ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 15 ปี “ดา ตอร์ปิโด” แนวร่วม นปช.ปราศรัยหมิ่นเบื้องสูง ชี้ควรลงโทษสถานหนักเพื่อไม่ให้บุคคลอื่นกระทำเป็นเยี่ยงอย่าง
ที่ห้องพิจารณา 801 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (12 มิ.ย.) เมื่อ เวลา 10.00 น. ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.3959/2551 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือดา ตอร์ปิโด อายุ 55 ปี แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุก 3-15 ปี
โจทก์ฟ้องระบุพฤติการณ์ว่า ระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2551 เวลากลางคืน จำเลยขึ้นปราศรัยบนเวทีเสียงประชาชน ณ ท้องสนามหลวง ด้วยการกระจายเสียงทางเครื่องขยายเสียง ท่ามกลางประชาชนที่มาฟังจำนวนหลายคน โดยกล่าวคำพูดจาบจ้วง ล่วงเกิน เปรียบเทียบและเปรียบเปรย หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และทำให้สถาบันฯเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนไม่เคารพ เสื่อมศรัทธา เหตุเกิดที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กทม.
โดยศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2554 พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม 3 นาย ที่เป็นสายสืบฟังการปราศรัยพบว่าจำเลยกล่าวข้อความดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ จึงบันทึกเสียงลงแผ่นซีดี พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังได้ว่าจำเลยกล่าวคำพูดจาบจ้วง ดูหมิ่นสถาบัน ซึ่งจำเลยกระทำผิด มาตรา 112 ให้จำคุก 3 กระทงๆ ละ 5 ปี รวมจำคุกทั้งสิ้น 15 ปี ต่อมาจำเลย ยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า พฤติการณ์ของจำเลยทำให้สถาบันเสื่อมเสียเกียรติยศ ชื่อเสียง เห็นควรลงโทษสถานหนักเพื่อไม่ให้บุคคลอื่นกระทำเป็นเยี่ยงอย่าง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว น.ส.ดารณีถูกนำตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงต่อไป ซึ่งตลอดระยะเวลาการพิจารณาคดีจำเลยไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวแต่อย่างใด ขณะที่ น.ส.ดารณีกล่าวว่า ตนถูกคุมขังมานานกว่า 5 ปีแล้ว แต่ไม่เคยมีแกนนำ นปช.คนใด เดินทางมาเยี่ยมเลย มีเพียง น.ส.สุดา รังกุพันธุ์ แกนนำกลุ่มปฏิญญาหน้าศาลเท่านั้นที่มาเยี่ยม หากถึงเวลาพ้นโทษแล้วก็ไม่แน่ใจว่ายังจะร่วมต่อสู้กับกลุ่ม นปช.ต่อไปอีกหรือไม่