รายงานการเมือง
มีเสียงเฮดังๆจากบรรดาลิ่วล้อสมุนแม้ว ภายหลัง “นาจิบ ราซัค” นำพรรคอัมโน มีชัยเหนือพรรคฝ่ายค้านภายใต้การนำของ “อันวาร์ อิบราฮิม” ไปได้ แม้จะไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ 133 ที่นั่ง จากทั้งหมด 222 ที่นั่ง ก็เพียงพอที่จะทำให้ “พรรคอัมโน” สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อีก 1 สมัย
และตัว “นาจิบ ราซัค” ก็หวนกลับมาครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมาเลเซียอีกครั้ง โดยตบหน้านักวิเคราะห์ที่ทำนายกันว่างานนี้ พรรคอัมโนมีสิทธิแพ้ “อันวาร์” สูงมาก ก่อนพลิกสถานการณ์กลับมาครองชัยชนะต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 13 ของพรรค แต่ก็ต้องพ่วงมาด้วยข้อครหา “โกง” การเลือกตั้ง
ที่ว่า “รัฐบาลไทย” มีเสียงเฮ เพราะหมายถึงการพูดคุยสันติภาพระหว่าง “ทางการไทย” กับ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” สามารถเดินต่อไปได้ง่ายขึ้น โดยยังมี “มาเลเซีย” เป็นผู้อำนวยความสะดวกเหมือนเดิม
ซึ่งช่วงแรกก็เกรงกันว่าหาก “นาจิบ” แพ้ จะส่งผลให้การพูดคุยสันติภาพต้อง “ล่ม” ไปโดยปริยาย เนื่องจากนโยบายต่างๆต้องเปลี่ยนใหม่ แนวทางที่เคยตกลงกันไว้อาจจะเปลี่ยนไป
และต้องยอมรับว่าเหตุผลข้อหนึ่งที่ทำให้มีการพูดคุยสันติภาพคือ ความสัมพันธ์ระหว่าง “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี กับ “นาจิบ” อยู่ในขั้นดีสุดขั้ว เพราะมีหลายแง่มุมที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกันอยู่
จึงการันตีได้ว่าการพูดคุยสันติภาพจะเดินต่อไปได้ แต่จะเดินต่อไปได้สักกี่ครั้งต้องติดตามดูกันยาวๆ
เพราะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า ผลประโยชน์หนึ่งที่ “นาจิบ” ได้รับจากการพูดคุยสันติภาพคือ “คะแนนเสียง” ของประชาชนมาเลเซีย โดยเฉพาะรัฐทางตอนเหนือที่มีแนวชายแดนติดกับประเทศไทย อาทิ กลันตัน และปะลิส เป็นต้น
ว่ากันว่าที่ “มาเลเซีย” ไม่ยอมให้ “สภาความมั่นคงแห่งชาติ” (สมช.) ของตัวเองมาลงนามกับ “สมช.ไทย” เพราะไม่ต้องการลงมาเล่นเกมนี้ด้วยตัวเอง เนื่องจากอาจจะเสียงคะแนนเสียงจากรัฐทางตอนเหนือ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน “กลุ่มก่อความไม่สงบ” อยู่
เกมที่ “นาจิบ” เลือกเดินจึงมีแต่ได้กับได้ ดังนั้นเมื่อหมดเหตุผลทางการเมืองแล้ว ก็ต้องวัดใจ “ผู้นำมาเลเซีย” ว่าจะเดินเกมอย่างไรต่อ
ย้อนกลับมาดูบรรยากาศการ “พูดคุยสันติภาพ” ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 29 เมษายน เต็มไปด้วยบรรยากาศอึมครึมตลอด 10 กว่าชั่วโมงที่นั่งคุยกัน เนื่องจากกลุ่มบีอาร์เอ็นที่นำโดย “ฮัสซัน ตอยิบ - อับดุลราริม คาลิบ” ยืนยันให้ “ทางการไทย” ดำเนินการตามข้อเสนอ 5 ข้อ ที่ทั้ง 2 คน ได้แถลงผ่านเว็บไซค์ยูทูป ซึ่งเป็นที่รับรู้กันทั่วโลกไปแล้ว โดยที่ไม่ยอมพูดถึงเงื่อนไขอื่นใดเลย
ซึ่ง 5 ข้อเสนอของ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” ถูกนำมาเผยแพร่ก่อนที่จะถึงวันพูดคุยสันติภาพแค่ 1 วัน หนึ่งในคณะตัวแทนไทย ยอมรับว่าไม่มีเวลาได้เตรียมตัว และไม่สามารถเตรียมข้อโต้แย้งข้อเสนอทั้ง 5 ข้อ ได้ทันเวลา
จนทำให้การพูดคุยสันติภาพเมื่อวันที่ 29 เมษายน “คณะตัวแทนไทย” เป็น “ฝ่ายตั้งรับ” อยู่ข้างเดียว ไม่สามารถยื่นข้อเสนอในเชิงรุกให้ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” ได้มาต่อรองได้
นอกจากนี้ยังมีหลายครั้งที่ “คณะตัวแทนไทย” ออกอาการหงุดหงิด เพราะ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” ออกอาการแข็งกร้าวและมีทางทีข่มขู่ตลอด ไม่มีอาการเป็น “มิตร” หลงเหลืออยู่
จึงทำให้ “พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร” เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หัวหน้าคณะตัวแทนไทย ต้องเบรคอารมณ์ของทั้ง 2 ฝ่าย ด้วยขอนำข้อเสนอทั้ง 5 ข้อ มาหารือกับ “รัฐบาล” ก่อน จึงเป็นที่พอใจของ “กลุ่มบีอาร์เอ็น”
ล่าสุด “หน่วยงานความมั่นคง” ได้ประเมินกันแล้วว่า 5 ข้อเสนอของ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” อาจจะดำเนินการตามคำขอได้ “บางข้อ” โดยได้สั่งให้ “พล.ท.ภราดร” ไปศึกษารายละเอียดผลดี-ผลเสีย ในแต่ละข้ออย่างละเอียดถี่ยิบ พร้อมเน้นย้ำไม่ให้ตกเป็นรอง
แต่ทั้งหมดขอ “ปิดลับ” ไว้ก่อน และนำมาเสนอต่อ “รัฐบาล” ก่อนที่จะมีการพูดคุยสันติภาพอีกครั้งในวันที่ 13 มิถุนายนนี้
ซึ่งการดำเนินการได้แค่ “บางข้อ” ไม่ตอบสนองความต้องการของ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” แน่นอน เพราะเป้าประสงค์คือต้องการให้ทำทั้ง 5 ข้อเสนอ
ดังนั้น “ฝ่ายไทย” จึงต้องคิดเกมสวนกลับ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” บ้าง
วันที่ 13 มิถุนายนนี้ “ฝ่ายไทย” จะยื่นข้อเสนอไปบนโต๊ะพูดคุยสันติภาพบ้าง และต้องเป็นข้อเสนอแรงๆที่บีบ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” กลับไป
เรียกว่า หนามยอกเอาหนามบ่ง
เรื่องนี้ “แหล่งข่าวจากฝ่ายความมั่นคง” บอกว่าเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ “ทางการไทย” ไม่อยู่ในสถานการณ์ที่เสียเปรียบ และไม่ให้ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” เปิดฉาก “รุกไล่” จนเกือบจะจน “กระดาน” เหมือนการพูดคุยสันติภาพครั้งที่ผ่านมา
โดยเบื้องต้นหาก “กลุ่มบีอาร์เอ็น” ยังยืนยัน 5 ข้อเสนอ และยังมีท่าทีแข็งกร้าว “ทางการไทย” เตรียมทางหนีทีไล่ไว้แล้ว ซึ่งพร้อมจะนำ 2 ข้อเสนอ วางบนโต๊ะพูดคุยสันติภาพทันทีเหมือนกัน
โดย 2 ข้อเสนอ คือ
1.ขอให้ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” ซึ่งมีการปกครองอยู่ในรูปแบบ “สภา” เปิดเผยโครงสร้างทั้งหมด และนำโครงสร้างทั้งหมดให้กับ “ทางการไทย” พร้อมด้วย “รายชื่อ” ของ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” ตั้งแต่ระดับ “บังคับบัญชา” ไล่จนถึงระดับ “ผู้ใต้บังคับบัญชา” ทุกคน
2. “กลุ่มบีอาร์เอ็น” มี “ธรรมนูญ” ในการปกครองตัวเอง ห้ามไม่ให้ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” ใช้ “ธรรมนูญ” ในการปกครอง “กลุ่มบีอาร์เอ็น” เอง จะดำเนินการได้หรือไม่
ทั้ง 2 ข้อเสนอ ถือว่ารุนแรงมาก โดยเฉพาะข้อเสนอที่ 1 ซึ่ง “ทางการไทย” ประเมินแล้วเห็นว่า “ยาก” ที่ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” จะดำเนินการตามได้ เพราะการเปิดเผย “รายชื่อ” หมายถึงความเป็นความตายเลยทีเดียว
ดังนั้นการต่อสู้กันบนโต๊ะพูดคุยสันติภาพในวันที่ 13 มิถุนายน จึงเต็มไปด้วย “กลเกม” ที่ต่างฝ่ายก็ซ่อนเขี้ยวเล็บกันเอาไว้ จึงน่าติดตามว่าระหว่าง “ทางการไทย” กับ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” ใครจะเสียเปรียบ ใครจะพลาดพลั่ง