หนึ่งในผู้ร่วมคณะพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็น เปิดห้องประชุมกลาโหมแจง อ้าง “บีอาร์เอ็น” ยังมีบทบาท รับกองกำลังอาร์เคเคฝึกอย่างดี ถนัดก่อเหตุบนถนนยังแก้ไม่ได้ วอนสื่ออย่าเป็นแนวร่วมมุมกลับ ชมรัฐบาลเจรจาส่งผลดี แต่ไม่ทราบคนคุยเป็นผู้นำ เปรียบ “ตอยิบ” แค่ รมว.ตปท.ไม่ได้คุมกำลัง พร้อมเสนอ 6 ข้อคุยเพิ่ม
วันนี้ (3 มิ.ย.) พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมคณะพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ได้เปิดห้องประชุมภายในกระทรวงกลาโหม เพื่อบรรยายพิเศษเกี่ยวกับปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กับสื่อมวลชนได้รับฟัง โดย พล.อ.สำเร็จ ได้กล่าวบรรยายตอนหนึ่งว่า กลุ่มบีอาร์เอ็นถือเป็นกลุ่มที่มีบทบาทในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ต้น โดยพัฒนาปรับปรุงมา 2-3 ยุค ปัจจุบันนี้เข้าสู่ระยะที่ 3 โดยจุดยืนของกลุ่มบีอาร์เอ็น คือ ต้องการแบ่งแยกดินแดนอย่างชัดเจน ส่วนจะสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับประชาชนทั้งประเทศว่า จะยอมถูกแบ่งแยกหรือไม่ แต่ตนไม่ยอม และยืนยันว่าการแบ่งแยกดินแดนจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน แต่ต้องยอมรับว่า กองกำลังทหารของบีอาร์เอ็นที่ใช้ชื่อว่า อาร์เคเค ได้รับการฝึกมาอย่างดี มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ โดยกลุ่มอาร์เคเคมีความชำนาญในการก่อเหตุบนถนน เพราะเหตุการณ์ความรุนแรงส่วนใหญ่ ทั้งการวางระเบิด การซุ่มโจมตี เป็นการก่อเหตุบนถนนทั้งสิ้น ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งที่ยังแก้ไขไม่ได้ ส่วนภัยแทรกซ้อน เช่น การลักลอบค้าของเถื่อน น้ำมันเถื่อน และยาเสพติด ไม่ได้อยู่ในขบวนการของบีอาร์เอ็น แต่เป็นแนวร่วมโดยตรง เพราะรัฐบาลจะต้องแบ่งเงินมาดูแลพวกนี้ เรื่องความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกคนต้องช่วยกันรับผิดชอบ รวมถึงสื่อมวลชนอย่าตกเป็นแนวร่วมมุมกลับโดยไม่รู้ตัว
“ส่วนการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็นนั้น มองว่า นโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้มีการพูดคุยที่จะมีขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 13 มิ.ย.นี้ จะส่งผลดีต่อการแก้ปัญหา เพราะองค์กรนี้เป็นองค์กรลับที่ไม่เคยเปิดเผยตัวตน ส่วนคนที่มาพูดคุยเป็นผู้นำของกลุ่มหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่ที่ทราบ คือ เขาสามารถนำสิ่งที่พูดคุยไปประสานถึงแกนนำสูงสุดได้ และบุคคลที่มาพูดคุยกับรัฐบาลเป็นตัวจริงทั้งหมด เพราะบางคนผมก็รู้จัก เช่น นายฮัสซัน ตอยิบ เป็นแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นที่เคยไปศึกษาหลักสูตรอาร์เคเค ที่ประเทศอินโดนีเซีย รุ่นที่ 2 ซึ่งนายฮัสซัน เปรียบได้เท่ากับ รมว.ต่างประเทศของไทย ไม่ใช่ผู้คุมกำลังเหมือนอย่าง รมว.กลาโหม หรือ ผบ.ทบ.ซึ่งคนที่คุมกำลังจริงๆ ยังไม่เปิดเผยตัวออกมา ซึ่งการที่เขาออกมาพูดคุยกับรัฐบาลถือว่าเขาเสียเปรียบ เพราะจุดอ่อนขององค์การลับ คือ การถูกเปิดเผยตัว และจะทำให้เขาเคลื่อนไหวลำบากมากขึ้น ตลอดจนการขาดความไว้วางใจภายในกลุ่ม ทั้งนี้ยังมีแกนนำคนสำคัญอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ออกมาพูดคุยสันติภาพร่วมกับรัฐบาล คงต้องอาศัยการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับคนเหล่านี้ ส่วนปัจจัยหลักที่กดดันให้กลุ่มบีอาร์เอ็นออกมาพูดกับไทย คือ มาเลเซีย โดยคนพวกนี้จะอาศัยอยู่พื้นที่ประเทศมาเลเซียที่ติดกับชายแดนไทย เช่น รัฐกลันตัน ตรังกานู ปะลิศ ซึ่งพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ฐานเสียงของพรรคฝ่ายค้านประเทศมาเลเซีย” พล.อ.สำเร็จ กล่าว
พล.อ.สำเร็จ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอแนะการพบปะบีอาร์เอ็น ก่อนเจรจาต่อรอง มี 6 ข้อ คือ 1.ต้องดำเนินการพบปะกับกลุ่มบีอาร์เอ็นต่อไป อย่ายกเลิก 2.ให้มีการประสานงานระหว่างไทยและมาเลเซียในระดับรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา และเพิ่มความสัมพันธ์ในระดับผู้ปฏิบัติ โดยเฉพาะสันติบาลมาเลเซีย 3.การพบปะแต่ละครั้งต้องพัฒนาความสัมพันธ์กับตัวแทนบีอาร์เอ็น ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแบบไม่เป็นทางการ 4.ต้องตรวจสอบตัวแทนบีอาร์เอ็นว่าแต่ละคนมีบทบาทอย่างไร และเป็นตัวแทนที่ถูกต้องหรือไม่ 5.สร้างกระแสให้คนในพื้นที่เห็นด้วยกับการพบปะพูดคุย 6.งานทางยุทธวิธีต้องเข็มแข็งเป็นพิเศษ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การออกมาเปิดห้องประชุมพื่อบรรยายพิเศษเกี่ยวกับปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แก่ผู้สื่อข่าวสายทหารในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ตั้งข้อสังเกตถึงการเจรจาระหว่าง สมช.กับแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 13 มิ.ย.นี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า แกนนำบีอาร์เอ็นเป็นตัวปลอมหรือไม่ เพราะไม่สามารถควบคุมกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ได้ แต่ขณะเดียวกันฝ่ายรัฐบาลไทยก็ส่งเลขาธิการ สมช.ตัวปลอมไปคุยหรือไม่ เพราะตัวจริงคือนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการ สมช.หรือทั้งสองฝ่ายต่างก็เป็นตัวปลอม ซึ่งจะกลายเป็นเรื่องโจ๊กระดับโลก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ฉะนั้น จึงอยากให้รัฐบาลระงับการเจรจากับบีอาร์เอ็นไว้ก่อน จนกว่าจะมีความชัดเจนในตำแหน่งเลขาธิการ สมช.