ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ ยื่นผู้ตรวจการฯ จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบรถยนต์หรู ของสมาชิก ส.ส. ส.ว. คณะรัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูงทุกหน่วยงาน ชี้ประเทศชาติขาดรายได้ปีละ 2 หมื่นล้าน ด้านโฆษกผู้ตรวจญ เผยต้องดูว่าอยู่ในอำนาจหรือไม่
วันนี้ (11 มิ.ย.) กลุ่มภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ (ภตช.) นำโดยนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการ ภตช. และคณะ เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่าน นายรักษเกชา แฉ่ฉาย โฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น กรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมการขนส่งทางบก กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในการตรวจสอบรถยนต์หรู ของสมาชิก ส.ส. ส.ว. คณะรัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูงทุกหน่วยงาน ที่ได้ครอบครองหรือมีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์หรู ที่มีราคาตามท้องตลาดเกินกว่า 3 ล้านบาท ว่าได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
นายมงคลกิตติ์ กล่าวว่า จากที่ ภตช. ติดตามตรวจสอบการ การนำเข้ารถยนต์หรูทั้งแบบจดประกอบและนำเข้าโดยกลุ่มผู้นำเข้ารถยนต์อิสระ(เกรย์มาเก็ต) ตั้งแต่ปี 2553 พบว่า มีการกระทำเป็นการเลี่ยงภาษีจำนวนมาก บางรายมีการใช้ตำแหน่งหน้าที่การงานโดยมิชอบ หรือร่วมมือกระทำความผิดกับฝ่ายบริหารหรือข้าราชการประจำ เพื่อให้ได้การครอบครองรถยนต์หรูโดยมีพฤติกรรมสมคบกันเลี่ยงภาษี ทำให้ประเทศชาติขาดรายได้ ปีละ 20,000 ล้านบาท จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบการถือครองรถหรูของกลุ่มบุคคลดังกล่าวว่า มีการเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ มีการจดทะเบียนเพื่อเลี่ยงภาษีหรือไม่ มีการสวมทะเบียน และได้มาโดยชอบหรือไม่ หากพบว่ามีการกระทำความผิดจริง ก็ให้ประสานกับกรมสรรพาสามิต และกรมสรรพากร ดำเนินการจัดเก็บภาษีในระบบอัตโนมัติด้วยการหักจากเงินเดือนของ ส.ส.หรือข้าราชการดังกล่าวเพื่อให้เป็นรายได้ตกแก่แผ่นดิน
นายรักษเกชา กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวผู้ตรวจการฯ ต้องไปพิจารณาดูว่าจะอยู่ในอำนาจหรือไม่ เนื่องจากการตรวจสอบทรัพย์สินของ ส.ส. ส.ว. นั้นไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการฯ แต่ผู้ตรวจการฯ เห็นว่าข้อมูลของผู้ร้องนั้นเป็นประโยชน์ก็สามารถประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบได้