xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ยื่นศาลฯ ฟัน 312 ส.ส.-ส.ว.แก้ ม.68 ล้มการปกครอง ลิ่วล้อรัฐบาลยื่นสวนให้ยกคำร้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิรัตน์ กัลยาศิริ
“วิรัตน์ กัลยาศิริ” คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย ปชป.ยื่นศาล รธน.วินิจฉัย 312 ส.ส.-ส.ว. แก้ ม.68 เป็นการล้มล้างการปกครองฯ ขัดเจตนารมณ์ รธน. พร้อมมีคำสั่งยุบ 6 พรรคการเมืองที่ ส.ส.สังกัด พร้อมเล็งยื่นตีความ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ร่าง กม.ปรองดองเป็นเรื่องต่อไป ขณะที่ “บรรจบ” ลิ่วล้อรัฐบาลยื่นสวน จี้ศาล รธน.ยกคำร้องแก้ ม.68 อ้างไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง



วันนี้ (28 พ.ค.) นายวิรัตน์ กัลยาศิริ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ตนพร้อมด้วยคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์จะเดินทางไปยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของ 312 ส.ส.และ ส.ว. ที่ร่วมเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....) (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 68 และ 237) นั้นเป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยแล้วว่า ผู้ทราบการกระทำที่ให้ได้มาซึ่งอำนาจนอกวิธีการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นสามารถยื่นร้องผ่านทางอัยการสูงสุด และยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าวนั้นผูกพันทุกองค์กร

ทั้งนี้ ผู้ที่คิดจะล้มล้างรัฐธรรมนูญจึงเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการตัดสิทธิยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงของประชาชน ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีผลเท่ากับล้มล้างการปกครอง เนื่องจากสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญนั้นเป็นสิทธิที่ได้รับความคุ้มครอง โดยรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์การตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐต้องยึดถือปฏิบัติ เพราะสิทธิดังกล่าวสอดคล้องกับคำปรารภของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ระบุว่าขอปวงชนชาวไทยจงมีความสมัครสโมสรเป็นเอกฉันท์ในอันที่จะปฏิบัติตามและพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงถือเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ให้คนไทยทั้ง 67 ล้านคนเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่ 312 ส.ส., ส.ว.กลับกำหนดให้ยื่นผ่านอัยการได้ช่องทางเดียว จึงเป็นการบิดเบือน ตัดตอน และยึดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบ

“สมาชิกรัฐสภาเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อนายใหญ่ หรือทำตามการสไกป์สั่ง แต่การตัดสิทธิในการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้เหลือช่องทางเดียวนั้น เป็นการเปิดช่องให้มีการล้มล้างการปกครอง และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง โดยวิธีการซึ่งไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งการกระทำของ 312 ส.ส.และ ส.ว.ในครั้งนี้จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติและเจตจำนงของรัฐธรรมนูญ ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาล และขัดต่อหลักการแบ่งอำนาจ ผมจึงมีความจำเป็นที่ต้องยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่า ให้ผู้ถูกร้องทั้ง 312 ยกเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และ 237 พร้อมทั้งให้ยุบ 6 พรรคการเมือง ที่ ส.ส., ส.ว. 312 คนสังกัดอยู่”

นายวิรัตน์กล่าวว่า นอกจากนี้ตนเตรียมจัดทำร่างเพื่อเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัย กรณีร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในอนาคต เป็นรายต่อไป จากนั้นจะมีการยื่นให้วินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติที่ขัดต่อระบบนิติรัฐอย่างชัดเจนอีกด้วย

ขณะที่ พ.ต.อ.บรรจบ สุดใจ ตัวแทนชมรมผู้พิทักษ์กฎหมายและความยุติธรรม และเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยสั่งยกคำร้องของนายสมชาย แสวงการ นายวรินทร์ เทียมจรัส นายบวร ยสินทร กับคณะ และพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งระงับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 68

พ.ต.อ.บรรจบอ้างว่า ประธานรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภา 312 คน ซึ่งเป็นผู้ถูกร้องในคดีนี้ ไม่ได้กระทำการที่ส่อไปในทางเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เพราะการเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ของประธานรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภาทั้ง 312 คน กระทำในฐานะผู้แทนปวงชน และเป็นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 (1) อีกทั้งตามคำร้องของบุคคลทั้ง 4 ก็ไม่ได้มีข้อความใดที่ชี้ให้เห็นว่าตามร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 นั้นมีถ้อยคำหรือเนื้อหาที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่อย่างใด

“นายสมชายเองก็เป็นสมาชิกวุฒิสภา มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ย่อมรู้ดีว่าการที่ประธานรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภาทั้ง 312 คน ยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องมีการนำร่างแก้ไขดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งนายสมชายสามารถใช้อำนาจหน้าที่มีในฐานะ ส.ว. พิจารณาแก้ไข โต้แย้งคัดค้านร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้ถูกต้องได้ แต่ในวันที่ 2 เม.ย.ซึ่งมีการประชุมพิจารณาร่างกฎหมายนี้ นายสมชายก็กลับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่อยู่ร่วมประชุมและนำร่างแก้ไขดังกล่าวมายื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่นายสมชายรู้ดีว่าไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดให้สิทธิที่จะนำเรื่องนี้มายื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เลย เพราะร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่สมาชิกรัฐสภาเสนอนั้น ไม่มีข้อความใดที่นำไปสู่การล้มล้างการปกครอง จึงเป็นการนำเรื่องเท็จที่ยังไม่มีความผิดเกขึ้นมาร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญและถือว่านายสมชายกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเสียเอง”


ไม่รับคดี"แม้ว"สไกป์สั่งการ ศาลฯระบุแค่แสดงความเห็น
ศาลรธน.สั่งรวม 4 คำร้องขอให้วินิจฉัยแก้ไขรธน. มาตรา 68 และ 237 เป็นสำนวนเดียว พร้อมเตรียมประชุมกำหนดวิธีพิจารณาสัปดาห์หน้า ขณะเดียวกัน มีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องที่ ส.ว.สรรหา ร่วมนักวิชาการขอให้วินิจฉัย แม้ว สไกป์ สั่งที่ประชุมพท. เดินหน้าแก้รธน.และ กม.อีกหลายฉบับ ชี้ยังเป็นเพียงการแสดงความเห็นทางการเมือง และไม่รับคำร้องที่ กวป. ขอให้วินิจฉัยการรับคำร้องแก้ไขรธน .ม.68 ของ 3 ตุลาการศาลรธน. เหตุยังไม่มีการกระทำฝ่าฝืน และหากรับเข้าข่ายขัดหลักความยุติธรรมที่ห้ามบุคคลเป็นผู้วินิจฉัยตัวเองกมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ 237 มีมติตัดสิทธิประชาชนยื่นฟ้องได้แค่อัยการสูงสุดขั้นตอนแรกเท่านั้น หากไม่เสร็จใน 30 วัน จะจะยื่นตรงต่อศาลรธน.ได้ พร้อมตีกรอบอำนาจส.ว.สรรหา ไม่สามารถแต่งตั้ง-ถอดถอน ช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่ส.ว.เลือกตั้งหมดวาระ
กำลังโหลดความคิดเห็น