“ชูชาติ ศรีแสง” ยกหลักกฎหมาย ม.2 ประกอบ ม.18 ย้ำใส่-ขายหน้ากากขาวไม่เป็นความผิด ระบุหาก ตร.มะเขือเทศจับ เข้าข่ายทำผิดเสียเองตาม ป.อาญา ฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ และฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 19 มิ.ย. เมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. ท่านชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Chuchart Srisaeng ถึงกรณีที่สงสัยกันว่า การใส่หน้ากากขาวผิดกฎหมายหรือไม่ เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้หรือไม่ ตามความดังนี้
“เคยบอกไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่ใคร่อธิบายให้ละเอียดอีกครั้ง ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ดังนี้
มาตรา ๒ บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทําการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทํานั้นบัญญัติเป็นความผิดและกําหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทําความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทําเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทําการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทําความผิด และถ้าได้มีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้วก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคําพิพากษาว่าได้กระทําความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง
มาตรา ๑๘ โทษสําหรับลงแก่ผู้กระทําความผิดมีดังนี้
(๑) ประหารชีวิต
(๒) จําคุก
(๓) กักขัง
(๔) ปรับ
(๕) ริบทรัพย์สิน
ตามบทบัญญัติในมาตรา ๒ วรรคแรก หมายความว่า การกระทำอะไรจะเป็นกระทำที่ผิดกฎหมายที่มีโทษทางอาญาหรือไม่นั้น ก็ต้องพิจารณาว่า การกระทำนั้นๆ มีกฎหมายบัญญัติไว้ในขณะที่กระทำว่า เป็นความผิดหรือไม่และกำหนดโทษไว้หรือไม่
การกระทำจะมีความผิดก็เมื่อในขณะกระทำมีกฎหมายบัญญัติว่า เป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ด้วยหากเพียงบัญญัติว่าเป็นความผิดแต่ไม่ได้กำหนดโทษไว้ หรือกำหนดโทษไว้แต่ไม่ได้บัญญัติว่าเป็นความผิด ผู้กระทำก็ไม่มีความผิด
โทษที่จะนำมาลงโทษผู้กระทำผิดก็ต้องเป็นโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ จะนำโทษที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้มาใช้ลงโทษผู้กระทำความผิดไม่ได้
สำหรับโทษที่จะนำมาลงแก่ผู้กระทำความผิดก็มี 5 อย่าง คือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับและริบทรัพย์สิน คือถ้าบัญญัติว่าเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ โทษที่กำหนดไว้ก็มีเพียง 5 อย่างนี้เท่านั้น
การกำหนดโทษสำหรับการกระทำความผิดแต่ละอย่าง ก็ไม่จำเป็นต้องกำหนดครบทั้ง 5 อย่าง อาจมีเฉพาะโทษประหารชีวิต หรือประหารชีวิตกับจำคุก หรือจำคุกอย่างเดียว หรือจำคุกกับปรับ หรือปรับอย่างเดียว หรือกักขังอย่างเดียว หรือริบทรัพย์สินอย่างเดียวก็ได้
กรณีที่พ่อแม่ทำโทษบุตรหรือครู อาจารย์ ทำโทษนักเรียน โดยการเฆี่ยนตี วิ่งรอบสนาม ยืนคาบไม้บรรทัด หรืออื่นๆ โทษเหล่านี้ไม่ใช่เป็นโทษทางอาญา เพราะไม่ได้บัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาว่าเป็นโทษทางอาญา
ประเทศอื่นๆ ก็มีบทลงโทษแตกต่างกันไป บางประเทศให้ลงโทษโดยการเฆี่ยนตี จำนวน 100 ครั้งบ้าง 200 ครั้งบ้าง ในประเทศอาหรับบางประเทศ ความผิดฐานลักทรัพย์ ถูกลงโทษให้ตัดมือที่ใช้ลักทรัพย์ หรือความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ถูกลงโทษโทษโดยให้ประชาชนทุบตีจนจำเลยถึงแก่ความตาย
นั่นเป็นการลงโทษตามกฎหมายของแต่ละประเทศซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามพื้นฐานทางศาสนา ประเพณีและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ แต่จะนำมาใช้ลงโทษผู้กระทำความผิดในประเทศไทยไม่ได้ ไม่ว่าผู้กระทำความผิดจะเป็นคนไทยหรืิอชาวต่างประเทศ โทษที่จะมาลงต้องเป็นโทษตามที่กฎหมายอาญาบัญญัติไว้คือโทษ 5 อย่างดังที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น
สำหรับที่เกี่ยวกับหน้ากากขาวหรือหน้ากากสีอื่นๆ นั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่า ใครมีไว้ในครองครองเป็นความผิด หรือเอามาใส่มีความผิด หรือมีไว้เพื่อขายมีความผิด และไม่ได้กำหนดโทษไว้ ดังนั้นใครมีไว้ในครอง ใครเอามาใส่ หรือใครมีไว้ขายก็ไม่มีความผิด เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัตว่าเป็นความผิดและไม่ได้กำหนดโทษไว้ จึงไม่ต้องรับโทษทางอาญา เจ้าพนักงานตำรวจจึงไม่อาจจับกุมได้ เจ้าพนักงานตำรวจผู้ใดจับกุมก็ย่อมมีความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสียเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 และฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย
ส่วนตามวรรคสองที่ว่า ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทําเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทําการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทําความผิด และถ้าได้มีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้วก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคําพิพากษาว่าได้กระทําความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง นั้น
หมายความว่า ถ้ามีบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติภายหลังไม่ได้กำหนดให้การกระนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ให้ผู้ที่กระทำความผิดนั้นพ้นจากการเป็นผู้มีความผิด ถ้าถูกศาลพิพากษาลงโทษก็ให้ถือว่าไม่เคยถูกพิพากษาว่ามีความผิด ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การรับโทษนั้นสิ้นสุดลง
กรณีที่นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ กับพวก ได้ยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 ถ้ารัฐสภามีการแก้กฎหมายอาญายกเลิกมาตรานี้ ต่อไปใครหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์และพระราชินี ก็ไม่มีความผิดตามมาตรานี้อีก เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดแล้ว
นางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือดา ตอร์ปิโด ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กระทงละ 5 ปี รวม 3 กระทงเป็น 15 ปี นั้น ก็ย่อมไม่มีความผิดอีกต่อไป ทางเรือนจำต้องปล่อยตัวไป แต่ถ้าคดีถึงที่สุดโดยนางดารณีไม่ฎีกาหรือกฎหมายที่แก้ไขมีผลบังคับเป็นกฎหมายหลังจากคดีถึงที่สุดแล้ว ก็ให้ถือว่านางดารณีไม่เคยถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดและต้องปล่อยตัวไปเช่นเดียวกัน ครับ”