ม็อบ กวป.สงสัยจะใจร้อน จี้ศาล รธน. บอกมาเลยว่าจะวินิจฉัยคำร้องชำเรา ม.68 เมื่อไหร่ ด้านบรรยากาศบางตากว่าทุกวัน ตำรวจชิลล์ลดกำลังเหลือนอกเครื่องแบบ ขู่ระดมแดงเย้วทั้งแผ่นดิน ด้าน “ราเมศ” ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา “อภิสิทธิ์” ปม กห.ปลดทหาร พร้อมเตรียมขอศาลนั่งบัลลังก์ไต่สวน เหตุยังมีเอกสารและพยานบุคคลที่ต้องการนำเสนอ ยืนยันคำสั่งมิชอบ
วันนี้ (30 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวจากหน้าศาลรัฐธรรมนูญ อาคารศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร ถนนแจ้งวัฒนะ ว่า กลุ่มคนเสื้อแดงในนามกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังคงชุมนุมเพื่อติดตามการพิจารณาคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 237 ที่หน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยบรรยากาศการชุมนุมตลอดทั้งวันยังเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ก็มีผู้เข้าร่วมชุมนุมบางตากว่าทุกวัน จนทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจากนครบาลต้องถอนกำลังกองร้อยปราบจราจลจำนวน 1 กองร้อยออกไป เหลือเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบคอยเฝ้าระวังและดูแลความปลอดภัย
ต่อมานายสมศักดิ์ ล้อเพชรรุ่งเรือง รองประธาน กวป.และ นายมาลัยรักษ์ ทองชัย หรือ ศรรักษ์ มาลัยทอง โฆษก กวป. แถลงข่าวเรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแถลงการณ์บอกกล่าวกับประชาชนให้ชัดเจนว่า จะดำเนินการวินิจฉัยคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ในวันเวลาใด เพราะประเทศไทยต้องมีทางออกและเดินหน้าต่อไป ถ้าหากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังคลุมเครือไม่มีความชัดเจน ประชาชนและ กวป. จะยกระดับทั่วทั้งประเทศออกมาขับไล่ทันที อย่างไรก็ตาม กวป.จะปักหลักชุมนุมหน้าศาลรัฐธรรมนูญไปจนกว่า จะได้คำตอบที่ชัดเจนจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
อีกด้านหนึ่ง นายราเมศ รัตนเชวง ในฐานะทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้ายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยและคณะรวม 134 คนขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพการเป็นส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ว่าสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106(5) ประกอบมาตรา 102(6) หรือไม่
โดยนายราเมศ กล่าวว่า คำชี้แจงและเอกสารที่ยื่นประกอบมีทั้งหมด 83 หน้า เพื่อชี้แจงประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ยืนยันว่าสมาชิกภาพของนายอภิสิทธิ์ไม่ได้สิ้นสุดตามที่มีการกล่าวหา เพราะคำสั่งกระทรวงกลาโหมเลขที่ 1163/2555 ที่ให้ปลดร.ต. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะออกจากการเป็นนายทหารกองหนุน เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์ได้ใช้สิทธิตามกระบวนยุติธรรมหลายช่องทาง ทั้งการร้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงกลาโหมดังกล่าว และร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ว่าการกระทำของ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นายราเมศ ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของประเด็นข้อกฎหมายนั้น ก็ได้ยืนยันต่อศาลว่าเมื่อคำสั่งกระทรวงกลาโหมไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จะให้มาเข้าลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งส.ส.ตามมาตรา 106(5) ประกอบมาตรา 102(6) ไม่ได้ ซึ่งหลังได้ยื่นคำชี้แจงทั้งหมดแล้วก็จะรอดูว่าศาลฯ จะมีคำสั่งอย่างไรออกมา หากศาลฯ เห็นว่าคำชี้แจงมีข้อมูลครบถ้วนเพียงพอให้วินิจฉัยแล้ว ทางทีมกฎหมายก็อาจจะยื่นขอให้ศาลออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนเนื่องจาก ยังมีพยานเอกสารและพยานบุคคลที่นายอภิสิทธิ์ต้องการนำเสนอต่อศาลในชั้นไต่สวน รวมถึงมีเอกสารบางชิ้นที่ต้องการขออำนาจศาลฯในการเรียกจากกระทรวงกลาโหม อย่างไรก็ตามไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในคดีออกมาอย่างไรนายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมจะน้อมรับทุกประการเพราะเราเชื่อมั่นในศาลรัฐธรรมนูญ