“กรณ์” ชวน ส.ส.พรรคเพื่อไทย “ปรองดอง” ร่วมรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของ กม.ในฐานะผู้ร่าง อย่าให้ฝ่ายบริหารใช้อำนาจเผด็จการทำตัวเหนือ กม. แล้วตราหน้าว่าเราเป็นแค่ “ขี้ข้า” ที่มีหน้าที่เพียงคอยยกมือให้เขาในสภา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 27 พ.ค. นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว Korn Chatikavanij หัวข้อ “ขอเชิญชวน ส.ส.พรรคเพื่อไทยมา 'ปรองดอง' กัน” ความว่า..
“วันนี้ที่พรรคประชาธิปัตย์เราได้ร่วมกันลงนามเพื่อยื่นถอดถอนคุณกิตติรัตน์ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง เรายื่นตามมาตรา 270 ในรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องการถอดถอนเนื่องจากการละเว้นต่อการปฏิบัติหน้าที่
ผมอยากเชิญชวน ส.ส.จากทุกพรรค รวมถึงพรรคเพื่อไทยมาร่วมลงนามเพื่อช่วยกันรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายและเพื่อยืนยันว่า ฝ่ายบริหารไม่ได้มีอำนาจเหนือกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ร่าง เพราะเราร่างในนามของประชาชนคนไทยที่เลือกเรามา
เรื่องของเรื่องคือคุณกิตติรัตน์ไม่ยอมทำหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดตั้ง “กองทุนการออมแห่งชาติ” กฎหมายนี้มีผลตั้งแต่พฤษภาคม 2554 แต่จนถึงวันนี้คนยากคนจนกว่า 20 ล้านคนที่ควรจะต้องมีสิทธิ์ออมโดยมีเงินสมทบจากรัฐบาล กลับไม่ได้ใช้สิทธิ์เพียงเพราะรัฐมนตรีกิตติรัตน์จงใจละเมิดที่จะทำหน้าที่ของตน
ส.ส.ทุกคนควรจะต้องเดือดร้อนกับเรื่องนี้ เพราะเมื่อกฎหมายของเราผ่านสภาฯและประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ทุกคนต้องอยู่ใต้กฎหมายนี้หมด ไม่มีสองมาตรฐาน ถ้าใครมองว่ากฎหมายมีข้อบกพร่องก็สามารถเสนอกลับมาให้สภาฯพิจารณาแก้ไขได้
แต่ไม่ใช่มาใช้อำนาจเผด็จการ ทำตัวเหนือกฎหมาย ปฏิเสธสิทธิของประชาชนอย่างนี้
ข้อเท็จจริงคือ ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่เป็น ส.ส.ในสภาฯ ที่แล้ว ได้กรุณาลงคะแนนสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้กันหมดทุกคน ทั้งๆที่เป็นกฎหมายที่รัฐบาลประชาธิปัตย์เสนอ เหตุผลก็เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนได้ประโยชน์จริง
วันนี้จึงเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ทุกคนที่จะต้องปกป้องศักดิ์ศรีของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ให้ฝ่ายบริหารเขามองว่าเราเป็น 'ขี้ข้า' ที่มีหน้าที่เพียงคอยยกมือให้เขาในสภาฯ
ดังนั้น วันนี้ที่ท่านอยากให้พวกผม 'ปรองดอง' กับท่านเพื่อช่วยคุณทักษิณ ผมว่าเรามาปรองดองกันเพื่อช่วยประชาชนกันก่อนดีกว่าครับ
(ขั้นตอนคือ เรายื่นถอดถอนต่อประธานวุฒิสภา ท่านจะส่งต่อให้ ป.ป.ช.พิจารณา ถ้า ป.ป.ช.ชี้มูล ท่าน รมต.ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที จากนั้นมีการลงคะแนนในวุฒิสภา ซึ่งต้องอาศัยเสียงสามในห้าของจำนวนวุฒิสมาชิก อย่างไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าวุฒิสภามีมติอย่างใด อัยการ และ/หรือ ป.ป.ช.มีสิทธิเดินหน้าฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้)