โฆษกเพื่อไทยเผยที่ประชุมพรรคเลือก 50 ส.ส.แจง พ.ร.บ.งบปี 57 คุมไม่ประท้วงบ่อย ยืนยันมติเดิมดันร่างนิรโทษกรรม “วรชัย” แต่กั๊กร่าง “เฉลิม” เอกสิทธิ์ ส.ส. ปัดสับขาหลอก จวก “วิรัตน์” ตีสองหน้า เป็น กมธ.แก้ รธน.แต่ไปยื่นศาลวินิจฉัยคำร้อง ซัดไม่เคารพประชาธิปไตยเสียงข้างมาก จวกขายวิญญาณ ชักศึกเข้าบ้าน ไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรี รักษากากเดนเผด็จการ
วันนี้ (28 พ.ค.) ที่พรรคเพื่อไทย เมื่อเวลา 15.30 น. นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงหลังการประชุม ส.ส.พรรคว่า ที่ประชุมได้คัดเลือก ส.ส.ผู้อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 เหลือ 50 คน โดยกำชับเวลาการอภิปรายให้อยู่ในกรอบเวลา 15 ชั่วโมงเพื่อให้เสร็จสิ้นในวันที่ 31 พ.ค.ก่อนเวลา 12.00 น.เนื่องจากประเด็นที่อภิปรายค่อนข้างซ้ำกัน ทั้งนี้เน้นให้ ส.ส.อภิปรายในกรอบร่างงบประมาณรายจ่าย และไม่ทำการใช้สิทธิประท้วงพร่ำเพรื่อ เพื่อให้ ส.ส.ฝ่ายค้านได้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังถกเถียงถึงการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี โดยที่ประชุมพรรคยังยืนยันในมติเดิมในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย ส่วนร่าง พ.ร.บ.ของร.ต.อ.เฉลิม ถือเป็นเอกสิทธิ์ในการเสนอ ซึ่งพรรคไม่มีมติในการนำร่างอื่นมารวมกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยยืนยันว่าไม่มีการตีสองหน้า หรือสับขาหลอกอย่างที่มีกระแสข่าว เพราะถือว่าเป็นการช่วยเหลือ เยียวยาประชาชนทุกกลุ่มสี ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่มี ส.ส.ในที่ประชุมเสนอให้เลื่อนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองของ ร.ต.อ.เฉลิม ให้ขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วนแต่อย่างใด
นายพร้อมพงศ์ ยังกล่าวตอบโต้กรณีนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา ในฐานะคณะทำงานด้านกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการกระทำของ 312 ส.ส.และ ส.ว.ที่ร่วมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และ 237 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ หรือไม่ว่า เป็นการตีสองหน้าของนายวิรัตน์ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะหัวหน้าพรรค ปชป.เพราะเป็นการฟ้องซ้ำซ้อนกับกลุ่ม 40 ส.ว.และประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาลที่เคยยื่นร้องก่อนหน้านี้ แต่ขณะเดียวกัน ส.ส.ปชป.รวมถึงตัวนายวิรัตน์ เองกลับยังทำหน้าที่เป็นคณะกรรมาธิการแก้ไขร่างรัฐธรรมนุญมาตรา 68 เเละ 237 รวมถึงคณะกรรมาธิการแก้ไขมาตรา 190 เเละที่มาของ ส.ว. ดังนั้น ถือว่า ปชป.เล่นเกมตีสองหน้าทางการเมือง แพ้โหวตในสภาและกรรมาธิการ แต่กลับไปยื่นคำร้องศาล ถือว่าไม่เคารพหลักการประชาธิปไตยเสียงข้างมาก
“รัฐธรรมนูญมาตรา 291 ให้สิทธิแก่สมาชิกรัฐสภาให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ การยื่นคำร้องศาลของ ปชป.จึงเป็นการขายวิญญาณของสมาชิกรัฐสภา ชักศึกเข้าบ้าน ไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรี เกียรติภูมิ ของสถาบันนิติบัญญัติและรักษากากเดนของฝ่ายเผด็จการ วันนี้ ปชป.กลับหวังผลเพียงการเมืองเท่านั้นแทนที่จะยืนข้างสภาที่มาประชาชนและรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย” นายพร้อมพงศ์ กล่าว