“ยิ่งลักษณ์” ถก นายกฯโสมขาว รับปากประมูลโครงการจัดการน้ำโปร่งใส ลงนามร่วมมือพัฒนาระบบราง หลังสนใจร่วมลงทุน เชิญลงทุนท่าน้ำลึกทวาย เล็งผลักดันการค้า 2 ชาติ ตั้งเป้า 3 หมื่นล.ใน 5 ปี ส่งคำเชิญ ปธน.หญิงเกาหลี เยือนไทย-ส่วน ปธ.เอดีบี เข้าหารือ นายกฯ แนะช่วยไทยด้านวิชาการ จัดการน้ำ-ท่าน้ำลึกทวาย เอดีบี รับพร้อมหนุน ชมกู้พัฒนาชาติสำเร็จ ยันพร้อมช่วยต่อไป
วันนี้ (19 พ.ค.) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับนายซุง ฮอง วอน นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ โดยเกาหลีใต้ ซึ่งมีบริษัทเชี่ยวชาญด้านน้ำ คือ บริษัทเควอร์เตอร์ มีความสนใจลงทุนในโครงการบริหารจัดการน้ำของไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรี รับจะดูแลและให้ความเป็นธรรมในเรื่องการประมูลอย่างโปร่งใส พร้อมกันนี้ เกาหลีใต้ ได้ลงนามความร่วมมือพัฒนาระบบรางกับไทย เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการเกี่ยวกับระบบราง เพราะเกาหลีใต้มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ อีกทั้งยังสนใจที่จะมาร่วมลงทุนโครงการระบบรางของไทยด้วย
ขณะที่นายกรัฐมนตรี ได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนเกาหลีใต้ มาลงทุนในโครงการท่าน้ำลึกทวาย เนื่องจากเห็นว่ามีศักยภาพหลายด้าน ทั้งเรื่องเทคโนโลยี การแปรรูปอาหาร และ อุตสาหกรรมรถยนต์
พร้อมกันนี้ ทั้งสองประเทศจะผลักดันเป้าการค้าระหว่างไทยและเกาหลีใต้ ให้ได้ 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯภายใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันมูลค่าการค้าทั้งสองประเทศอยู่ที่ 1 หมื่น 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจะมีการจัดตั้งกลไกเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เชิญประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้ มาเยือนไทยอย่างเป็นทางการหลังได้รับตำแหน่งด้วย
ขณะที่ นายทากาฮิโตะ นาคาโอะ ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี ได้เข้าพบหารือทวิภาคีกับ นางสาวยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี นับเป็นครั้งแรกที่ได้เจอกัน หลังเข้ารับตำแหน่ง โดยนายกรัฐมนตรี เสนอให้เอดีบี ให้ความช่วยเหลือต่อประเทศไทยด้านวิชาการ ข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ การพัฒนากฎระเบียบระหว่างภาคเอกชนและรัฐ ให้เป็นหุ้นส่วนกันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนในท่าเรือน้ำลึกทวาย ซึ่งประธานเอดีบี เห็นว่าการที่ไทยให้ความสนใจในการพัฒนากฎระเบียบดังกล่าว จะช่วยขับเคลื่อนให้ไทยเปลี่ยนจากประเทศกำลังพัฒนา เป็นประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า
พร้อมกันนี้ ประธานเอดีบี ชื่นชมไทยที่กู้เงินจากธนาคารเอดีบี แล้วสามารถนำมาพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้สำเร็จ และเอดีบีมุ่งมั่นจะให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในการพัฒนาเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้กู้เงินมาแล้ว 92 ครั้ง รวม 6 พันเหรียญสหรัฐฯ