังไปดูงานในสถานีตำรวจภูธรในอำเภอนั้นๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพร้อมปฎิบัติงานในพื้นที่ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ โดยจะส่งมอบให้กับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อส่งตัวไปให้ หน่วยเฉพาะกิจ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส แบ่งเป็น 38 หมวด หมวดละ 1 อำเภอ 2. บุคคลภายนอก คือ ผู้ที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยจะได้รับการฝึก 6 เดือน ขณะนี้ได้บรรจุตามสถานีตำรวจในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ทาง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ได้สั่งการให้เพิ่มเติมในส่วนของพนักงานสอบสวนชั้นผู้ใหญ่ระดับสารวัตร จำนวน 137 อัตรา รวมถึงครูฝึกชุดรบพิเศษ ชุดสืบสวนพิเศษ จำนวน 1,900 คน